ตำนานการเกิดบั้งไฟพญานาค ตามพุทธประวัติกล่าวว่าเมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ พระองค์ได้เสด็จเผยแพร่ ศาสนา ไปทั่วชมพูทวีป พญานาคีบังเกิดความเลื่อมใสและศรัทธายิ่ง จึงจำแลงกายเป็นบุรุษขอบวชเป็นสาวกค่ำคืนหนึ่งพญานาคี เผลอหลับใหลคืนร่างเดิม พระพุทธเจ้าทรงทราบเรื่องจึงขอให้ลาสิกขา เนื่องจากเป็นเดรัจฉานจะบวชเป็นภิกษุมิได้ พญานาคียอมตามคำขอแต่ขอว่า กุลบุตรทั้งปวงที่จะบวชให้เรียกขานว่า “นาค” เพื่อเป็นศักดิ์ศรีของ พญานาค ก่อนเข้าโบสถ์
จากนั้นเป็นต้นมาจึงเรียกขานกุลบุตรทั้งหลายที่จะบวชว่า “พ่อนาค” ต่อมาเมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังจากเสด็จไปโปรดพุทธมารดาเป็นเวลา ๓ เดือน เมื่อกลับสู่โลกมนุษย์ เหล่าบรรดาพญานาคี นาคเทวี พร้อมทั้งเหล่าบริวารจัดทำเครื่องบูชาและพ่นบั้งไฟถวาย ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “บั้งไฟพญานาค” จึงเป็นปรากฏการณ์น่าพิศวงที่รอการพิสูจน์จากผู้คนทั่วโลก ในปีนี้วันออกพรรษาตรงกับวันพฤหัสบดี, 21 ตุลาคม 2564
บั้งไฟพญานาค วันออกพรรษา จังหวัดหนองคาย บั้งไฟพญานาคหรือในอดีตชาวหนองคายเรียกกันว่าบั้งไฟผี ปรากฏมาเป็นเวลาช้านาน เกิดขึ้นในแม่น้ำโขงพื้นที่จังหวัดหนองคายและจังหวัดบึงกาฬเท่านั้น มีลักษณะเป็นดวงไฟสีแดงอมชมพูขนาดลูกหมากโผล่พุ่งขึ้นจากแม่น้ำโขง สว่างเรืองแสงสดใสปราศจากควัน เสียงกลิ่น ไม่มีสะเก็ด ไม่โค้งตกลงมาหรือแตกออก แต่แสงจะวูบวับหายไปในท้องฟ้า เมื่อขึ้นไปได้สัก ๕๐– ๑๕๐ เมตร ต่อมาชาวหนองคายได้พร้อมใจขนานนามบั้งไฟผีเสียใหม่ให้เป็นมงคลว่า “บั้งไฟพญานาค” ด้วยเชื่อว่าพญานาคที่อาศัยใต้วังบาดาล ในลำน้ำโขงปล่อยลูกไฟใน วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปี เพื่อเป็นพุทธบูชาแก่พระพุทธองค์ เมื่อเสด็จกลับจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ลอยเรือไฟ ประเพณีดั้งเดิมของชาวหนองคายหรือชนชาวอีสานในแถบลุ่มน้ำโขง มีธรรมเนียมปฏิบัตินับมาเป็นเวลาช้านานในวันปวารณาออกพรรษาคือ ขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ ของทุกปี จะทำเฮือไฟ(เรือไฟ) ไหลล่องไปตามลำน้ำ ซึ่งเป็นวัสดุที่ทำจากต้นกล้วย ท่อนไม้หรือไม้ขุดเป็นรูปลำเรือ บรรจุเครื่องบูชา ธูปเทียนดอกไม้ มีหมากพลูลงไปด้วย ถือว่าทำบุญกุศลบูชาพญานาคและบูชาพระพุทธองค์ที่เสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์หลังจากเทศนาโปรดพุทธมารดา ซึ่งแตกต่างจากภาคอื่นๆ ที่จัดให้มีการลอยกระทงหรือลอยประทีปในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ที่มีจุดมุ่งหมายเคารพสักการะต่อพระแม่คงคงที่มีคุณต่อมวลมนุษย์ทั้งหลาย
แข่งขันเรือยาว ชุมชนลุ่มแม่น้ำโขงโดยเฉพาะจังหวัดหนองคาย จากเรือยาวสมัยโบราณขนาดบรรจุฝีพายแตกต่างกันเพื่อการรบพุ่งหรือฝึกซ้อมเพื่อเพิ่มพละกำลังความชำนาญก็มาสู่การแข่งขันเพื่อเพิ่มความสนุกสนานรื่นเริง
ปราสาทผึ้ง การแห่ปราสาทผึ้งเป็นประเพณีไทยโบราณของชาวจังหวัดหนองคาย ปฏิบัติกันมาเป็นเวลาช้านานมุ่งทำเป็นพุทธบูชา เพื่อการรับเสด็จมาขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในวันรุ่งขึ้น ปราสาทผึ้งหรือชาวอีสาน เรียกว่า “ผาสาทเผิ่ง” ชาวหนองคายจะเอาวันขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๑๑ เป็น “วันโฮม” หรือวันรวมปราสาทผึ้งจากคุ้มต่างๆ มาตั้งประดิษฐาน ณ วัดพระธาตุหล้าหนอง ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระบรมมหาสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า
บั้งไฟพญานาค สิ่งมหัศจรรย์ แห่งลุ่มน้ำโขง สิ่งมหัศจรรย์เหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นลูกไฟที่พุ่งขึ้นจากกลางแม่น้ำโขงที่เรียกว่า “บั้งไฟพญานาค” หรือรอยประหลาดที่เกิดขึ้นบนหน้ารถของชาวบ้านที่จอดไว้หน้าวัดไทย อำเภอโพนพิสัย สิ่งต่างๆ เหล่านี้ยังเป็นเรื่องที่จะต้องหาทางพิสูจน์ต่อไป ไม่ว่าใครจะคิดอย่างไร แต่ทุกอย่างก็เกิดขึ้นเป็นประจำในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ คือ วันออกพรรษา หากใครไม่เชื่อก็ไปพิสูจน์ด้วยตนเองได้ไม่ว่าจะเป็นที่บริเวณอำเภอโพนพิสัย อำเภอรัตนวาปี และบริเวณแก่งอาฮง ตำบลหอคำ จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย
เชื่อในสิ่งที่เฮ็ด เฮ็ดในสิ่งที่เชื่อ พญานาคเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจเมื่อเทียบกับปรากฏการณ์แปลกๆ ที่เกิดขึ้นไปทั่วโลกในปัจจุบัน ที่ยังไม่มีนักวิทยาศาสตร์ใดบนโลกสามารถอธิบายได้ถึงพลังงานเร้นลับซึ่งก็เป็นความเชื่อส่วนบุคคลแล้วแต่วิจารณญาณ
ขอบคุณ ประวัติความเป็นมาและรูปภาพจาก : เทศบาลตำบลโพนพิสัย อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย