วันสงกรานต์ ประเพณีไทย วันสำคัญ ในเดือนเมษายน วันสงกรานต์ หรือ เทศกาลสงกรานต์ นี่ก็คือวันที่พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ ถ้าจะพูดเหมือนหมอดูก็คือ พระอาทิตย์ย้ายลักขณามาสู่ราศีเมษ ซึ่งไทยในอดีตนั้นจะเรียกวันนี้ว่า วันมหาสงกรานต์ หรือ วันปีใหม่ไทย โดยสมมุติผ่าน นางสงกรานต์ ทั้ง 7 นาง ก็จะเท่ากับวันใน 1 สัปดาห์ ปีไหนตรงกับวันไหน นางสงกรานต์ ก็ชื่อตามวันนั้น ๆ เรียงกันไปตามปี
ซึ่งในปีนี้ นางสงกรานต์มีนามว่า กิริณีเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกมณฑา อาภรณ์แก้วมรกต ภักษาหารถั่วงา พระหัตถ์ขวาทรงขอ พระหัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จยืนมาเหนือหลังกุญชร (ช้าง) เป็นพาหนะ
วันที่ 16 เมษายน เวลา 13 นาฬิกา 49 นาที 48 วินาที เปลี่ยนจุลศักราชใหม่เป็น 1384
ปีนี้ วันพุธ เป็นธงชัย, วันอังคาร เป็นอธิบดี, วันอังคาร เป็นอุบาทว์, วันพฤหัสบดี เป็นโลกาวินาศ
เนื่องจากท่านเกิดตรงกับวันอาทิตย์ จึงทำนายว่า จะบันดาลให้ฝนตก 400 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 40 ห่า ตกในมหาสมุทร 80 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 120 ห่า ตกในเขาจักรวาล 160 ห่า นาคให้น้ำ 4 ตัว เกณฑ์ธัญญาหาร ได้เศษ 2 ชื่อ วิบัติ ข้าวกล้าในภูมินาจะเกิดกิมิชาติ (ด้วงและแมลง) จะได้ผลกึ่งเสียกึ่ง เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีเตโช (ไฟ) น้ำน้อย
ประวัติ วันสงกรานต์
ตำนานการเกิดสงกรานต์ กล่าวไว้ว่าก่อนพุทธกาลมีเศรษฐีครอบครัวหนึ่ง อายุเลยวัยกลางคนก็ยังไร้ทายาทสืบสกุล ซึ่งทำให้ท่านเศรษฐีทุกข์ใจเป็นอันมาก ท่านเศรษฐี จึงพยายามไปบวงสรวงพระอาทิตย์และพระจันทร์ เพียรพยายามตั้งจิตอธิษฐานขอบุตร ทำเช่นนี้เป็นเวลาติดต่อกันถึง 3 ปี ก็ไม่ได้บุตร
จนวันหนึ่งเป็น วันนักขัตฤกษ์สงกรานต์ ท่านเศรษฐีก็พาข้าทาสบริวารของตนมาที่โคนต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่ง ท่านเศรษฐีให้บริวารล้างข้าวสารด้วยน้ำสะอาดถึง 7 ครั้ง แล้วจึงหุงข้าวสารนั้น เมื่อสุกแล้วยกขึ้นบูชาพระไทร เทพเหล่านั้นเกิดความสงสาร จึงขึ้นไปเฝ้าพระอินทร์ ทูลขอบุตรแก่เศรษฐี พระอินทร์จึงบัญชาให้เทพบุตรองค์หนึ่งชื่อ "ธรรมบาล" ลงมาเกิดในครรภ์ของภรรยาเศรษฐี เมื่อครบกำหนดภรรยาเศรษฐีก็คลอดบุตรเป็นชาย เศรษฐีจึงตั้งชื่อว่า ธรรมบาลกุมาร เพื่อตอบสนองพระคุณเทพเทวา เศรษฐีจึงสร้างปราสาทสูง 7 ชั้น ถวายเทพต้นไทร
เมื่อธรรมบาลกุมารเจริญวัยขึ้น เป็นเด็กที่มีปัญญาเฉียบแหลม กิตติศัพท์ดังกล่าวไปเข้าหู ท้าวกบิลพรหม ได้ยินกิตติศัพท์ทางสติปัญญาอันยอดเยี่ยมของเด็กน้อย จึงคิดทดลองภูมิปัญญาโดยการเอาชีวิตเป็นเดิมพันจึงถามปัญหา 3 ข้อ ถ้ากุมารน้อยแก้ปัญหาทั้ง 3 ข้อได้ กบิลพรหมจะตัดศีรษะของตนบูชา ถ้าธรรมบาลแก้ไม่ได้ ก็จะต้องเสียหัวเพื่อยอมรับความพ่ายแพ้ ปัญหานั้นมีว่า
1. ตอนเช้าราศีคนอยู่แห่งใด
2. ตอนเที่ยงราศีของคนอยู่แห่งใด
3. ตอนค่ำราศีของคนอยู่แห่งใด
ซึ่งหลังจากได้ฟังคำถาม ธรรมบาลกุมาร ขอผลัดการตอบคำถามไปอีก 7 วัน เมื่อล่วงเข้าสู่วันที่ 6 เด็กน้อยไปนอนพักเอาแรงใต้ต้นตาล บนต้นตาลมีนกอินทรีคู่หนึ่งอาศัยอยู่
นางนกถามสามีว่า “พรุ่งนี้เราจะไปหาอาหารที่ไหน”
นกสามีก็ตอบว่า “พรุ่งนี้เราไม่ต้องบินไปไกล เพราะจะได้กินเนื้อธรรมบาลกุมาร ซึ่งจะถูกท้าวกบิลพรหมตัดหัว เนื่องจากแก้ปัญหาไม่ได้”
นางนกถามว่า “ปัญหานั้นว่าอย่างไร”
นกสามีตอบว่า ปัญหามีอยู่ 3 ข้อ และหมายถึง
ข้อ 1. ตอนเช้าราศีของมนุษย์อยู่ที่หน้า คนจึงต้องล้างหน้าทุกๆ เช้า
ข้อ 2. ตอนเที่ยงราศีคนอยู่ที่อก มนุษย์จึงต้องเอาเครื่องหอมประพรมที่อก
ข้อ 3. ตอนค่ำราศีคนอยู่ที่เท้า มนุษย์จึงต้องล้างเท้าก่อนเข้านอน
กุมารน้อยจึงจดจำคำตอบของนกผัวเมียจนขึ้นใจ แล้วไปตอบท้าวกบิลพรหม จนเป็นผู้ชนะในที่สุด ท้าวกบิลพรหมต้องสละศีรษะตามเดิมพัน
ตำนานนางสงกรานต์ทั้ง 7 นาง
ท้าวกบิลพรหมได้เรียกธิดาทั้ง 7 ซึ่งประทับบนสรวงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราช ลงมาสั่งความ
เนื่องจากท้าวกบิลพรหมเป็นเทพที่มีฤทธิ์มาก หากตัดศีรษะแล้ววางไว้บนแผ่นดินก็จะลุกไหม้ไปทั้งโลก ถ้าโยนขึ้นไปบนอากาศ อากาศจะแห้งแล้ง ฟ้าฝนจะหายไปสิ้น และถ้าทิ้งลงไปในมหาสมุทร น้ำในมหาสมุทรจะแห้งเหือดหมดสิ้น
จึงสั่งให้ธิดาทั้ง 7 เอาพานมารองรับศีรษะก่อน แล้วจึงตัดศีรษะส่งให้นางทุงษธิดาคนโต เอาไปแห่ประทักษิณ (เวียนขวา) รอบเขาพระสุเมรุ 60 นาที แล้วอัญเชิญไปไว้ในมณฑปถ้ำคันธุรลี เขาไกรลาส บูชาด้วยเครื่องทิพย์ พระเวสสุกรรม (พระวิษณุกรรม) เนรมิตโรงประดับด้วยแก้ว 7 ประการ ชื่อภควดี ให้เป็นที่ประชุมเทวดา
จากนั้นเทวดาทั้งปวงก็เอาเถาฉมูนวดลงมาล้างในสระอโนดาต 7 ครั้ง แล้วก็แจกกันเสวยทุก ๆ องค์ ครั้นครบ 365 วัน โลกสมมุติว่าเป็นหนึ่งปีเป็น สงกรานต์ ธิดา 7 องค์ ของ ท้าวกบิลพรหมก็ผลัดเวรกันมาเชิญพระเศียรของพระบิดาออกแห่ประทักษิณรอบเขาพระสุเมรุทุกปี แล้วจึงกลับไปเทวโลก
โดยเกณฑ์กำหนดว่า วันสงกรานต์ คือวันที่ 13 เมษายน ตรงกับวันใดก็ให้ นางสงกรานต์ ประจำวันนั้นเป็นผู้แห่ นางสงกรานต์มีทั้งหมด 7 องค์
ขอบคุณที่มาจาก : กรมศิลปากร กำเนิดวันสงกรานต์
ภาพจาก : รู้ตำนานสืบสานวัฒนธรรม