จากกรณีที่ ทัณฑสถานหญิงกลาง และเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร มีการคุมขังผู้ต้องหา 18 รายในคดีบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ประกอบด้วย ผู้ต้องหาหญิง 7 ราย ผู้ต้องหาชาย 11 ราย โดยทั้งหมดอยู่ในแดนควบคุมระหว่างพิจารณาคดี
นางกนกวรรณ จิ๋วเชื้อพันธุ์ ผอ.กองทัณฑวิทยา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงกลาง และในฐานะรองโฆษกกรมราชทัณฑ์ เผยถึงระเบียบการแต่งกายของผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีทั้งขังชายและขังหญิง เมื่อต้องมีการเบิกตัวขึ้นศาล ว่า ปกติแล้วการแต่งกายของผู้ต้องขังชายและผู้ต้องขังหญิงที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี เมื่ออยู่ในเรือนจำ/ทัณฑสถาน หรือเมื่อต้องเบิกตัวขึ้นสู่ชั้นศาล บรรดาผู้ต้องขังจะสวมชุดสีลูกวัว หรือสีน้ำตาล
แต่ปัจจุบันนี้เนื่องด้วยนโยบายของ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม และนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 67 ได้มีข้อสั่งการให้เรือนจำ/ทัณฑสถาน 143 แห่งทั่วประเทศ หากมีการเบิกตัวผู้ต้องขังระหว่างฯ ขึ้นสู่ชั้นศาลให้แต่งกายด้วยชุดสีอื่นที่ไม่ใช่ชุดสีลูกวัวเดิม โดยไม่ได้เป็นข้อบังคับแต่อย่างใด ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้บัญชาการเรือนจำและผู้อำนวยการทัณฑสถานต่าง ๆ ที่จะคำนึงถึงความเหมาะสม
ดังนั้น เรือนจำนำร่องที่แรกอย่าง "เรือนจำพิเศษมีนบุรี" ได้มีแนวทางปฏิบัติเรื่องระเบียบการแต่งกายของผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีเมื่อต้องนำตัวขึ้นศาล ดังนี้
ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี (ชาย) สวมเสื้อยืดคอกลมหรือเสื้อคอปกสีเหลือง และกางเกงวอร์มสีดำ ขณะที่ผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี (หญิง) สวมเสื้อเชิ้ตแขนสั้นสีครีม/สีเหลือง เสื้อยืดคอกลมสีเหลือง/สีครีม และสวมใส่กระโปรงสีดำ-น้ำตาล
ทั้งนี้ วัตถุประสงค์เพื่อเป็นการลดช่องว่างเรื่องสิทธิมนุษยชนระหว่างอยู่ในพื้นที่สาธารณะ ที่จำเป็นต้องแยกความแตกต่างระหว่างผู้ต้องขังเด็ดขาด ออกจากผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี และการแต่งกายดังกล่าว ผู้ต้องขังจะต้องเปลี่ยนชุดตั้งแต่ภายในเรือนจำ/ทัณฑสถาน ให้เรียบร้อยก่อนไปถึงศาล ซึ่งเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะต้องทำหนังสือเรียนแจ้งต่อศาลเพื่อรับทราบ และหากในกรณีที่เป็นเรือนจำ/ทัณฑสถานในต่างจังหวัด ก็จะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจให้รับทราบเช่นเดียวกัน
รองโฆษกกรมราชทัณฑ์ ยังเผยถึงการใส่เครื่องพันธนาการผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี หากต้องเดินทางไปศาล ว่า ปัจจุบันนี้ทัณฑสถานหญิงกลางไม่ได้มีการใส่เครื่องพันธนาการต่อผู้ต้องขังหญิงแล้ว ส่วนเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้คุมราชทัณฑ์ นอกจากนี้ ในกรณีของเรือนจำหรือทัณฑสถานแห่งอื่น ก็จะต้องอาศัยดุลพินิจของผู้คุมราชทัณฑ์ในการพิจารณา เพราะว่าอำนาจในส่วนของการจะใส่เครื่องพันธนาการนั้นเป็นอำนาจโดยตรงของผู้คุมราชทัณฑ์ เนื่องจาก 1 ผู้คุม จะต้องดูแลผู้ต้องขังถึง 2 ราย ดังนั้น หากเป็นกรณีที่มีผู้ต้องขังจำนวนเยอะกว่าผู้คุม อาจจะต้องไปพิจารณาในอัตราโทษ ว่าโทษน้อยหรือโทษสูง หรือพฤติการณ์ว่ามีความเสี่ยงจะก่อเหตุหลบหนีหรือไม่ หากมีความเสี่ยง ผู้คุมราชทัณฑ์ก็จะพิจารณาในการใส่เครื่องพันธนาการ