สถาบันนิติเวชวิทยา เผยแพร่ข้อมูล กรณีมีผู้จมน้ำเสียชีวิต โดยให้ข้อมูลว่า การจมน้ำตาย หมายถึง การที่ร่างกายลงไปอยู่ใต้น้ำและรวมถึงของเหลวอื่นด้วย น้ำลึกเพียงครึ่งฟุตก็สามารถทำให้จมน้ำตายได้ขึ้นอยู่กับสภาพของร่างกาย เช่น เมาหมดสติ, เป็นลมชัก หรือ เด็กเล็ก เป็นต้น
ลักษณะอาการของคนที่กำลังจมน้ำ แบ่งเป็น 11 ระยะ
ระยะที่ 1 เกิดอาการตกตะลึง อ้ำอึ้ง จะเริ่มรู้ตัวว่าจะไม่รอดชีวิตถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือ
ระยะที่ 2 ตะเกียกตะกาย พยายามดิ้นรนอยู่น้ำเพื่อไม่ให้ตัวเองจมน้ำ
ระยะที่ 3 เกิดการว่ายน้ำได้เองโดยอัตโนมัติ แต่ทำได้เพียงในระยะเวลาอันสั้น แล้วจะเริ่มจมน้ำ
ระยะที่ 4 เริ่มมีอาการหยุดหายใจเกิดขึ้น เนื่องจากได้พยายามกลั้นหายใจไว้ตั้งแต่ระยะที่ 1-3 แล้ว ทำให้ก๊าซออกซิเจนในร่างกายเริ่มลดลง และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คั่งอยู่ในกระแสเลือด และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะกระตุ้นศูนย์ควบคุมการหายใจของร่างกายเพื่อให้เกิดการหายใจตามปกติ ผู้จมน้ำจึงสูดหายใจเข้าอีกครั้งหนึ่ง
ระยะที่ 5 ขณะสูดลมหายใจอีกครั้งหนึ่งจะเริ่มสำลักและกลืนน้ำเข้าไป
ระยะที่ 6 เกิดการไอ และอาเจียน
ระยะที่ 7 ผู้จมน้ำจะพยายามกระเสือกกระสน โดยจะถีบตนเองให้จมูกพ้นผิวน้ำ แล้วสูดหายใจเข้าไปอีกเฮือกหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นเฮือกสุดท้าย
ระยะที่ 8 สำลักน้ำเข้าปอด
ระยะที่ 9 พ่นน้ำลายออกมาเป็นฟอง และมีเลือดปนออกมา
ระยะที่ 10 ชัก ไม่รู้สติ
ระยะที่ 11 เสียชีวิต แล้วจมน้ำลงไป
ปฏิกิริยาของร่างกายในการจมน้ำ คือบุคคลนั้นจะพยายามกลั้นหายใจเพราะกลัว สำลักน้ำ จนกระทั่งออกซิเจนในเส้นเลือดแดงถูกใช้ไปจนถึงระดับที่ต่ำ และ คาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดดำมีมากขึ้นถึงระดับหนึ่ง บุคคลนั้นจะหายใจเองโดยอัตโนมัติ ซึ่งน้ำร่วมทั้งสิ่งอื่นๆ ที่อยู่ในน้ำก็จะเข้าไปในปอดในตอนนี้ และส่วนมากจะเข้าไปในกระเพาะอาหารด้วย
และในขณะเดียวกัน บางคนจะเกิดการอาเจียนและสำลักอาหารในระหว่างนี้ด้วย และการหายใจในลักษณะนี้ จะเกิดต่อไปอีกหลายนาที จนกว่าการหายใจจะหยุด สมองจะขาดอากาศไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงจุดที่ทำให้ตาย
ในบางคน อาจจะเกิดการเกร็งของกล้ามเนื้อกล่องเสียง ซึ่งเป็นปฏิกิริยาผ่านเส้นประสาทเวกัส (vagus nerve) โดยกล้ามเนื้อกล่องเสียงจะเกร็งบีบ เข้าหากันแน่น ป้องกันไม่ให้สิ่งใดเข้าไปในหลอดลม และยังอาจจะมีน้ำเมือกและน้ำเป็นฟองจากภายในปอดออกมาด้วย ซึ่งเรียกว่า dry drowning ในการผ่าศพจะไม่พบโคลนในหลอดลมหรือไดอะตอมในปอดเป็นเด็ดขาด
จุดที่สมองขาดเลือดจนตายขึ้นอยู่กับ อายุและอุณหภูมิของน้ำ ถ้าจมในน้ำอุ่นอาจจะใช้เวลา 3 - 10 นาที ในการที่สมองจะขาดออกซิเจนจนตาย ในเด็กเล็กที่จมในน้ำเย็นจัด เคยแก้ให้ฟื้นได้หลังจากจมไปนานถึง 66 นาที
ในกรณีนี้อาจจะอธิบายได้ว่า สมองเด็กยังไม่เจริญเต็มที่ทนต่อการขาดออกซิเจนมากกว่า นอกจากนั้นเด็กยังมีปฏิกิริยาการดำน้ำอยู่ ซึ่งจะทำให้มีการหดตัวของเส้นเลือดบริเวณอื่นๆ ยกเว้นหัวใจกับสมองทำให้เลือด ไปเลี้ยงสมองเป็นส่วนใหญ่ หัวใจเต้นช้าลง ซึ่งปฏิกิริยานี้จะเกิดขึ้นทุกครั้งที่หน้าคว่ำอยู่ ในน้ำ แต่บางคนเชื่อว่าที่เด็กพวกนี้รอดก็เพราะการเกิดภาวะร่างกายเย็นลงทำให้สมอง ต้องการใช้ออกซิเจนน้อยลง
แต่โดยปกติถ้าคนอยู่ใต้น้ำ 3 นาที จะหมดสติทุกราย
ในกรณีที่ รอดชีวิตจากการจมน้ำ อาจจะมีอันตรายต่อร่างกายต่อมาได้อีก เนื่องจากเมื่อน้ำ (จะเป็นน้ำเค็มหรือน้ำจืดก็ตาม) เข้าไปในปอด จะเกิดการทำลายของสารความตึงผิวของถุงลมปอด ทำให้ถุงลมแฟบ ทำให้การแลกเปลี่ยนออกซิเจนในเนื้อปอดส่วนใหญ่เสียไป
ซึ่งอาจจะเสียถึง 75 % นอกจากนี้เส้นประสาทเวกัสก็ถูกกระตุ้นทำให้เกิดเส้นเลือดในปอดหดตัว เกิดความดันเลือดในปอดสูงขึ้น ทำให้เลือดยิ่งเข้าปอดน้อยลงไปอีก เชื่อว่าเป็นเวลาหลายวันกว่าที่การหมุนเวียนโลหิตในปอดจะกลับมาสู่สภาพปกติ "near drowning" เป็นคำที่เรียกผู้ที่จมน้ำแล้วสามารถช่วยให้มีชีวิตอยู่ได้นานถึง 24 ชม.
ไม่ว่าผู้นั้นจะรอดต่อไป หรือตาย หรือมีอาการพิการต่อไป ซึ่งในผู้ป่วยเหล่านี้ปรากฏว่าไม่มีผลของการที่มีการเปลี่ยนแปลงระดับอิเล็กโทรไลต์มากนัก และการเปลี่ยนแปลงของระดับ อิเล็กโทรไลต์ที่พบก็ไม่มีผลต่อการรักษา
ในการผ่าศพ จะไม่มีลักษณะทางนิติพยาธิใดใดในการชี้ว่าเป็นการจมน้ำ การวินิจฉัยขึ้นอยู่กับประวัติร่วมกับการเปลี่ยนแปลงในร่างกายที่ "เข้ากันได้" ฉะนั้นการตรวจการจมน้ำจะต้องตรวจโดยละเอียดรวมทั้งการตรวจทางพิษวิทยาโดยละเอียด ถ้าศพถูกพบในน้ำ และการผ่าศพโดยละเอียดร่วมทั้งตรวจสารพิษโดยละเอียดแล้ว ไม่พบเหตุตาย ถือว่าผู้ตายจมน้ำตาย
นอกจากนั้น ถ้าศพเน่าสลายตัวอยู่ในน้ำนานพอ พวก กุ้ง หอย ปู ปลา ก็เริ่ม มาเกาะ มากิน และการลอยขึ้นเหนือน้ำขึ้นอยู่กับปริมาณก๊าซในร่างของศพ คนที่ dry drowning อาจจะลอยเร็วกว่าเนื่องจากกล่องเสียงปิดกักเอาอากาศไว้ภายใน ในประเทศร้อนปฏิกิริยาทางเคมีเร็ว แบคทีเรียในลำไส้มักผลิตก๊าซเร็วพอที่จะลอยได้ภายในไม่เกิน 24 ชม. แต่ในที่น้ำเย็นจัด การผลิตก๊าซอาจจะช้ามากจนศพอยู่ในน้ำเป็นเวลานาน
การ จมน้ำตาย ร่างกายมักจะมีการแข็งตัวของกล้ามเนื้อ (rigor mortis) เร็ว เนื่องจากการตะเกียกตะกายอย่างมากก่อนตาย นอกจากนั้นบาดแผลที่แช่ อยู่ในน้ำนานๆ (3-4ชม.) เลือดอาจจะละลายไปในน้ำทำให้เห็นคล้ายเป็นบาดแผลหลังตายได้
ขอบคุณที่มาจาก : โดย พลตำรวจตรี เลี้ยง หุยประเสริฐ พบ.,อว.(นิติเวชศาสตร์) ผู้บังคับการ สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ