วันอาสาฬหบูชา วันสำคัญ และประวัติความเป็นมา
สำหรับ วันอาสาฬหบูชา เป็น วันหยุดราชการไทย เพราะมีความสำคัญกับคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธ เนื่องจากเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นครั้งแรก แก่ปัญจวัคคีย์ เรียกว่า “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” วันอาสาฬหบูชาตรงกับวันเพ็ญเดือน 8 และถือเป็นวันที่มีพระรัตนตรัยครบบริบูรณ์ คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ซึ่งในปีนี้ วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันที่ 1 สิงหาคม 2566 นั่นเอง
ประวัติวันอาสาฬหบูชา
วันอาสาฬหบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ หรือ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศ พระศาสนาเป็นครั้งแรก โดยแสดงปฐมเทศนา คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เป็นผลให้เกิดมีพระสาวกรูปแรกขึ้นในพระพุทธศาสนา จนถือได้ว่าเป็นวันแรกที่มีพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ ครบเป็นองค์พระรัตนตรัย
ปฐมเทศนา ของพระพุทธเจ้า ประกอบด้วยเนื้อหา หลักธรรม 4 ประการ ที่เรียกว่า อริยสัจจ์ 4 ประการ ได้แก่
1. ทุกข์ คือ สภาพที่ทนได้ยาก สภาพที่ไม่เป็นสุข
2. สมุทัย คือ เหตุแห่งทุกข์
3. นิโรธ คือ การดับทุกข์
4. มรรค คือ ทางไปสู่การดับทุกข์
หลักธรรมของอริยสัจจ์ 4 ประการนี้ เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ชี้ให้เห็นถึงความจริงของชีวิตและหนทางแห่งการหลุดพ้นจากทุกข์
สิ่งที่ชาวพุทธควรทำใน วันพระใหญ่ หรือ วันอาสาฬหบูชา ก็คือ
1. ตักบาตรในตอนเช้า
2. เวียนเทียนในตอนเย็น
3. ฟังพระธรรมเทศนา
4. ถวายสังฆทาน
5. ปฏิบัติธรรม
วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธที่ชาวพุทธทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ พุทธศาสนิกชนควรปฏิบัติธรรมเพื่อระลึกถึงวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาและเพื่อศึกษาหลักธรรมของพระพุทธศาสนา