ตำนานรักอมตะ วันนี้ Thainews Online มี ตำนานความรัก ที่เกิดขึ้นจริงใน ประเทศไทย และยังคงเป็นเรื่องเล่าขานจนถึงปัจจุบัน บทความต่อไปนี้ ไม่ได้มีเจตนายุยงส่งเสริม เป็นเพียงบทความที่มีเรื่องราว เรื่องเล่าขาน ที่เกิดขึ้นในอดีต เป็นการสะท้อนมุมมองในอดีตเท่านั้น
ความเชื่อเรื่องความรัก ที่กลายเป็น ตำนาน ในอดีตนั้นล้วน ไม่สมหวัง เพราะมีอุปสรรคมากมายมากีดกัน เมื่อเราได้รับรู้เรื่องราวเหล่านี้ก็สามารถนำสิ่งที่เกิดขึ้นมาปรับใช้ มอง ความรัก ของตัวเองอย่างมีสติเพื่อให้เกิดการยอมรับความจริง เรื่องความรัก จะได้ไม่ต้องเจอกับความรักที่เศร้าเหมือนเรื่องราวดังต่อไปนี้ค่ะ
สะพานสารสิน
ตำนาน ความเชื่อ เรื่องความรักที่นับเป็นเรื่องเศร้าและเป็นโศกนาฏกรรมที่สุดอีกเรื่องหนึ่ง นั่นก็คือเรื่องของสะพานสารสินที่จังหวัดกระบี่ เรื่องนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2516 พ่อค้าขายไข่เต่าเชิงสะพานได้โทรแจ้งตำรวจว่าพบชายหญิงคู่หนึ่งขึ้นไปยืนกอดกันบนสะพานแล้วกระโดดลงไปในน้ำ แต่เมื่อตำรวจส่งเจ้าหน้าที่ไปค้นหาก็ไม่พบ คาดว่าเพราะความแรงของน้ำทำให้ร่างทั้งคู่ถูกพัดออกสู่ทะเลไปแล้ว จากการสอบสวนทำให้เราได้รู้ถึงที่มาและเรื่องราวที่นำมาสู่จุดจบแสนเศร้า
ชายหญิงคู่นี้คือนายดำ แซ่ลิ้ม อาชีพขับรถสองแถวไม้ และนางสาวกาญจนา แซ่หงอ นักศึกษาปีที่ 2 ของวิทยาลัยครูภูเก็ต นายดำขับรถรับส่งหญิงสาวเป็นประจำจนกลายเป็นความรัก แต่พ่อแม่ฝ่ายหญิงที่ฐานะดีเมื่อรู้เข้าก็ไม่พอใจทั้งลงโทษลูกสาวรวมถึงสั่งให้เลิกเรียนแม้จะกำลังเรียนจบ รวมถึงไม่ให้ติดต่อกับฝ่ายชายอีก กาญจนาจึงหนีไปอยู่ที่บ้านฝ่ายชายและนายดำก็พาคนรักหนีไปอยู่บ้านของพ่อแม่ในตัวเมือง แต่ทางฝ่ายพ่อแม่นายดำเองก็ไม่พอใจคนรักของลูกชายด้วยเช่นกัน
ภายหลังตำรวจพบจดหมายซึ่งเขียนไว้ว่า จากความกลัดกลุ้มที่ครอบครัวไม่ยอมรับ ทำให้หนุ่มสาวสองคนหมดทางไป จึงขอลาตายโดยยึดเอาทะเลเป็นสุสานความรัก ภายหลังตำรวจได้พบว่าจดหมายตำรวจยังพบจดหมายที่ดำเขียนสั่งความทิ้งไว้ มีความว่า เราทั้งสองรักกันมาก เมื่อเกิดความยุ่งยากคับอกคับใจ เพราะถูกพ่อแม่ทั้งสองฝ่ายกีดกันความรัก จนความรักไม่มีหนทางไปจึงขอลาตายดีกว่าจะให้แยกจากกัน จดหมายฉบับนี้จึงเป็นหลักฐานยืนยันว่า ทั้งสองมีเจตนาจะฆ่าตัวตาย โดยยึดเอาทะเลเป็น สุสานรัก สุดท้ายเมื่อตำรวจพบร่างของทั้งคู่ก็ยังพบว่ามีผ้าขาวม้าผูกร่างเอาไว้ไม่ให้แยกจากกันอีกด้วย กลายเป็นเรื่องราวถูกเล่าขานต่อกันมาอย่างไม่รู้ลืม
มะเมียะ
ตำนานความเชื่อเรื่องความรักแห่งเมืองเหนือที่ทำให้ เมืองมะละแหม่งหรือเมาะละแหม่ง (เมาะลำเลิง) รวมถึงวัดล้านนาหลายแห่งในเชียงใหม่กลายเป็นสถานที่เที่ยวยอดฮิตอย่างเรื่องความรักของ มะเมียะและเจ้าน้อยศุขเกษม กันบ้างดีกว่า ว่ากันว่าความรักของทั้งคู่โด่งดังมากจนถูกนำไปพิมพ์เผยแพร่ในนิตยสาร เพ็ชร์ลานนา และ ชีวิตรักเจ้าเชียงใหม่ กันเลยทีเดียว
เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นเมื่อ เจ้าศุขเกษม ในวัย 15 ปีถูกส่งไปเรียนหนังสือที่มะละแหม่ง ต่อมาได้พบรักกับสาวพม่าเป็นแม่ค้าขายบุหรี่ชื่อ มะเมียะ ทั้งคู่เกิดความรักและมีสัมพันธ์ลึกซึ้งต่อกัน เมื่ออยู่มะละแหม่งได้ 5 ปีก็ถึงเวลาต้องกลับเชียงใหม่ซึ่งเจ้าศุขเกษมก็พามะเมียะเดินทางกลับมาด้วยโดยให้คนสนิทปิดเรื่องความสัมพันธ์เป็นความลับ
แต่สุดท้ายเมื่อความจริงเปิดเผย ความรักของทั้งคู่ก็ต้องจบลงเพราะมะเมียะเป็นคนพม่าอีกทั้งยังถือสัญชาติอังกฤษ แต่เจ้าศุขเกษมนั้นต่อไปต้องเป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่จึงมีชายาเป็นพม่าและเป็นคนสัญชาติอังกฤษไม่ได้เนื่องจากกลัวว่าจะเป็นการเข้ามาแทรกแซงทางการเมืองเพื่อยึดเชียงใหม่จนสยามไม่พอใจ เพื่อไม่ให้เป็นเรื่องราวลุกลามจึงต้องจบความสัมพันธ์ของทั้งคู่เท่านั้น ทั้งคู่จึงต้องจากกันตลอดกาล กลายเป็นความเชื่อเรื่องความรักแสนเศร้าที่ยังเล่าขานมาถึงปัจจุบัน และยังถูกนำไปแต่งเพลงคำเมืองของ จรัล มโนเพ็ชร อีกด้วย
ถ้ำผานางคอย
ตำนานความรักก็คือ ถ้ำผานางคอย ซึ่งเป็นผาธรรมชาติ มีความสูงชัน ภายในมีหินงอกหินย้อยสวยงามและยังมีหินงอกรูปร่างคล้ายหญิงสาวที่กำลังอุ้มลูกน้อยรอคอยคนรัก กลายเป็นที่มาของชื่อถ้ำผานางคอย และยังมี ตำนานพื้นบ้าน เล่าขานกันมาอีกด้วยว่า ประมาณ 800 ปีก่อนอาณาจักรแสนหวีมีองค์หญิงองค์หนึ่งซึ่งสิริโฉมงดงามมากนามว่า อรัญญาณี
วันหนึ่งพระนางเสด็จทางชลมารคแต่เรือถูกพายุพัดจนจมลง ข้าราชบริพารล้วนหนีเอาตัวรอดเว้นแต่ นายคะนองเดช ที่เข้ามาช่วยชีวิตพระนางไว้ กลายเป็นที่มาของความรักในใจทั้งคู่ สุดท้ายจึงได้มีสัมพันธ์ต่อกันและทรงตั้งครรภ์ขึ้นมา นายคะนองเดชจึงเสี่ยงพาองค์หญิงหนีไปกับเขา แต่เมื่อถูกไล่ตามมาทันเหล่าทหารจะยิงธนูสังหารคะนองเดช แต่กลับกลายเป็นว่าลูกธนูไปปักที่อุระ (อก) ของพระนาง เขาจึงอุ้มคนรักมาที่ถ้ำแห่งนี้ พระนางบอกให้คะนองเดชหนีไปและกล่าวว่าตนจะรออยู่ที่นี่ไปชั่วนิรันด์ แรงอธิษฐานทำให้ร่างของนางกลายเป็นหิน หันไปทิศตะวันตก มือโอบพระโอรสไว้บนตัก กลายเป็นที่มาของชื่อถ้ำพระนางที่มาพร้อมความรักอันแสนเศร้า
ถ้ำพระนาง
ถ้ำพระนาง เป็นสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อแห่งหนึ่งของจังหวัดกระบี่ ตั้งอยู่บริเวณหาดไร่เลย์ ที่ชาวบ้านและนักเดินทางนิยมมากราบไหว้บูชาและขอพร โดยมักนำปลัดขิกมาถวายเนื่องจากมีความเชื่อว่าที่ถ้ำแห่งนี้มีวิญญาณของหญิงสาวนางหนึ่งสถิตอยู่ รวมถึงมีการตั้งศาลเพียงตาไว้ด้วย แต่ความเชื่อเรื่องความรักนี่มีที่มาอย่างไร ทำไมจึงกลายมาเป็นตำนานของสถานที่เที่ยวแห่งนี้ เราลองมาดูไปพร้อมกันเลยค่ะ
ตำนาน เรื่องนี้เป็นเรื่องราวเก่าแก่ที่เล่าต่อกันมาว่า เมื่อหลายพันปีก่อนมีสามีภรรยาคู่หนึ่งแต่งงานกันมานานแล้วแต่ยังไม่มีลูกสักที จึงไปขอพรจากพญานาคให้มีลูก โดยทางพญานาคตกลงให้พรพวกเขาแต่มีข้อแม้ว่าจะมอบบุตรสาวให้ แต่เมื่อนางโตขึ้นต้องมาแต่งงานกับบุตรชายของพญานาคซึ่งทั้งคู่ก็ตกลง แต่เมื่อหญิงสาวโตขึ้นเธอกลับไม่ทำตามข้อตกลงและหนีไปแต่งงานกับคนอื่น พญานาคจึงบันดาลโทสะทำลายงานพิธีแต่งงานครั้งนั้น เดือดร้อนถึงพระฤาษีที่บำเพ็ญเพียรอยู่ในถ้ำต้องมาห้ามทั้งสองฝ่าย แต่ก็ไม่มีใครยอมใคร สุดท้ายพระฤาษีจึงสาปให้ทุกคนกลายเป็นหิน ส่วนเรือนหอของหญิงสาวกลายเป็นถ้ำ ต่อมาเมื่อเวลาผ่านไป มีชาวประมงไปหลบฝนอยู่ในถ้ำนั้นและได้พบเห็นวิญญาณหญิงสาว จึงกลายเป็นที่มาเรื่องความศักดิ์สิทธิ์และมีการนำศาลเพียงตามาตั้งให้นางในที่สุด
เจ้าแม่เขาสามมุข
ตำนานความเชื่อเรื่องความรักของเราด้วยเรื่องราวของ เจ้าแม่เขาสามมุก ซึ่งเป็นตำนานเก่าแก่ในท้องถิ่นของหาดบางแสน จังหวัดชลบุรี เป็นเรื่องราวของครอบครัวยายหลานคู่หนึ่ง ฝ่ายหลานสาวมีชื่อว่า มุก เป็นเด็กกำพร้าที่ยายนำมาเลี้ยงดูหลังพ่อแม่เสียชีวิต วันหนึ่งระหว่างที่มุกไปนั่งเล่นบริเวณเชิงเขาเตี้ยๆ ในอ่างศิลา เธอได้พบว่าวขาดลอยมาและพบว่าเจ้าของว่าวคือนายแสนลูกของกำนันในตำบลนั้นซึ่งนายแสนก็ได้มอบว่าวตัวนั้นให้มุกเป็นของแทนตัว ทั้งคู่นัดพบกันหลายครั้งจนกลายเป็นความรักและได้ให้คำสัตย์สาบานต่อกันว่าจะรักกันชั่วนิรันด์ หากผิดคำสาบานจะกระโดดหน้าผาแห่งนี้ตายตามกันไป
แต่ต่อมาเมื่อกำนันผู้เป็นพ่อของนายแสนรู้เรื่องเข้าจึงไม่พอใจและกีดกันความรักของทั้งคู่รวมถึงจับนายแสนแต่งงานกับลูกสาวคนทำโป๊ะเรือ เมื่อมุกรู้เรื่องเข้าจึงกระโดดหน้าผาตายตามคำสาบาน เมื่อนายแสนเห็นดังนั้นจึงโดดหน้าผาตามกันไป ฝ่ายกำนันที่รู้สึกผิดจึงนำถ้วยชามต่างๆ มาไว้ที่ถ้ำเชิงเขาเพื่อเป็นอนุสรณ์ความรักของทั้งคู่
ภายหลังชาวบ้านจึงเรียกเขาแห่งนี้ว่า เขาสาวมุก และเพี้ยนมาเป็นเขาสามมุกในที่สุด ส่วนหาดที่พบศพของทั้งคู่ก็เรียก หาดบางแสน เพื่อระลึกถึงความรักของทั้งคู่ และบริเวณถ้ำที่มีเครื่องถ้วยชามต่างๆ หากมีงานบุญก็สามารถหยิบยืมไปใช้งานได้แต่สมัยที่จอมพลป. พิบูลสงครามสร้างถนนตัดผ่านก็ได้ทำการปิดปากถ้ำไปในที่สุด ต่อมาเขาสามมุกและหาดบางแสนก็กลายเป็นที่เที่ยวที่ได้รับความนิยม และเรื่องราวของทั้งคู่ก็ยังคงถูกเล่าขานสืบต่อมาถึงปัจจุบัน
ขอบคุณ : วิกิพีเดีย และ ภาพจาก : โซเชียลมีเดีย