ดอกมะลิ เป็นสื่อรักใน วันแม่แห่งชาติ ก็จริง แต่รู้หรือไม่ว่า ไม่ใช่มะลิทุกสายพันธุ์ มาถึงตรงนี้หลายคนก็น่าจะตอบกันได้บ้างแล้ว สำหรับคำตอบก็คือ ดอกมะลิซ้อน ไปดูที่มาที่ไป ดอกมะลิ สัญลักษณ์วันแม่ กันค่ะ
ทำไม ดอกมะลิ ถึงเป็นดอกไม้ประจำ วันแม่แห่งชาติ
ทำไมวันแม่ ต้องดอกมะลิ ดอกมะลิ นั้นมีหลากสายพันธุ์ แต่ที่รู้จักกันในนาม “มะลิซ้อน” นั้น ถือเป็นดอกไม้ที่สื่อกับความหมายในวันแม่ได้ด้วยลักษณะต่างๆ ด้วยลักษณะสีขาวของดอก แสดงถึง “รักที่บริสุทธิ์” มะลิซ้อนที่ออกดอกตลอดปี กลิ่นที่หอมแรงและทนทาน สื่อได้ถึง “ความรักที่ยาวนาน ไม่เสื่อมคลาย” และลักษณะกลีบ ที่เรียงซ้อนอัดแน่นโดยปลายกลีบห่อเข้ากลางดอก ก็สื่อถึง “อ้อมแขนของแม่ที่โอบลูกน้อยไว้” จนทำให้ดอกมะลิซ้อนถูกกำหนดให้เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ของวันแม่ ในปี พ.ศ. 2519 นับตั้งแต่ที่คณะกรรมการอำนวยการสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กำหนดให้วันที่ 12 สิงหาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ให้เป็นวันแม่แห่งชาตินั่นเอง
นอกจากมะลิทั่วไป หรือมะลิซ้อนที่เราคุ้นตาและเป็นสัญลักษณ์ของวันแม่แล้ว ยังมีมะลิอีกหลากหลายพันธุ์ที่มีกลิ่นหอมไม่แพ้กัน และมีลักษณะที่โดดเด่นแตกต่างกันไป เช่น มะลิที่เป็นทั้งดอกและเป็นทั้งผัก อย่างมะลิวัลย์หรือผักแส้ว ชาวบ้านภาคเหนือมักจะเด็ดยอดอ่อนใส่แกง มะลิที่ให้ดอกดก อย่างมะลิหลวง มะลุลี มะลิงาช้าง มะลิที่มีกลิ่นหอมแรง อย่างมะลิไส้ไก่ มะลิภูหลวง มะลิไส้ไก่ก้านแดง มะลิที่เป็นพุ่มสวยงามและใช้เป็นไม้กระถาง เช่น มะลิสยาม มะลิซ้อน มะลิลา และ มะลิที่ไม่ใช่สีขาว..แต่เป็นสีเหลือง เช่น มะลิพริมโรส มะลิเหลือง มะลิหอมละไม มะลิชัยชนะ เป็นต้น
หากใครที่ชื่นชอบความหอม สีขาวบริสุทธิ์ของดอกมะลิเป็นพิเศษ สามารถเข้าชมได้ที่สวนไม้หอม ที่นอกจากดอกมะลิแล้วยังมีไม้หอมอีกมากมายให้ทุกท่านได้เที่ยวชม และสัมผัสความหอมอย่างเพลิดเพลิน สามารถร่วมแบ่งปันความรู้สึกดีดีผ่านสวนสวยและความหลากหลายทางชีวภาพได้ที่ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่
ขอขอบคุณ : อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จังหวัดเชียงใหม่