มะนาว มีผลสีเขียวลูกกลมๆ เมื่อสุกเปลือกจะเปลี่ยนสีเป็นสีเหลือง มะนาวมีสรรพคุณมากมาย มะนาวเป็นผลไม้ที่มีกรดอินทรีย์หลายชนิด เช่น กรดซีตริก กรดมาลิก วิตามินซี จากน้ำมะนาว ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากผิวมะนาว มีวิตามินเอและซี ทั้งยังมีธาตุแคลเซียมและฟอสฟอรัสสูงกว่าในน้ำมะนาวอีกด้วย มะนาวมีประโยชน์ใช้เป็นยาสมุนไพร ขับเสมหะ แก้ไอ เลือดออกตามไรฟัน เหงือกบวม ได้อีกด้วยค่ะ
ลักษณะทั่วไป
ผลมะนาว โดยทั่วไปมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 – 4.5 เซนติเมตร ต้นมะนาวเป็นไม้พุ่มเตี้ย สูงเต็มที่ราว 5 เมตร ก้านมีหนามเล็กน้อย มักมีใบดก ใบยาวเรียวเล็กน้อย คล้ายใบส้ม ส่วนดอกสีขาวอมเหลือง ปกติจะมีดอกผลตลอดทั้งปี แต่ในช่วงหน้าแล้ง จะออกผลน้อย และมีน้ำน้อย
มะนาวเป็นพืชพื้นเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้คนในภูมิภาคนี้รู้จัก และใช้ประโยชน์จากมะนาวมาช้านาน น้ำมะนาวนอกจากใช้ปรุงรสเปรี้ยวในอาหารหลายประเภทแล้ว ยังนำมาใช้เป็นเครื่องดื่ม ผสมเกลือ และน้ำตาล เป็นน้ำมะนาว ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศทั่วโลก นอกจากนี้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์บางชนิดยังนิยมฝานมะนาวเป็นชิ้นบางๆ เสียบไว้กับขอบแก้ว เพื่อใช้แต่งรส
ในผลมะนาวมีน้ำมันหอมระเหยถึง 7% แต่กลิ่นไม่ฉุนอย่างมะกรูด น้ำมะนาวจึงมีประโยชน์สำหรับใช้เป็นส่วนผสมน้ำยาทำความสะอาด เครื่องหอม และการบำบัดด้วยกลิ่น (aromatherapy) หรือน้ำยาล้างจาน ส่วนคุณสมบัติที่สำคัญ ทว่าเพิ่งได้ทราบเมื่อไม่ช้านานมานี้ (ราวคริสต์ศตวรรษที่ 19) ก็คือ การป้องกันและรักษาโรคลักปิดลักเปิด ซึ่งเคยเป็นปัญหาของนักเดินเรือมาช้านาน ภายหลังได้มีการค้นพบว่าสาเหตุที่มะนาวสามารถช่วยป้องกันโรคลักปิดลักเปิด เพราะในมะนาวมีไวตามินซีเป็นปริมาณมาก
มะนาวมีน้ำมันหอมระเหย ที่ให้กลิ่นสดชื่น เพราะมีส่วนประกอบของสารซิโตรเนลลัล (Citronellal) ซิโครเนลลิล อะซีเตต (Citronellyl Acetate) ไลโมนีน (Limonene) ไลนาลูล (Linalool) เทอร์พีนีออล (Terpeneol) ฯลฯ รวมทั้งมีกรดซิตริค (Citric Acid) กรดมาลิก (Malic Acid) และกรดแอสคอร์บิก (Ascorbic Acid) ซึ่งถือเป็นกรดผลไม้ (AHA : Alpha Hydroxy Acids) กลุ่มหนึ่ง เป็นที่ยอมรับว่าช่วยให้ผิวหน้าที่เสื่อมสภาพหลุดลอกออกไป พร้อมๆ กับช่วยกระตุ้นการสร้างเซลล์ใหม่ๆ ช่วยให้รอยด่างดำหรือรอยแผลเป็นจางลง
พันธุ์ที่นิยมปลูกในประเทศไทย
มะนาวพันธุ์อื่น ๆ ได้แก่ มะนาวตาฮิติ, มะนาวหวาน, มะนาวปีนัง, มะนาวโมฬี, มะนาวพม่า, มะนาวเตี้ย เป็นต้น (มะนาวบางพันธุ์อาจเรียกได้หลายชื่อ แต่ในที่นี้ไม่ได้สืบค้นเพื่อจำแนกเอาไว้)
มะนาวกระถางปลูกกินได้ตลอดทั้งปี
มะนาวทุกพันธุ์สามารถปลูกลงกระถางได้ผลดีหมด เช่น พันธุ์แป้นรำไพ แป้นจริยา แต่ถ้าเลือกพันธุ์ที่ทนโรคแคงเกอร์ได้จะดีมาก เช่น พันธุ์พิจิตร 1, พันธุ์ตาฮิติ
วิธีการปลูก
การปลูกมะนาวกระถางหรือในวงบ่อซีเมนต์มีพื้นที่ใน การหาอาหารจำกัด ดินผสมต้องเป็นดินดี ร่วนซุย ไม่เหนียวจัดมีอินทรีวัตถุสูง เช่น ใช้ดินร่วนผสมปุ๋ยหมักในอัตรา 3 : 2 หรือ ดินร่วนผสมปุ๋ยคอก อัตรา 3 : 1 ผสมให้เข้ากันแล้วนำใส่ กระถางที่มีรูให้น้ำไหลออก ไม่เช่นนั้นน้ำจะขัง รากเน่าได้ง่าย ทั้งยังป้องกันไม่ให้รากไชลงดิน ซึ่งจะทำให้การบังคับให้มะนาวออกดอกนอกฤดูได้ง่าย
เลือกพันธุ์เลือกวัสดุปลูกลงกระถาง
การเลือกแหล่งกิ่งพันธุ์ให้ซื้อจากสวนที่เห็นต้นพ่อแม่พันธุ์ที่สมบูรณ์ ไม่มีโรค กิ่งตอนหรือกิ่งปักชำต้องมีอายุพอดีไม่แก่จนใบเหลืองและรากขด ก่อนปลูกให้ตัดแต่งกิ่งที่ไม่สมบูรณ์ออกให้หมด
การปลูกลงกระถาง นำกิ่งตอนแผ่ราก กดดินให้ดินจับรากให้แน่น ใช้ไม้ไผ่ปักค้ำ เพื่อกันลมโยก นำเศษหญ้าฟางข้าวหรือวัสดุคลุมหน้าดินในกระถางแล้วรดน้ำให้ชุ่ม
การปฏิบัติดูแลรักษา
การจัดการดูแลก่อนการออกดอก ควรวางกระถางในที่ที่มีแสงแดดส่องทั่ว 100 % เมื่อมะนาวเริ่มมีใบอ่อนอาจจะมีหนอนชอนใบมารบกวน ให้พ่นปิโตรเลียมออยล์ผสมสารอะบาเม็กติน หรือคาร์โบซัลแฟน
ควรใช้ปุ๋ยเคมีสูตรสำเร็จรูป เช่น สูตร 15-5-20 เลือกยี่ห้อคุณภาพ ให้ปุ๋ยเดือนละครั้ง ครั้งละ 0.5-1 ช้อนแกง โดยหยอดปุ๋ยลงไปในรูตื้นๆ สี่มุมของกระถาง หลังจากปลูกไปนานเข้า ดินในกระถางอาจยุบตัวลงบ้างให้เติมดินผสมให้เต็มกระถางอยู่เสมอ
ในช่วงหน้าฝนอาจเผชิญโรคแคงเกอร์ การตัดแต่งกิ่งให้โปร่งอยู่เสมอและพ่นสารเคมีป้องกันประเภทสารประกอบทองแดง เช่น คอปเปอร์ไฮดรอกไซด์ คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์เป็นช่วงๆ จะทำให้เกิดโรคนี้น้อยลง หรือเลือกใช้พันธุ์ที่ทนโรคแคงเกอร์ก็จะดีค่ะ
การเก็บเกี่ยว
เริ่มบังคับออก เมื่อมะนาวมีอายุ 8-12 เดือน ขึ้นไปสามารถบังคับให้ออกดอกได้ ถ้าต้องการเก็บผลได้ในช่วงหน้าแล้งควรเริ่มงดน้ำตั้งแต่เดือนสิงหาคม - กันยายน ด้วยการใช้พลาสติกคลุมโคนต้นไม้ให้น้ำซึมลงไปในดินในกระถาง งดน้ำจนใบแสดงอาการสลดเริ่มเหี่ยวเป็นสีเหลือง หลังจากนั้นให้น้ำตามปกติพร้อมทั้งให้ปุ๋ยทางใบ มะนาวจะแตกใบใหม่พร้อมกับการออกดอกตามมา เพื่อไม่ให้ต้นโทรมเร็วควรเลือกให้มะนาวติดผลเฉพาะกิ่งที่สมบูรณ์พอเหมาะ และเพื่อป้องกันต้นล้มหรือฉีกหัก อย่าให้ผลดกจนเกินไป
ข้อมูลจาก : กลุ่มโครงการพระราชดำริและกิจการพิเศษ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 (นครราชสีมา)
สนับสนุนโดย : ปุ๋ยทิพย์