4 หลักสำคัญ เบื้องต้น ช่วยชีวิตคนจมน้ำ

27 กุมภาพันธ์ 2565

วิธีช่วยเหลือคนตกน้ำ เรียนรู้ จากกรณี นางเอกดัง แตงโมนิดา พลัดตกจากเรือกลางแม่น้ำเจ้าพระยา หากคนทั่วไปต้องเจอกับสถานการณ์ดังกล่าวจะสามารถช่วยเหลือ คนตกน้ำ ได้อย่างไรบ้าง

นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก พบว่าทั่วโลกมีคนจมน้ำเสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 360,000 คน เป็นกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ถึง 145,739 คน การจมน้ำเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญในระดับโลก โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่สอง รองจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

โดยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการจมน้ำเสียชีวิตสูงเป็นอันดับสองของโลก ประเทศไทยในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา (ปี 2554 - 2563) มีคนเสียชีวิตจากการจมน้ำ 36,140 คน (เฉลี่ยปีละ 3,614 คน) เป็นกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี 7,803 คน (เฉลี่ยปีละ 780 คน)

5 หลักสำคัญ เบื้องต้น ช่วยชีวิตคนจมน้ำ

วิธีช่วยคนจมน้ำ และการหาวิธีป้องกันและให้ความรู้ในการช่วยเหลือจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก การจมน้ำคือการที่จมลงใต้น้ำแล้วหายใจเอาน้ำเข้าไปในปอด และกลืนกินน้ำเข้าไป จนมีผลต่อร่างกาย ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ มักเกิดกับคนที่ว่ายน้ำไม่เป็น หรือคนที่ว่ายน้ำเป็นแต่อยู่ในภาวะซึ่งช่วยเหลือตนเองไม่ได้ ทั้งนี้การจมน้ำในน้ำจืดจะใช้เวลาประมาณ 3 - 4 นาที และในน้ำเค็มจะใช้เวลาประมาณ 7 - 8 นาที

ทั้งนี้ การช่วยเหลือคนตกน้ำหรือจมน้ำ สิ่งสำคัญประการแรกคือ “ต้องมีสติ อย่าผลีผลาม” จากนั้น วิธีการช่วยเหลือที่ถูกต้อง มีหลักง่ายๆ อยู่ 4 วิธี คือ

1. มีสติ ตะโกน ช่วยด้วยมีคนตกน้ำ และขอความช่วยเหลือ โทร. 1669

2. ยื่น ยื่นอุปกรณ์ให้จับ เช่น เสื้อผ้า เข็มขัด ท่อนไม้ ห่วงหรือไม้ตะขอ

3. โยน โยนอุปกรณ์ที่ลอยน้ำให้เกาะ เช่น ถังพลาสติก ห่วงชูชีพ ยางในรถยนต์ 

4. ลาก / พา พยายามช่วยดึงเข้าหาฝั่ง เอาเชือกผูกอุปกรณ์เหล่านั้นเพื่อลากคนตกน้ำเข้าฝั่ง

วิธีช่วยเหลือคนตกน้ำ อุปกรณ์ช่วยเหลือคนตกน้ำ วิธีช่วยคนจมน้ำ

อุปกรณ์ช่วยเหลือคนตกน้ำ 

โดยเบื้องต้น คือ ยื่นอุปกรณ์ให้จับ เช่น เสื้อผ้าเข็มขัดท่อนไม้ ห่วงหรือไม้ตะขอ และโยนอุปกรณ์ที่ลอยน้ำให้เกาะ เช่น ถังพลาสติก, ห่วงชูชีพ, ยางในรถยนต์ จากนั้นผู้ช่วยเหลืออาจเอาเชือกผูกอุปกรณ์เหล่านั้นเพื่อลากคนตกน้ำเข้าฝั่ง ซึ่งวิธีการช่วยเหลือดังกล่าว ผู้ช่วยเหลือจะมีความปลอดภัยเกือบ100% เพราะผู้ช่วยอยู่บนฝั่งหรือยืนได้ในน้ำตื้น

วิธีช่วยเหลือคนตกน้ำ

ส่วนวิธีการกระโดดลงน้ำไปช่วยนั้น เป็นวิธีการที่ต้องพึงระวัง และผู้ช่วยเหลือจะต้องมีประสบการณ์อย่างมาก เพราะมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากการช่วยเหลือคนตกน้ำและจมน้ำ ด้วยวิธีนี้

โดยวิธีการที่ถูกต้องคือ ต้องนำอุปกรณ์ช่วยไปด้วย เช่น ห่วงยาง, โฟม,ใส่เสื้อชูชีพ และเมื่อว่ายน้ำเข้าไปจวนถึงตัวคนตกน้ำ ให้หยุดอยู่ห่างๆ แล้วยื่นหรือโยนอุปกรณ์ให้เขาเกาะ อย่าเข้าไปจนถึงตัวเพราะเขาอาจเข้ามากอดเราแน่นจนจะพาจมน้ำไปด้วย

อุปกรณ์ช่วยเหลือคนตกน้ำ

เนื่องจากผู้จมน้ำอยู่ในภาวะที่ตกใจ แต่หากผู้จมน้ำโผเข้ามาจะกอดเรา ให้ดำน้ำหนีก่อน หรืออาจใช้วิธีการพายเรือเข้าไปช่วยเหลือ โดยผู้ตกน้ำอาจต้องลอยคอ หรือเกาะวัสดุสิ่งของลอยน้ำคอยอยู่

นอกจากนี้ อาจใช้วิธีการ ลากหรือพา โดยหากผู้จมน้ำเป็นคนที่ว่ายน้ำเป็น แต่แค่หมดแรงหรือเป็นตระคริว ไม่ตระหนกตกใจ ผู้ช่วยเหลือจะสามารถลากพาได้ง่าย จะไม่ค่อยมีอันตราย ส่วนการลากพาคนจมน้ำที่ตื่นตกใจ จะต้องใช้ทักษะพิเศษ โดย ต้องใช้ท่า Cross chest คือการเอารักแร้เราหนีบบนบ่าเขา แขนพาดผ่านหน้าอกแบบสะพายแล่งไปจับซอกรักแร้อีกด้าน และว่ายน้ำด้วยท่า Side stroke ซึ่งเป็นท่าที่เหนื่อย หนักแรงและมีอันตรายมากๆ สำหรับคนจมน้ำที่สลบ ต้องใช้ท่าลาก/พาที่ประคองหน้าให้ปากและจมูกพ้นน้ำ เพื่อหายใจได้ตลอด

4 หลักสำคัญ เบื้องต้น ช่วยชีวิตคนจมน้ำ

การปฐมพยาบาลคนจมน้ำก่อนส่งแพทย์ คือ

1. ถ้าหยุดหายใจ ให้เป่าปากช่วยหายใจทันทีอย่าเสียเวลาพยายามเอาน้ำออกจากปอดหรือผายปอดด้วยวิธีอื่น เพราะจะไม่ทันการณ์และไม่ได้ผล และถ้าเป็นไปได้ควรลงมือเป่าปากตั้งแต่ก่อนขึ้นฝั่ง เช่น พาขึ้นบนเรือ หรือพาเข้าที่ตื้นๆ ทั้งนี้เมื่อเริ่มเป่าปากสักพัก หากรู้สึกว่าลมเข้าปอดได้ไม่เต็มที่เนื่องจากมีน้ำอยู่เต็มท้อง ให้จับผู้ป่วยนอนคว่ำ ใช้มือ 2 ข้างวางใต้ท้องผู้ป่วย ยกท้องผู้ป่วยขึ้น จะช่วยไล่น้ำออกจากท้องให้ไหลออกทางปากได้ แล้วจับผู้ป่วยพลิกหงายเป่าปากต่อไป

2. หากคลำชีพจรไม่ได้ หรือหัวใจหยุดเต้น ให้นวดหัวใจทันที

3. ถ้าผู้ป่วยยังหายใจได้เอง หรือช่วยเหลือจนหายใจได้แล้ว ควรจับผู้ป่วยนอนตะแคงข้าง ศีรษะหงายไปข้างหลังเพื่อให้น้ำไหลออกทางปาก ใช้ผ้าห่มคลุมผู้ป่วยเพื่อให้เกิดความอบอุ่น อย่าให้กินอาหารและดื่มน้ำทางปาก

4. ควรส่งผู้ป่วยที่จมน้ำไม่ว่าจะมีอาการหนักเบาเพียงใดไปพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลทุกราย ในรายที่หมดสติและหยุดหายใจ ผายปอดด้วยวิธีเป่าปากไปตลอดทาง อย่ารู้สึกหมดหวังแล้วหยุดให้การช่วยเหลือ

ทั้งนี้ประชาชนทั่วไป สามารถใช้บริการทางการแพทย์ฉุกเฉิน หรือเมื่อพบเห็นผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน อุบัติเหตุ คนจมน้ำ ตกน้ำ สามารถโทรสายด่วน 1669 ขอความช่วยเหลือ บริการฟรีตลอด 24 ชั่วโมง

ขอบคุณที่มาจาก : สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)