นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึง ปัจจุบันมีรายงานข่าวพบผู้สูงอายุที่ใส่ฟันปลอม เกิดแตกชำรุดและเผลอกลืนลงไป ซึ่งอันตรายเป็นอย่างมาก หากชิ้นส่วนของฟันปลอมหลุดลงไปในช่องท้อง หลอดลม หรือทางเดินหายใจ ดังนั้นหากฟันปลอมชำรุด ขยับ แตก หัก หลวมหรือหลุดง่าย ไม่ควรใช้งานต่อ ควรปรึกษาทันตแพทย์เพื่อทำการแก้ไข ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ หรือซ่อมแซมแก้ไขฟันปลอมด้วยตนเอง และควรได้รับการดูแลรักษาจากทันตแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญจากสถานพยาบาลที่ได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้อง
ทันตแพทย์หญิงสุมนา โพธิ์ศรีทอง ทันตแพทย์ชำนาญการพิเศษ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันทันตกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า การใส่ฟันปลอม เพื่อทดแทนการสูญเสียฟันธรรมชาติที่หายไป ฟันปลอมช่วยในการบดเคี้ยวอาหารได้ดียิ่งขึ้นและยังช่วยสร้างความมั่นใจในด้านความสวยงาม การพูด การใช้ฟันปลอมควรใช้อย่างระมัดระวัง ไม่ควรเคี้ยวอาหารที่แข็งหรือเหนียวจนเกินไป ควรทำความสะอาดฟันปลอมทุกครั้งหลังรับประทานอาหารและก่อนนอน โดยใช้แปรงสีฟันขนนุ่มร่วมกับยาสีฟันหรือสบู่ ก่อนนอนควรถอดฟันปลอมออกแล้วแช่น้ำสะอาด ไม่ควรใส่ฟันปลอมนอน
นอกจากนี้การใส่ฟันปลอมมีความเสี่ยงที่จะเกิดฟันผุ และเหงือกอักเสบ หากไม่ได้ดูแลเรื่องการแปรงฟันและการทำความสะอาดฟันปลอมอย่างเหมาะสม อีกทั้งเมื่อใช้ฟันปลอมไประยะหนึ่ง ฟันปลอมอาจหลวมเนื่องจากมีการแตกหักของฐานฟันปลอม ตะขอหักหรือตะขออ้า ไม่รัดแน่นเหมือนเดิม หรือกระดูกใต้ฐานฟันปลอมมีการละลายตัว ทำให้ฟันปลอมหลวมและกระดกได้ ใช้งานแล้วอาจมีอาการเจ็บบริเวณเหงือกหรือฟัน จึงควรพบทันตแพทย์เมื่อมีอาการเจ็บ หรือฟันปลอมหลวมหลุด กระดก เพื่อแก้ไขฟันปลอม ซึ่งบางรายต้องเสริมฐานฟันปลอมหรือปรับตะขอให้แน่นขึ้น หรืออาจจำเป็นต้องทำใหม่ ถ้ามีฟันที่ถูกถอนออกไปมากขึ้น ดังนั้นจึงควรพบทันตแพทย์ทุก 3-6 เดือน เพื่อตรวจฟันว่ามีฟันผุ มีหินปูนและเหงือกอักเสบหรือไม่ และตรวจเช็คฟันปลอมว่ายังอยู่ในสภาพที่ดีหรือไม่ เพื่อรับการรักษาและรับคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลช่องปากและแก้ไขฟันปลอมอย่างถูกวิธี