เมืองไทยต้องเผชิญกับอากาศร้อนอบอ้าว หลายๆคนอาจจะเคยชิน และสามารถออกไปเผชิญกับแสงแดด ทำกิจกรรมกลางแจ้งได้ โดยไม่ป้องกันตัวเองและไม่คำนึงถึงอันตรายใดๆ แต่รู้หรือไม่ว่า แสงแดดจัดๆ นั้นไม่เพียงแต่จะทำให้เรารู้สึกร้อน แต่ยังสามารถส่งผลกระทบกับระบบต่างๆ และเป็นอันตรายต่อเราได้เช่นกัน ซึ่งอันตรายที่เราเห็นได้บ่อยมีดังนี้
โรคลมแดด หรือ Heat Stroke
โรคลมแดด หรือที่คุ้นหูกันว่า ฮีทสโตรค (Heat Stroke) คือภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นจากการเผชิญกับอากาศร้อนจัด ซึ่งร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ตามปกติ ไม่สามารถขับเหงื่อออกทางผิวหนังได้ ทำให้ผิวหนังแดงและแห้งจัด หัวใจเต้นเร็ว บางคนอาจมีอาการทางสมองร่วมด้วย เช่น สับสน หงุดหงิด เพ้อ หรือเห็นภาพหลอน ฮีทสโตรคยังอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน อย่างตับและไตวาย กล้ามเนื้อสลายตัว มีลิ่มเลือดอุดตันในกระแสเลือด และร้ายแรงที่สุดคืออาการช็อกหมดสติ
อาการเพลียแดด
อาการเพลียแดดมักเกิดกับผู้ที่เผชิญกับอากาศร้อนประมาณ 40-54 องศาเซลเซียส เป็นเวลานานๆ รวมไปถึงผู้ที่ทำงานหรือออกกำลังกายอย่างหนักจนร่างกายสูญเสียเหงื่อปริมาณมาก ส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดแย่ลง เลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลง เกิดอาการวิงเวียน เมื่อยล้า มีอาการปวดบีบที่กล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว ผิวซีด และเหงื่อออกมากผิดปกติ แม้อาการเพลียแดดจะไม่ถึงขั้นทำให้ช็อกหมดสติ แต่หากมีอาการขณะทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ทำงานกับเครื่องจักร ปั่นจักรยานกลางแจ้ง หรือขับรถ ก็ก่อให้เกิดอันตรายได้เช่นกัน
ผดร้อน
สามารถทำให้ต่อมเหงื่อใต้ผิวหนังอุดตัน จนร่างกายไม่สามารถขับเหงื่อออกมาได้ตามปกติ เกิดเป็นผื่นคันลักษณะบวมแดง เรียกว่า ผดร้อน มักเกิดในบริเวณข้อพับและขาหนีบ รวมถึงผิวหนังที่ได้รับการเสียดสีหรืออยู่ใต้ร่มผ้า ผดร้อนอาจรุนแรงถึงขั้นอักเสบ มีอาการแสบ มีหนอง ต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณรักแร้ คอ หรือขาหนีบ บางคนอาจมีอาการไข้ร่วมด้วย และอาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่รุนแรงตามมาได้
ผิวหนังเกรียมแดด
แม้จะไม่ได้เกิดจากอากาศร้อนโดยตรง แต่แสงแดดจัดๆ ในช่วงหน้าร้อนนี้สามารถทำให้ผิวหนังของเราไหม้เกรียมได้ นอกจากนั้น แม้แสงแดดจะมีวิตามิน E ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ถ้าผิวหนังของเราต้องรับแสงแดดจัดๆ เป็นเวลานาน รังสี UV จากแดด จะทำให้ DNA ภายในเซลล์ผิวหนังของเราเกิดการกลายพันธุ์ จนมีการเจริญเติบโตและแบ่งเซลล์แบบผิดปกติ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนัง
เราควรหาวิธีในการผ่อนคลาย และหลีกเลี่ยงจากการอยู่ในบริเวณที่มีอุณหภูมิสูงจัด เพื่อป้องกันการเกิดอันตรายดังกล่าว ในส่วนของวิธีดูแลตัวเองในวันที่อากาศร้อนจัดๆ เราไปดูพร้อมกันเลยว่าจะมีอะไรบ้าง
1.ควรดื่มน้ำทดแทนเหงื่อที่เสียไป
เมื่อต้องเผชิญกับอากาศร้อนจัด เหงื่อจะถูกขับออกจากร่างกายเพื่อรักษาอุณหภูมิร่างกายให้คงที่ ดังนั้นจึงควรดื่มน้ำทดแทนเหงื่อที่เสียไป โดยปกติคนเราควรดื่มน้ำวันละประมาณ 6-8 แก้ว แต่ในหน้าร้อนแบบนี้ เราควรดื่มน้ำเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่จำเป็นต้องดื่มครั้งละมากๆ แนะนำให้จิบน้ำทีละนิด แต่จิบบ่อยๆ การจิบน้ำตลอดวัน จะช่วยให้ร่างกายรู้สึกสดชื่นและไม่อ่อนเพลียจากอากาศและการเสียเหงื่อ และหลีกเลี่ยงน้ำแข็งหรือน้ำเย็นจัดๆ
2.หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และคาเฟอีน
อากาศร้อนจัด การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และคาเฟอีนผสมอยู่ จะทำให้ปัสสาวะบ่อยครั้งมากกว่าปกติ เพราะร่างกายต้องการขับสารเหล่านี้ออก จึงอาจทำให้คุณเสียน้ำในร่างกายมากกว่าเดิม หากไม่ดื่มน้ำเปล่าทดแทนก็อาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำได้ นอกจากนั้นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อย่างเหล้า เบียร์ หรือไวน์ จะทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น และอากาศร้อนๆ ยังส่งผลให้แอลกอฮอล์ซึมเข้ากระแสเลือดได้ไว กระตุ้นให้หัวใจสูบฉีดเลือดอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการช็อกได้ ถ้าอยากหาเครื่องดื่มคลายร้อน แทนที่จะจิบเบียร์เย็นๆ ลองเปลี่ยนเป็นน้ำสมุนไพรดับร้อนอย่างเก็กฮวย กระเจี๊ยบ ลำไย หรือเมนูสุดฮิตจากเฮลล์บลูบอยอย่างน้ำแดงมะนาวโซดา ก็ช่วยดับร้อนแถมยังทำให้สดชื่นกระปรี้กระเปร่าอีกด้วย
3.สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี
สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดีก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยระบายความร้อนจากร่างกาย ช่วยให้ไม่อับเหงื่อ และลดการเกิดผดร้อนได้ เสื้อผ้าที่เหมาะสมกับวันที่อากาศร้อน ควรเป็นเสื้อสีอ่อนที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติ อย่างฝ้ายหรือลินิน และควรหลีกเลี่ยงเสื้อผ้าสีเข้มที่ดูดความร้อนได้ดี และเสื้อผ้าที่รัดแน่นพอดีตัวจนเกินไปจะทำให้อึดอัดและร่างกายระบายเหงื่อออกมาได้ยาก
4.หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านในวันที่อากาศร้อนจัด
อากาศร้อนจัดอย่างประเทศไทยเรา ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้ง เพราะนอกจากจะทำให้เกิดฮีทสโตรกได้แล้ว ผิวหนังที่ได้รับยูวีจากแสงแดดนานๆ ยังช่วยเพิ่มเปอร์เซ็นต์การเกิดมะเร็งผิวหนังได้อีกด้วย ทางที่ดีหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง ออกกำลังกายในที่ร่ม หากต้องเดินทางก็แนะนำให้พกร่มกันยูวีติดตัวและพยายามอย่าเดินกลางแดดนานๆ หรือถ้าอยากช้อปปิ้งก็แนะนำให้ช้อปออนไลน์ สะดวกและสบายกว่า ไม่ต้องออกไปเผชิญกับอากาศร้อนๆ อีกด้วยนะคะ
5.จัดบ้านให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ
อากาศร้อนๆ บวกกับบ้านที่ทึบตันและไม่ระบายอากาศ ยิ่งทำให้ผู้อยู่อาศัยร้อนอบอ้าวจนหงุดหงิดได้ ลองหามูลี่หรือผ้าม่านสีอ่อนๆ สำหรับบังแดดมาติดที่บริเวณหน้าต่าง หรือถ้าพอมีพื้นที่รอบบ้าน อาจปลูกต้นไม้เพื่อให้ร่มเงาก็ได้เช่นกัน และถ้าไม่อยากให้อากาศภายในบ้านอบอ้าว พยายามอย่าตั้งเฟอร์นิเจอร์ที่ขวางทิศทางลม และเปิดหน้าต่างให้มีอากาศถ่ายเทบ้างก็ช่วยให้อากาศในบ้านสดชื่นขึ้นได้
7.อากาศร้อนจัด ก็ไม่ควรอยู่แต่ในห้องแอร์
การอยู่ในห้องแอร์ฉ่ำๆ ทั้งวัน ก็อาจทำให้ป่วยได้ เพราะห้องแอร์ที่ปิดตลอดเวลาและไม่มีอากาศหมุนเวียน จะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค เราแนะนำว่าให้คุณลองปิดแอร์ แล้วเปิดหน้าต่างเพื่อระบายอากาศ ให้ห้องหรือบ้านของคุณมีอากาศถ่ายเท พัดพาเอาเชื้อโรคออกไป แล้วเปิดแอร์เฉพาะตอนกลางคืน กลางวันก็เปลี่ยนมาใช้พัดลมบรรเทาความร้อน