รู้จัก "พันธุ์ยางพารา" ให้ผลผลิตน้ำยางสูง ที่สถาบันวิจัยยางแนะนำ

01 มิถุนายน 2565

สถาบันวิจัยยาง เผย "พันธุ์ยางพาราแนะนำ" ซึ่งเป็นพันธุ์ยางพาราที่ให้ผลผลิตน้ำยางสูง ที่สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางแนะนำ

เกษตรยั่งยืนในวันนี้มาพูดกันถึงเรื่อง ยางพารา ทีมงานไทยนิวส์ จะพาไปแนะนำให้รู้จัก "พันธุ์ยางแนะนำ" พันธุ์ยางพาราที่ให้ผลผลิตน้ำยางสูง โดย สถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร ได้จัดทำคำแนะนำพันธุ์ยางแก่เกษตรกรทุก ๆ 4 ปี โดยใช้ ข้อมูลจากผลงานวิจัยการปรับปรุงพันธุ์ยาง เพื่อแนะนำพันธุ์ยางที่ให้ผลผลิตน้ำยางสูงเป็นหลักตั้งแต่ปี 2504 เป็นต้นมา 

แต่เนื่องจากปัจจุบันไม้ยางพารามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมไม้ ของประเทศ ทำให้เกษตรกรได้รับผลตอบแทนจากผลผลิตเนื้อไม้เพิ่มขึ้น โดยแบ่งพันธุ์ยางแนะนำ คือ พันธุ์ยางที่ให้ผลผลิตน้ำยางสูง

 

รู้จัก "พันธุ์ยางพารา" ให้ผลผลิตน้ำยางสูง ที่สถาบันวิจัยยางแนะนำ

 

รายละเอียดพันธุ์ยางพาราที่สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางแนะนำ  มีรายละเอียดดังนี้

พันธุ์ยางผลผลิตน้ำยางสูง

สถาบันวิจัยยาง 251 (RRIT 251)

แม่ - พ่อพันธุ์ ต้นกล้ายางจากแปลงเอกชนในจังหวัดสงขลา

ลักษณะประจำพันธุ์ ใบมีรูปร่างป้อมปลายใบ ขอบใบเป็นคลื่น ใบมีสีเขียว ฉัตรใบมีขนาดใหญ่เป็นรูปกรวย ในช่วงยางอ่อนลำต้นคด แตกกิ่งมากทั้งกิ่งขนาดกลางและขนาดใหญ่ การแตกกิ่งไม่สมดุล ทรงพุ่มมีขนาดใหญ่เป็นรูปกลม เริ่มผลัดใบค่อนข้างช้า

ลักษณะทางการเกษตร ระยะก่อนและระหว่างกรีดเจริญเติบโตปานกลาง ขนาดลำต้นทั้งแปลงมีความสม่ำเสมอดี ทำให้มีจำนวนต้นเปิดกรีดได้มาก เปลือกเดิมและเปลือกงอกใหม่หนาปานกลาง ผลผลิตเนื้อยาง 10 ปีกรีดเฉลี่ย 457 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี  สูงกว่าพันธุ์ RRIM 600 ร้อยละ 57 มีจำนวนต้นเปลือกแห้งน้อย ต้านทานโรคใบร่วงที่เกิดจากเชื้อไฟทอปโทรา โรคราแป้ง โรคใบจุดนูน และโรคราสีชมพูระดับปานกลาง ต้านทานโรคเส้นดำระดับดี และต้านทานลมระดับปานกลาง

ลักษณะดีเด่น ผลผลิตเนื้อยางสูงมาก  มีจำนวนต้นเปิดกรีดได้มาก  ต้านทานโรคเส้นดำในระดับดี มีจำนวนต้นเปลือกแห้งน้อย

ข้อจำกัด/ข้อควรระวัง ในระยะยางอ่อน ต้นยางที่ปลูกในพื้นที่ฝนตกชุก ทั้งในแปลงกิ่งตาและแปลง ปลูกจะอ่อนแอต่อโรคใบจุดนูนมาก

พื้นที่แนะนำ ปลูกได้ในพื้นที่ทั่วไป ยกเว้นพื้นที่ลาดชัน พื้นที่ที่มีหน้าดินตื้น พื้นที่ที่มีระดับน้ำใต้ดินสูง และพื้นที่ลมแรง เนื่องจากทรงพุ่มมีขนาดใหญ่ แตกกิ่งไม่สมดุล

 

รู้จัก "พันธุ์ยางพารา" ให้ผลผลิตน้ำยางสูง ที่สถาบันวิจัยยางแนะนำ

สถาบันวิจัยยาง 226

แม่ - พ่อพันธุ์ PB 5/51 X RRIM 600

ลักษณะประจำพันธุ์ ใบมีรูปร่างป้อมปลายใบ สีเขียว ฉัตรใบลักษณะเป็นรูปกรวย มีขนาดเล็ก ลักษณะลำต้นตรง กิ่งมีขนาดปานกลางและแตกกิ่งเล็กจำนวนมาก ทรงพุ่มมีขนาดปานกลาง เป็นรูปพัด เริ่มผลัดใบเร็ว

ลักษณะทางการเกษตร ระยะก่อนและระหว่างกรีดเจริญเติบโตปานกลาง ความสม่ำเสมอของขนาด ลำต้นทั้งแปลงปานกลาง เปลือกเดิมบาง เปลือกงอกใหม่หนาปานกลาง ผลผลิตเนื้อยาง 8 ปีกรีดเฉลี่ย 346 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี สูงกว่าพันธุ์ RRIM 600 ร้อยละ 37 มีจำนวนต้นเปลือกแห้งน้อย ต้านทานโรคใบร่วงที่เกิดจากเชื้อไฟทอปโทราและโรคเส้นดำระดับดี ต้านทานโรคใบจุดนูนและโรคราสีชมพู ระดับปานกลาง ค่อนข้างอ่อนแอต่อโรคราแป้งและต้านทานลมระดับปานกลาง

ลักษณะดีเด่น ผลผลิตเนื้อยางสูง ต้านทานโรคใบร่วงที่เกิดจากเชื้อไฟทอปโทรา และโรคเส้นดำระดับดี มีจำนวนต้นเปลือกแห้งน้อย

ข้อจำกัด/ข้อควรระวัง ค่อนข้างอ่อนแอต่อโรคราแป้ง

พื้นที่แนะนำ ปลูกได้ในพื้นที่ทั่วไป และสามารถปลูกได้ในพื้นที่ที่มีหน้าดินตื้น พื้นที่ที่มีระดับน้ำใต้ดินสูง

 

รู้จัก "พันธุ์ยางพารา" ให้ผลผลิตน้ำยางสูง ที่สถาบันวิจัยยางแนะนำ
 

BPM 24

แม่ - พ่อพันธุ์ GT 1 X AVROS 1734
ลักษณะประจำพันธุ์ ใบมีรูปร่างป้อมกลางใบ สีเขียว ฉัตรใบลักษณะเป็นรูปกรวยตัด ลักษณะลำต้นตรง แตกกิ่งมาก กิ่งมีขนาดปานกลาง มีการทิ้งกิ่งน้อย พุ่มใบค่อนข้างทึบ ทรงพุ่มมีขนาดปานกลางเป็นรูปกรวย เริ่มผลัดใบเร็วและทยอยผลัดใบ

ลักษณะทางการเกษตร ระยะก่อนและระหว่างกรีดเจริญเติบโตปานกลาง ความสม่ำเสมอของลำต้น ทั้งแปลงปานกลาง เปลือกเดิมหนามาก เปลือกงอกใหม่หนาปานกลาง เปลือกเรียบและกรีดง่าย ผลผลิตเนื้อยางแห้ง 10 ปี กรีดเฉลี่ย 335 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี สูงกว่าพันธุ์ RRIM 600 ร้อยละ 41 มีจำนวนต้นเปลือกแห้งปานกลาง ต้านทานโรคใบร่วงที่เกิดจากเชื้อไฟทอปโทราและเส้นดำระดับดี ต้านทาน โรคราแป้ง โรคใบจุดนูนและโรคราสีชมพูระดับปานกลาง ต้านทานลมระดับ ปานกลาง

ลักษณะดีเด่น ผลผลิตเนื้อยางพาราสูงมากในระยะแรกของการเปิดกรีด เปลือกหนา เรียบทำให้ กรีดง่าย ความต้านทานโรคส่วนใหญ่อยู่ในระดับดี  โดยเฉพาะโรคใบร่วงที่เกิดจากเชื้อไฟทอปโทรา และโรคเส้นดำ

ข้อจำกัด/ข้อควรระวัง ไม่แนะนำการกรีดที่มีวันกรีดติดต่อกัน เพราะจะทำให้ผลผลิตลดลงและต้นยางพาราแสดงอาการเปลือกแห้งได้ง่าย ในระยะยางอ่อนจะแตกกิ่งเล็กๆ จำนวนมาก ลำต้นและกิ่งจะมีรอยแตกน้ำยางไหล และลักษณะนี้จะปรากฏมากขึ้น เมื่อปลูกในสภาพพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของดินต่ำและมีปริมาณฝนน้อย

พื้นที่แนะนำ ปลูกได้ในพื้นที่ทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรงของโรค ใบร่วงไฟทอปโทราและโรคเส้นดำ และสามารถปลูกได้ใน พื้นที่ลาดชัน พื้นที่ที่มีหน้าดินตื้น พื้นที่ที่มีระดับน้ำใต้ดินสูง

 

รู้จัก "พันธุ์ยางพารา" ให้ผลผลิตน้ำยางสูง ที่สถาบันวิจัยยางแนะนำ


RRIM 600


แม่ - พ่อพันธุ์ Tjir 1 X PB 86

ลักษณะประจำพันธุ์ ใบมีรูปร่างป้อมปลายใบ สีเขียวอมเหลือง ลักษณะฉัตรใบเป็นรูปกรวย มีขนาดเล็ก ในระยะ 2 ปีแรกต้นยางจะมีลักษณะลำต้นตรงแต่เรียวเล็ก การแตกกิ่งช้า  ลักษณะการแตกกิ่งเป็นมุมแหลม กิ่งที่แตกค่อนข้างยาว ทรงพุ่มมีขนาดปานกลางเป็นรูปพัด เริ่มผลัดใบเร็ว

ลักษณะทางการเกษตร ในระยะก่อนเปิดกรีดและระหว่างกรีดการเจริญเติบโตปานกลาง เปลือกเดิมบาง เปลือกงอกใหม่หนาปานกลาง  ผลผลิตระยะแรกอยู่ในระดับปานกลาง  แต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปีต่อมาให้ผลผลิตเนื้อยาง 10 ปีกรีดเฉลี่ย 289 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี อ่อนแอมากต่อโรคใบร่วงที่เกิดจากเชื้อไฟทอปโทราและโรคเส้นดำ ต้านทานโรคราแป้งและโรคใบจุดนูนระดับปานกลาง อ่อนแอต่อโรคราสีชมพู ต้านทานลมระดับปานกลาง

ลักษณะดีเด่น การปรับตัวและให้ผลผลิตได้ดีในเกือบทุกพื้นที่ ทนทานต่อการกรีดถี่ได้มากกว่าพันธุ์อื่นๆ และมีจำนวนต้นแสดงอาการเปลือกแห้งน้อย

ข้อจำกัด/ข้อควรระวัง อ่อนแอมากต่อโรคใบร่วงที่เกิดจากเชื้อไฟทอปโทรา โรคเส้นดำ และอ่อนแอต่อโรคราสีชมพู เปลือกเดิมบาง

พื้นที่แนะนำ ปลูกได้ในพื้นที่ทั่วไป ยกเว้นในพื้นที่ที่มีโรคใบร่วงที่เกิดจากเชื้อไฟทอปโทรา เส้นดำ และโรคราสีชมพูระบาดรุนแรง พื้นที่ที่มีหน้าดินตื้น และพื้นที่ที่มีระดับน้ำใต้ดินสูง