เปิดประวัติหลวงปู่เก๋ ถาวโร เกจิอาจารย์ชื่อดังในทางพระพุทธศาสนา แห่งวัดปากน้ำ พระเถระที่มีเมตตาธรรม นักพัฒนาทางพระพุทธศาสนา เครื่องรางของขลังและวัตถุมงคล วันนี้ทีมข่าว Thainews Online จะพาทุกท่านทีมีความเชื่อความศรัทธามาเปิด ประวัติหลวงปู่เก๋ ถาวโร จะเป็นอย่างไรบ้าง ไปติดตามกันเลย
ประวัติหลวงปู่เก๋ ถาวโร วัดปากน้ำ พระเกจิชื่อดังด้านการพัฒนา
หลวงปู่เก๋ ถาวโร หรือ พระมงคลนนทวุฒิ ชื่อเดิมคือ เก๋ โพธิ์จั่น เกิดเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2455 ณ บ้านเลขที่ 17/3 หมู่ 5 ต.ไทรม้า อ.เมือง จ.จันทบุรี พระเกจิชื่อดังนักพัฒนา อดีตเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะตำบลบางเขน
เมื่อหลวงปู่เก๋ สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาตอนต้น โรงเรียนวัดไทรม้า และเข้าสู่ร่มเงาพระพุทธศาสนา ด้วยการบวชเป็นสามเณรอยู่นานหลายปี กระทั่งอายุ 17 ปี และได้สึกออกมาช่วยครอบครัวทำนา ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2475 มีอายุครบ 20 ปี ได้เข้าพิธีอุปสมบท ที่วัดโตนด ต.บางกร่าง อ.เมือง จ.นนทบุรี โดยมีพระครูชุ่ม เจ้าอาวาสวัดประชารังสรรค์ ต.บางกร่าง อ.เมือง จ.จันทบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์คำ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการเผื่อน เป็น พระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า ถาวโร แปลว่า ความมั่นคงถาวร และได้อยู่จำพรรษาที่วัดโตนด และมุ่งมั่นศึกษาพระธรรมอยู่ตลอด
พ.ศ.2480 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นโท ต่อมาย้ายไปศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกบาลี ที่วัดเฉลิมพระเกียรติ แต่ศึกษาบาลีได้เพียง 2 ปี พระอาจารย์จุ้ย เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ต.บางเขน อ.เมือง จ.นนทบุรี มรณภาพ ทำให้ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปากน้ำว่างลง ไม่มีใครมาดำรงตำแหน่งแทน ท่านได้รับความไว้วางจากคณะสงฆ์เมืองนนทบุรีให้ย้ายมาดำรงตำแหน่งรักษาการเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482 ก่อนได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดปากน้ำอย่างเป็นทางการ ในเวลา 2 ปีต่อมา กลายเป็นเจ้าอาวาสที่มีอายุพรรษาน้อยที่สุดในสมัยนั้น
หลวงปู่เก๋ ถาวโร เป็นเจ้าสำนักเรียนวัดปากน้ำ ในปี พ.ศ. 2484 และในปี พ.ศ. 2495 เป็นผู้อุปถัมภ์สร้างโรงเรียนวัดปากน้ำพิบูลสงคราม พ.ศ. 2505 เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมประจำสำนักศาสนศึกษาวัดปากน้ำ พ.ศ. 2511 เป็นกรรมการสนามหลวงแผนกธรรม หลวงปู่เก๋ วัดปากน้ำ ให้ความสนับสนุนส่งเสริมการศึกษา ด้วยการจัดตั้งและมอบทุนการศึกษาทั้งในระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาแก่เด็กนักเรียนเป็นประจำทุกปี สำหรับพระภิกษุ-สามเณร จัดรถรับ-ส่งนักเรียนที่สมัครสอบธรรมสนามหลวงเป็นประจำ และถวายปัจจัยแก่ครูสอนพระปริยัติธรรม รวมทั้งมอบเงินอุดหนุนการศึกษาของวัดที่ขาดแคลน
ลำดับงานของหลวงปู่เก๋ในคณะสงSN พ.ศ. 2511 เป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ. 2542 เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะตำบลบางเขน ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ. 2496 เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบลชั้นตรีที่ พระครูนนทกิจพิบูลย์ พ.ศ. 2506 เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท ในราชทินนามเดิม พ.ศ. 2511 เป็นพระครูสัญญาบัตรเทียบผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก ในราชทินนามเดิม พ.ศ. 2519 เป็นพระครูสัญญาบัตรเทียบผู้ช่วยเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นพิเศษ ในราชทินนามเดิม พ.ศ. 2552 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในราชทินนามที่พระมงคลนนทวุฒิ
หลวงปู่เก๋นั้นสามารถเขียนหนังสือขอมได้ มีความชำนาญการด้านงานก่อสร้าง ท่านยังเป็นพระนักปกครองที่มีความเคร่งครัดยิ่ง ได้มีการกำหนดกฎระเบียบภายในวัดอย่างเข้มงวดเป็นไปตามพระธรรมวินัย พระราชบัญญัติคณะสงฆ์และกฎมหาเถรสมาคม และยังมีชื่อเสียงในฐานะพระเกจิอาจารย์เรืองวิทยาคมชื่อดังในด้านพุทธคุณเมตตามหานิยม ได้รับนิมนต์ร่วมพิธีปลุกเสก ในงานพุทธาภิเษกวัตถุมงคลชื่อดังแต่ละรุ่นเป็นประจำ พระเครื่อง เครื่องรางของขลังและวัตถุมงคลชื่อดังของท่านมีหลายรุ่น อาทิ พระสมเด็จเนื้องาแกะ ใต้ฐานตะกรุด 3 ดอก, เหรียญชุดสร้างศาลาการเปรียญปี 2518
เหรียญข้างกระหนกปี 2518 เนื้อเงินและนวโลหะ พระรูปเหมือนซุ้มระฆัง มีวัตถุมงคลอีกหลายรุ่น เช่น บาตรน้ำมนต์ พระปิดตา ตะกรุด พระรูปหล่อตั้งหน้ารถครึ่งนิ้ว พระรูปหล่อตั้งหน้ารถ 1.5 นิ้ว พระบูชา 5 นิ้ว พระบูชา 9 นิ้ว ผ้ายันต์ เป็นต้น และท่านได้ มรณภาพเมื่อวันที่ 07 สิงหาคม พ.ศ. 2560 แต่ถึงแม้ท่านจะมรณภาพไปแล้ว แต่คุณงามความดีและสิ่งที่ท่านได้สร้างไว้ก็ยังคงอยู่ เป็นที่เคารพและเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจสำหรับผู้ที่มีความเชื่อความศรัทธาต่อท่านจนถึงปัจจุบัน