หลวงพ่อจอน หรือ พระครูสิทธิบุญสาร วัฑฒจิตโต วันที่ 28 กรกฎาคม 2565 ทีมข่าวได้รับรายงานว่า “หลวงพ่อจอน” พระเกจิดัง แห่งดงพญาเย็น เจ้าอาวาสวัดบุญฤทธิ์ ท่านได้ มรณภาพ ลงแล้วอย่างสงบ สร้างความเศร้าเสียใจให้กับลูกศิษย์ทั่วทั้งประเทศ
ประวัติ หลวงพ่อจอน
หลวงพ่อจอน พื้นเพเดิมเป็นชาว ต.บ้านบึง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี เกิดเมื่อ วันที่ 20 ม.ค. 2485 บิดา ชื่อ นายเชื่อม และ มารดา ชื่อ นางไซร สุโมตะยะกุล ครอบครัวประกอบอาชีพทำนา เมื่ออายุครบตามเกณฑ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบทที่ วัดบุญฤทธิ์ (บึงบน) ต.บ้านบึง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี โดยมี หลวงปู่พัทธ วัดบึงบวรสถิตย์ เป็นพระอุปัชฌาย์
ในห้วงนี้ มีโอกาสไปฝากตัวเป็นศิษย์กับ หลวงปู่โทน กันตสีโล วัดเขาน้อยคีรีวัน อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี พระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งเมืองชลบุรี ศึกษาวิทยาคมอีกหลายแขนง รวมทั้งศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณ คือ การเสกน้ำมันมนต์ประสานกระดูก จากหลวงปู่โทนอีกด้วย
หลวงพ่อจอน เล่าเรียนพระปริยัติธรรมอย่างมุ่งมั่น จนสอบได้นักธรรมชั้นตรี แต่ด้วยหน้าที่ของบุตรที่มีต่อบิดามารดา ต้องลาสิกขาออกมาช่วยงานครอบครัวหาเลี้ยงชีพ
แม้จะออกไปใช้ชีวิตเยี่ยงคฤหัสถ์ แต่ในใจยังระลึกอยู่เสมอว่าสักวันหนึ่งต้องกลับมารับใช้พระศาสนาตามที่ใจตั้งมั่นไว้ให้ได้ เพียงเวลาไม่นาน ก็สมปรารถนา ได้เข้าพิธีอุปสมบทอีกครั้ง ที่วัดกลางดง ต.กลางดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา โดยมี พระครูอนุรักษ์วรันดร เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์ทองย้อย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์นฤนาท เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า วัฑฒจิตโต
หลังจากบวชครั้งนี้ สนใจศึกษาเล่าเรียนในพระธรรมวินัยอย่างจริงจัง สอบได้นักธรรมชั้นเอก จากสำนักเรียนวัดมิตรภาพวนาราม จ.นครราชสีมา ต่อมาได้ฝึกฝนวิปัสสนากัมมัฏฐานควบคู่กับ การศึกษาเล่าเรียนวิทยาคมกับพระอาจารย์ที่เก่งในทางนี้ เคยเดินทางไปวิปัสสนากัมมัฏฐานกับพระอาจารย์ตะเบง ภิกษุสงฆ์ชาวพม่า ซึ่งธุดงค์มาวิปัสสนาอยู่แถบรอยต่อระหว่าง อ.แม่สอด และประเทศพม่าอยู่ระยะหนึ่ง
หลวงพ่อจอน มีโอกาสได้รับถ่ายทอดวิชาความรู้ทางพุทธาคมกับภิกษุชาวพม่ารูปนี้เป็นอย่างมาก นอกจากนั้น ยังได้มีโอกาสรับเอาตำรับการสร้าง เครื่องรางของขลัง การนั่งปรกปลุกเสก วัตถุมงคล ในรูปแบบขอมโบราณ และรูปแบบต่างๆ จากหลวงพ่อจันภูมิ พระเกจิอาจารย์ชาวเมืองพระตะบอง ประเทศกัมพูชา
หลวงพ่อจอน ได้ตั้งปณิธานจะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างถึงที่สุด โดยได้ช่วยพระอาจารย์สุวรรณ วัณณาโภ เจ้าอาวาสรูปแรกพัฒนาบูรณะสำนักฝึกจิตนิมิตธรรม จนกลายเป็นวัดที่สมบูรณ์ ซึ่งก็คือ วัดบุญฤทธิ์ ในปัจจุบันนี้ โดยวัดได้รับวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2539
จากเริ่มแรกมีเพียงกุฏิไม้หลังเดียว ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้ได้รับการพัฒนาขึ้น จนกระทั่งได้รับอนุญาตให้ตั้งเป็นวัด หลังจากสำนักสงฆ์เปลี่ยนเป็นวัดบุญฤทธิ์ เรียบร้อยแล้ว พระอาจารย์สุวรรณจาริกธุดงค์ไปอยู่ที่อื่น หลวงพ่อจอนจึงได้เลื่อนเป็นเจ้าอาวาสรูปต่อมา ซึ่งทำนุบำรุงวัดบุญฤทธิ์ให้การปฏิสังขรณ์และพัฒนาก่อสร้าง อาคารเสนาสนะต่างๆ เรื่อยมา เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2528 จวบจนปัจจุบัน
มีลูกศิษย์ลูกหาเลื่อมใสศรัทธาเป็นจำนวนมาก ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นชาวมาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง เวียดนาม จีนและไต้หวัน วัตถุมงคลประเภท พระเครื่อง และเครื่องรางของขลังที่นิยม อาทิ
หลวงพ่อจอน มรณภาพ
หลวงพ่อจอน วัดบุญฤทธิ์ เมื่อเวลาประมาณ 22.00 น. วันที่ 27 ก.ค. 65 หลวงพ่อจอน มีอาการอาเจียน และถ่ายออกมาเป็นเลือด ทางศิษยานุศิษย์ก็พาจะมาส่งโรงพยาบาบลบำรุงราษฎร์ กทม. นั่งรถกู้ชีพของมูลนิธิมาถึงบริเวณประตูน้ำพระอินทร์ หลวงพ่อจอนมีอาการไม่สู้ดี ทางลูกศิษย์ก็แวะที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ รังสิต แพทย์ช่วย ให้เลือด ปั้มหัวใจ กระตุ้นทุกอย่าง แต่ไม่สามารถช่วยได้และเสียชีวิตอย่างสงบ เวลาประมาณ 07.00 น. เช้าวันที่ 28 กรกฎาคม 2565 หลวงพ่อจอน อายุ 80 ปี 5 เดือน 15 วัน