ตำนานรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ จันทบุรี

13 พฤศจิกายน 2564

เขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี เป็นอีกหนึ่งสถานที่ของนักแสวงบุญที่ตั้งใจและมีจิตศรัทธาอย่างแรงกล้าที่จะไปกราบสักการะ "รอยพระพุทธบาท" เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อตนเอง เพราะต้องเดินเท้าขึ้นสู่ยอดเขาถึง 3 กม.

ตำนานรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ พระครูธรรมสรคุณ เจ้าอาวาสวัดกระทิง และเป็นเจ้าคณะอำเภอมะขาม ผู้สืบค้นประวัติเขาคิชฌกูฏ กล่าวไว้โดยย่อว่า เมื่อ พ.ศ. 2397 นายติ่งและคณะได้พากันขึ้นไปบนเขาหาไม้กฤษณา ไม้กะลำพัก 5 มาขาย ต้องขึ้นไปพักอยู่บนเขาเป็นเวลาหลายวัน และได้ไปพักเหนื่อยบนลานหินกว้างใหญ่ เพื่อนของนายติ่งคนหนึ่งได้ถอนหญ้าเพื่อนอนพักก็พบแหวนใหญ่ขนาดสวมหัวแม่เท้าได้ และเมื่อช่วยกันตรวจดูก็พบหินแผ่นหนึ่ง มีพื้นที่เป็นรอยรูปก้นหอยต่อมานายติ่งและเพื่อนได้นำบุตรชายไปอุปสมบทที่วัดพลับ อำเภอเมืองจันทบุรี จังหวัดจันทบุรี 

รุ่งขึ้นก็มีงานเทศกาลปิดรอยพระพุทธจำลอง นายติ่งจึงซื้อทองไปปิดรอยพระพุทธบาทนั้น เมื่อปิดแล้วจึงพูดขึ้นว่ารอยพระพุทธบาทเช่นนี้ทางบ้านผมก็มีเหมือนกัน พอดีมีพระได้ยินเข้าจึงไปเรียนให้เจ้าอาวาสวัดพลับ (หลวงพ่อเพชร) ทราบ ขณะนั้นหลวงพ่อดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดจันทบุรี จึงเรียกนายติ่งมาสอบถาม แล้วพาคณะขึ้นไปพิสูจน์ดู ก็เป็นความจริง และตรวจดูตามบริเวณนั้นทั่วๆ ไปก็พบสิ่งแปลกประหลาดและสิ่งมหัศจรรย์หลายอย่าง 

รอยพระพุทธบาทนั้นท่านทรงเหยียบจารึกไว้ที่ศิลาแผ่นใหญ่ บรรจุคนนั่งได้เป็นร้อยกว่าคนบนยอดเขาสูงสุดกว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของรอยพระพุทธบาทมีหินกลมก้อนหนึ่งใหญ่มาก เรียกกันว่า หินลูกพระบาท ตั้งขึ้นมาน่าแปลกมหัศจรรย์เป็นอย่างมากไม่น่าจะตั้งอยู่ได้ มองดูคล้ายลอยอยู่เฉยๆ มีคนกล่าวว่าเขาเคยเอาด้ายสายสิญจน์คล้องแล้วหลุดมาได้ และยังมีหินอีกลูกหนึ่งใหญ่มากเหมือนกัน อยู่ตรงข้ามกับหินลูกพระบาทนี้ ก็มีรอยพระหัตถ์ไปรับหินก้อนนี้จากรอยพระพุทธบาทกับรอยพระหัตถ์นั้น ห่างกันประมาณ 5 เมตร และยิ่งแปลกไปกว่านั้น ในก้อนหินนั้นตรงกันข้ามกับรอยพระหัตถ์ 

เขาคิชฌกูฏ

ยังมีรูปรอยเท้าใหญ่อันนี้เขาเรียกว่ารอยเท้าพญามาร เพียงแหงนหน้าขึ้นไปมองจะเห็นได้ทันที สูงประมาณ 15 เมตร ต่อจากนั้นไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือห่างจากหินลูกนี้ไปเพียง 15 วา มีหินลูกข้างบนเป็นลานและมองเห็นรอยรถหรือรอยเกวียน เมื่อยืนบนหินลูกนั้นมองลงไปทางทิศเหนือจะเห็นถ้ำเต่า บนหลังถ้ำจะมองเห็นเป็นรูปเต่า ลักษณะคล้ายๆ เต่าปลวก ต่อจากนั้นหากหันไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของรอยพระพุทธบาทจะมองเห็นถ้ำช้าง และถ้ามองจากรอยพระพุทธบาทขึ้นไปจะเห็นหินก้อนหนึ่งมีรูปลักษณะคล้ายช้างจริง เลยจากช้างสูงสุดนั้นเรียกกันว่าห้างฝรั่งเพราะฝรั่งไปตั้งห้างส่องกล้องเพื่อทำแผนที่ มองไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ยังมีถ้ำอีกถ้ำหนึ่งเรียกกันว่า ถ้ำสำเภา เพราะมีหินก้อนหนึ่งข่างบนถ้ำมีลักษณะคล้ายๆ เรือสำเภาจึงเรียกว่า ถ้ำสำเภา ยังมีอีกถ้ำหนึ่งใต้พระบาทนี้เรียกว่า ถ้ำตาฤๅษี

เขาคิชฌกูฏ อุทยานเขาคิชฌกูฏจันทบุรี

พระบาทแห่งนี้ทำไมจึงเรียกว่า "เขาคิชฌกูฏ" ที่เรียกเช่นนี้ก็เพราะมีชื่อเขาในกรุงราชคฤห์ในประเทศอินเดียลูกหนึ่ง ชื่อว่าเขาคิชฌกูฏ ฟังแล้วสะเทือนใจคล้ายๆ กับว่าได้ไปยังนครราชคฤห์อันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนาของพระพุทธองค์ครั้งปฐมโพธิกาลโน้นและการไปมาก็ไม่สู้ไกลนัก นึกไปว่าปีหนึ่งเรายังได้มีโอกาสไปนมัสการรอยพระพุทธบาทครั้งหนึ่ง

รอยพระพุทธบาท เขาคิชฌกูฏ จันทบุรี

บาทหรือเท้านับว่าเป็นอวัยวะที่ต่ำที่สุดของมนุษย์เรา แต่เท้านั้นเป็นอวัยวะที่สำคัญที่สุด ถ้าขาดเท้าเสียก็ไม่สามารถที่จะไปประกอบคุณงามความดีได้ โดยเฉพาะเป็นเท้าของพระพุทธองค์ด้วยแล้วเป็นเท้าพิเศษและบริสุทธิ์ ผู้คนเลื่อมใสและเคารพกราบไหว้ส่วนเท้าของพระพุทธองค์ แม้จะประดิษฐานอยู่แห่งหนตำบลใดก็ตาม ถ้ามีความเชื่อมั่น มีความเคารพกราบไหว้ด้วยใจอธิษฐานแล้ว ย่อมเกิดผลสำเร็จแก่ผู้นั้นทุกคน และจะเป็นสิริมงคลแก่ผู้นั้นตลอดไปด้วยใจอันแน่วแน่ของกระแสจิตผู้นั้น

ในตำนานศาสนาพุทธกล่าวไว้ว่า เขาคิชฌกูฏอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงราชคฤห์ซึ่งเป็นเมืองหลวงสมัยก่อนนั้น (อินเดีย) แปลว่าภูเขาแร้งกระพือปีก มีคันธกุฎีอยู่บนยอดเขา และเคยเป็นสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้าในอดีต เป็นความดำริของพระครูธรรมสรคุณซึ่งเป็นกรรมการและเป็นหลักในการพัฒนาพระบาทพลวงตั้งแต่ พ.ศ. 2515 ได้เสนอใช้ชื่อพระบาทเขาคิชฌกูฏ (พลวง) เหตุผลเพราะเมืองไทยเป็นเมืองพุทธศาสนาเจริญกว่าเมืองไหนๆ แม้กระทั่งประเทศอินเดีย จึงน่าจะใช้ชื่อนี้เป็นที่ระลึกถึงพระบรมศาสดา

ประเพณีนมัสการพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏจันทบุรี เป็นเทศกาลเดือน 3 ที่ปฏิบัติกันมาช้านาน แต่เดิมเริ่มขึ้นไปนมัสการในวันขึ้น 1 ค่ำ ถึง ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี แต่มาระยะหลังนี้เริ่มเป็นที่รู้จักของผู้คนที่มีความเลื่อมใสศรัทธาทั้งชาวไทยและต่างประเทศ จึงได้เปิดเวลาให้นมัสการมากขึ้น กล่าวคือ

1.ในปี พ.ศ. 2536 เปิด 30 วัน

2.ในปี พ.ศ. 2537 เปิด 45 วัน

3.ในปี พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา เปิดให้นมัสการ 60 วัน และยังคงเริ่มเปิดให้นมัสการเดือน 3 เหมือนเดิม 

เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ โควิด-19 ในปัจจุบัน และเพื่อเป็นการเฝ้าระวัง ยังไม่มีวันกำหนดให้ขึ้นเขาคิชฌกูฏในปี 2565 ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง

ขอบคุณ : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดจันทบุรี