วันเข้าพรรษา 2565 ตรงกับวันที่ 14 กรกฎาคม 2565 และการ ถวายเทียนพรรษา มีอานิสงส์อย่างไร พร้อม คำถวายเทียนพรรษา หรือ บทสวดถวายเทียนพรรษา
วันเข้าพรรษา เป็น วันสำคัญทางศาสนาพุทธ เป็นวันที่พระสงฆ์อธิฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งตลอดระยะเวลาฤดูฝน หรือ ระยะเวลา 3 เดือน โดยจะไม่ไปพักค้างแรมที่อื่น ตั้งแต่ แรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หรือ วันออกพรรษา นั่นเอง
วันเข้าพรรษา 2565 ตรงกับวัน ที่ 14 กรกฎาคม 2565 ตรงกับวัน แรม 1 ค่ำ เดือน 8 เป็นวันที่พุทธศาสนิกชนได้ปฏิบัติประเพณีสืบทอดการ ถวายเทียนพรรษา และ ถวายผ้าอาบน้ำฝน มาเป็นเวลายาวนาน
วันเข้าพรรษา เป็นประเพณีที่ชาวพุทธควรสืบทอดและรักษาวัฒนธรรมไว้ให้เด็กรุ่นลูกรุ่นหลานได้เรียนรู้ที่จะทำความดี เข้าวัด ฟังธรรม ทำบุญระลึกถึงคุณบิดา มารดา ที่ล่วงลับไปแล้ว
วันเข้าพรรษา เป็นจุดกำเนิดประเพณีสำคัญขึ้นอีก 2 ประเพณี นั่นก็คือ
1 ประเพณีแห่เทียนพรรษา
2 ประเพณีการถวายผ้าอาบน้ำฝน
ประวัติวันเข้าพรรษา
ประเพณีถวายเทียนพรรษา หรือ ประเพณีแห่เทียนพรรษา
เนื่องจากสมัยก่อนพระภิกษุสงฆ์ไม่มีไฟฟ้าใช้ ชาวบ้านจึงหล่อเทียนต้นใหญ่ขึ้น เพื่อถวายพระภิกษุสงฆ์จุดให้แสงสว่างในการปฏิบัติกิจวัตรต่างๆ เป็นพุทธบูชาตลอดเวลา 3 เดือน การนำเทียนไปถวาย ชาวบ้านมักจัดขบวนแห่กันอย่างสนุกสนานและปฏิบัติสืบทอดกันมาจนกลายเป็นประเพณี
โดยชาวพุทธซึ่งนับถือศาสนาพุทธจะทำเทียนเพื่อจุดบูชาพระรัตนตรัย โดยนำรังผึ้งร้างมาต้มเอาขี้ผึ้งแล้วฟั่นเป็นเทียนเล่มเล็ก ๆ มีความยาวตามต้องการ เช่น ยาวเป็นคืบ หรือเป็นศอก แล้วใช้จุดบูชาพระ
เทียนพรรษาเริ่มมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ชาวพุทธจะยึดถือเป็นประเพณีนำเทียนไปถวายพระภิกษุในเทศกาลเข้าพรรษา เพื่อปรารถนาให้ตนเองเป็นผู้เฉลียวฉลาด มีไหวพริบ ประดุจแสงสว่างของดวงเทียน
การเข้าพรรษาแบ่งได้ 2 ประเภทคือ
1. เทียนหลวง หมายถึงเทียนที่ทำขนาดใหญ่ มีความสูงตั้งแต่ 1 เมตรขึ้นไป ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางอย่างน้อย 8 นิ้ว
2. เทียนน้อย หมายถึงเทียนเล็ก คือขนาดโตกว่าเทียนไขธรรมดาเล็กน้อย แต่ก็จัดว่ามีขนาดใหญ่กว่าธรรมดาแล้ว
การถวายเทียนพรรษาเป็นประเพณีหนึ่งของชาวล้านนาที่นิยมทำกัน นอกจากหวังให้เกิดบุญเกิดกุศลแล้ว ถ้าทำเทียนใหญ่ย่อมก่อให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีในหมู่คณะ จึงสมควรที่จะช่วยกันอนุรักษ์ประเพณีนี้โดยช่วยกันรักษาไว้ให้คงมีต่อไป อย่าให้เสื่อมสูญ
ประเพณีหลวงและประเพณีราษฎร์ หมายถึง
ประเพณีหลวง เรียกเป็นทางการว่า การพระราชกุศลหล่อเทียนพรรษา ประเพณีนี้พระมหากษัตริย์ทรงหล่อเทียนพรรษาด้วยพระองค์เอง และเสด็จพระราชดำเนินทรงจุดบูชาพระรัตนตรัยเฉพราะพระอารามหลวงที่สำคัญ นอกนั้นทรงโปรดเกล้า ฯ ให้ผู้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์
ประเพณีราษฎร เรียกกันว่า เทียนจำนำพรรษา หรือ เทียนพรรษา ประเพณีนี้ประชาชนเป็นผู้หล่อเทียนจำนำพรรษา ปัจจุบันเทียนพรรษามี 2 ชนิด คือ เทียนพรรษาแบบจุดได้ กันเทียนพรรษาแบบจุดไม่ได้ เทียนพรรษาแบบจุดไม่ได้นี้จะไม่มีไส้ มีแต่ไม้หรือเหล็กกันเทียนหัก เพราะทำขึ้นมาเพื่อประกวด หรือถวายเป็นพุทธบูชาเท่านั้น
ประเพณีการแห่เทียนจำนำพรรษา นี้ เป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติทั่วไปในประเทศไทย แต่ที่ทำกันเป็นประเพณีใหญ่โตที่สุด คือ จังหวัดอุบลราชธานี มีการแกะสลักต้นเทียนอย่างสวยงามและจัดประกวดแข่งขันก่อนแก่ไปถวายตามวัดต่างๆ
ถวายเทียนพรรษา และ อานิสงส์ถวายเทียนพรรษา คือ
1. ทำให้เกิดปัญญา ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า เปรียบเหมือนแสงสว่างแห่งเทียน
2. ทำให้ชีวิตสว่างไสวรุ่งเรือง ผู้ถวายย่อมเจริญด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ
3. ทำให้คลี่คลายเรื่องราวต่างๆ ที่มีปัญหาร้ายกลับกลายเป็นดี
4. ย่อมเจริญไปด้วยมิตรและบริวาร
5. ย่อมเป็นที่รักของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย
6. เมื่อจากโลกนี้ไปแล้วย่อมมีกายทิพย์อันสว่างไสว
7. เมื่อลาลับโลกนี้ไปแล้วย่อมไปสู่สุคติและสวรรค์
8. หากสั่งสมบารมีมากพอ ย่อมทำให้เกิดดวงตาจักษุ คือปัญญารู้แจ้งเข้าสู่นิพพาน
คำถวายเทียนพรรษา
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ( 3 จบ)
ยัคเฆ ภันเต, สังโฆ ปะฏิชานาตุ, มะยัง ภันเต,
เอตังปะทีปะยุคัง สะปะริวารัง
เตมาสัง, พุทธัสสะ ปูชะนัตถายะ
อิมัสสะมิง อุโปสะถาคาเร นิยยาเทมะ
สาธุ โน ภันเต อะยัง เตมาสัง
พุทธัสสะ ปูชะนัตถายะปะทีปะยุคัสสะ
ทานัสสะ อานิสังโส อัมหากัง
ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ สังวัตตะตุ
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ขอพระสงฆ์โปรดรับทราบ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอมอบถวายเทียนคู่นี้ พร้อมกับของบริวาร ไว้ ณ อุโบสถนี้ เพื่อเป็นพุทธบูชาตลอดพรรษา ขออานิสงส์แห่งการถวายคู่ เทียน เพื่อเป็นพุทธบูชา ตลอดพรรษานี้ของข้าพเจ้าทั้งหลาย จงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย แก่ปิยชนทั้งหลาย มีมารดา บิดาเป็นต้นด้วย ตลอดกาลนานเทอญ
คำถวายผ้าอาบน้ำฝน
อิมานิ มะยัง ภันเต วัสสิกะสาฏิกานิ
สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ
สาธุ โน ภันเต ภิกขุสังโฆ อิมานิ
วัสสิกะสาฏิกานิ สะปะริวารานิ
ปะฏิคคันหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้าอาบน้ำฝนกับบริวารทั้งหลายเหล่านี้ แด่พระภิกษุสงฆ์ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับผ้าอาบน้ำฝนกับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์สุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนานเทอญ
ขอบคุณ : สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ