กระเทียม เป็นพืชสมุนไพรไทยและเป็นเครื่องเทศชนิดหนึ่ง โดยมักใส่ในอาหารหลายชนิด ทั้งอาหารไทย อาหารอินเดีย กระเทียมเป็นไม้ล้มลุกที่ปลูกง่ายมาก ๆ และใช้เวลาปลูกเพียงแค่ 3 เดือนเท่านั้นก็สามารถเก็บเกี่ยวได้แล้ว อีกทั้งยังขึ้นชื่อเรื่องของสรรพคุณทางยาอีกด้วย
สายพันธุ์กระเทียมที่นิยมปลูก สามารถแบ่งได้ตามอายุการแก่เก็บเกี่ยวได้ ดังนี้
1.พันธุ์เบาหรือพันธุ์ขาวเมือง ลักษณะใบแหลม ลำต้นแข็ง กลีบเท่าหัวแม่มือ กลีบและหัวสีขาว มีกลิ่นฉุนและรสจัด อายุแก่เก็บเกี่ยวประมาณ 75-90 วัน เช่น พันธุ์พื้นเมือง ศรีสะเกษ เป็นต้น
2.พันธุ์กลาง ลักษณะใบเล็กและยาว ลำต้นใหญ่ และแข็ง หัวขนาดกลาง หัวและกลีบสีม่วง อายุแก่เก็บเกี่ยวประมาณ 90-120 วัน นิยมปลูกมากในภาคเหนือ เช่นพันธุ์พื้นเมืองเชียงใหม่ เป็นต้น
3.พันธุ์หนัก ลักษณะใบกว้างและยาว ลำต้นเล็ก หัวใหญ่ กลีบโต เปลือกหุ้มสีชมพู น้ำหนักดี อายุแก่เก็บเกี่ยวประมาณ 150 วัน เช่น พันธุ์จีน หรือไต้หวัน เป็นต้น
ดินที่เหมาะสมสำหรับการปลูกกระเทียม ควรเป็นดินที่ร่วนซุย ระบายน้ำได้ดี
ถ้าหากเป็นกรดจัดจะทำให้กระเทียมไม่เจริญ ควรใส่ปูนขาวก่อนปลูกอย่างน้อย 15 วัน เพื่อปรับดินให้เป็นกรดอ่อนๆ (pH 5.5-6.8)
ก่อนไถควรหว่านปุ๋ยคอกก่อนประมาณ 4 ตันต่อไร่ ถ้าเป็นดินเหนียวควรใช้ไถบุกเบิกก่อนพรวน ถ้าเป็นดินร่วนใช้เฉพาะพรวนและยกแปลงเพื่อการให้น้ำและระบายน้ำได้ดี
การเตรียมดินดีจะช่วยให้กระเทียมลงหัวดี และควรเตรียมแปลงปลูกขนาดกว้าง 1 - 2.5 เมตร ความยาวตามพื้นที่ปลูกระยะห่างระหว่างแปลง (ทางเดินหรือร่องน้ำ) ควรกว้าง 50 ซม.
การปลูกกระเทียม
กระเทียมปลูกโดยใช้กลีบซึ่งประกอบเป็นหัว นิยมใช้กลีบนอกปลูก เนื่องจากกลีบนอกมีขนาดใหญ่ จะให้กระเทียมที่มีหัวใหญ่และผลผลิตสูง การนำกระเทียมไปปลูกในฤดูฝน จะทำให้กระเทียมงอกไม่พร้อมกัน โตไม่สม่ำเสมอกัน
ขนาดของกลีบจะมีอิทธิพลหรือความสำคัญ ต่อการลงหัวของกระเทียม จากการศึกษาพบว่าพันธุ์ที่มีกลีบใหญ่ ถ้าหากใช้กลีบขนาดกลางปลูกจะทำให้ผลผลิตสูง พันธุ์ที่มีกลีบขนาดเล็ก ถ้าใช้กลีบใหญ่ที่สุดปลูกจะให้ผลผลิตสูง
ปกติกลีบที่มีน้ำหนักก 2 กรัม จะให้ผลผลิตสูง
การปลูกอาจให้น้ำก่อนและใช้กลีบกระเทียมจิ้มลงไปโดยเอาส่วนรากลงลึกประมาณ 2 ใน 3 ส่วนของกลีบ เป็นแถวตามระยะปลูกที่กำหนด ในพื้นที่ 1 ไร่ ต้องใช้หัวพันธุ์ 100 กก. หรือกลีบ 75-80 กก. ปลูกโดยใช้ระยะปลูก 10 x 10 -15 ซม. จะให้ผลผลิตสูงที่สุด สำหรับกระเทียมจีนใช้ระยะปลูก 12-12 ซม. และหัวพันธุ์ 300-350 กก.ต่อไร่ หลังปลูกจะใช้ฟางคลุมแปลงเพื่อควบคุมวัชพืช ที่จะมีขึ้นในระยะแรก เก็บความชื้นและลดความร้อนเวลากลางวัน
การดูแลกระเทียม
การให้น้ำ
ควรให้น้ำก่อนปลูกและหลังปลูกกระเทียมควรได้รับน้ำอย่างเพียงพอและสม่ำเสมอในช่วงระหว่าง่างเจริญเติบโต 7-10 วัน/ครั้ง สรุปแล้วจะให้น้ำประมาณ 10 ครั้ง/ฤดู โดยสังเกตุจากใบกระเทียมถ้าเริ่มเหี่ยวต้องรีบให้น้ำทันที ควรงดการให้น้ำเมื่อกระเทียมแก่จัด ก่อนเก็บเกี่ยว 2-3 สัปดาห์
การคลุมดิน
หลังปลูกกระเทียมควรคลุมดินด้วยฟางข้าวแห้ง เศษหญ้าแห้ง หรือเศษวัสดุที่สามารถผุพังเน่าเปื่อยอื่นๆ หนาประมาณ 2-3 นิ้ว ทั้งนี้เพื่อควบคุมวัชพืชที่จะมีขึ้นในระยะแรก และรักษาความชื้นในดิน ทำให้กระเทียมสามารถเจริญเติบโตได้ดี
การใส่ปุ๋ย
ปุ๋ยที่แนะนำให้ใช้สำหรับกระเทียมในบ้านเรา ควรมีส่วนของไนโตรเจนเท่ากับ 1 ส่วน ฟอสฟอรัส 1 ส่วน และโพแทสเซียม 2 ส่วน เช่น ปุ๋ยสูตร 10-10-15, 13-13-21 เป็นต้น อัตราปริมาณ 50-100 กก./ไร่ ขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของดิน โดยแบ่งใส่ 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกใส่เป็นปุ๋ยรองพื้นตอนปลูก แล้วพรวนกลบลงในดิน ปริมาณครึ่งหนึ่งและใส่ครั้งที่ 2 ใส่แบบหว่านทั่วแปลง เมื่ออายุประมาณ 30 วันหลังปลูก ควรใช้ปุ๋ยเสริมไนโตรเจน เช่น ปุ๋ยยูเรีย แอมโมเนียมซัลเฟต เป็นต้น เพื่อเร่งการเจริญเติบโตในระยะแรก อัตราประมาณ 25-30 กก./ไร่ เมื่ออายุประมาณ 10-14 วันหลังปลูก
การกำจัดวัชพืช
กระเทียมเป็นพืชที่มีรากตื้น ดังนั้นควรกำจัดวัชพืชในระยะที่วัชพืชเริ่มงอก ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้ นอกจากจะแย่งน้ำอาหารและแสงแดดจากกระเทียมแล้ว มื่อถอนจะทำให้รากของกระเทียมกระทบกระเทือนทำให้ชะงักการเจริญเติบโต หรือทำให้ต้นเหี่ยวตายได้ ฉะนั้นเมื่อวัชพืชมี ขนาดใหญ่ควรใช้มีดหรือเสียมมือเล็กๆ แซะวัชพืชออก
สารเคมีกำจัดวัชพืชที่เกษตรกรนิยมใช้กันมากคืออะลาคอร์ (ชื่อการค้า : แลสโซ่) อัตรา 0.36-.045 กก.ต่อไร่ (ของเนื้อยาบริสุทธิ์) โดยพ่นคุลมดินหลังปลูกก่อนที่กระเทียมและวัชพืชงอก นอกจากนี้ยังใช้ยาพาราควอซ์ (ชื่อการค้า : กรัมม็อกโซน) พ่นตามร่องน้ำระหว่างแปลงทุกครั้งหลังจากให้น้ำ
โรคที่ต้องระวังในกระเทียม
1) โรคใบเน่าหรือแอนแทรกโนส
สาเหตุ เกิดจากเชื้อรา
ลักษณะอาการ เริ่มแรกจะมีแผลเกิดขึ้นบนใบกระเทียม ลักษณะเป็นจุดสีเขียวหม่นและขยายออกไปเป็นแผลรูปยาวรี มองเห็นเป็นรอยบุ๋มเล็กน้อย ใบหนึ่ง ๆ อาจมีหลายแผลติดกัน จนใบแห้งและหักพับลงมา ทำให้ใบพืชไม่สามารถปรุงอาหารตามปกติได้ ถ้าเป็นในระยะที่ลงหัว หรือหัวแก่จัด และเกษตรกรเก็บรักษาหัวนั้นไว้ เชื้อโรคนี้อาจจะไปแพร่ระบาดในโรงเก็บได้
การป้องกันกำจัด
- เก็บส่วนใบที่เป็นแผลทิ้ง หรือเผาไฟ
- พ่นสารเคมี เช่น ไดโฟล่แทน หรือไดเทน-เอ็ม-45 ทุก 7 วัน ถ้าเป็นมากควรพ่นให้ถี่ขึ้นเป็น 3-5 วัน หรือเพิ่มความเข้มข้นของยาเป็น 2 เท่า
2) โรคใบจุดสีม่วง
สาเหตุ เกิดจากเชื้อรา
ลักษณะอาการ เกิดกับใบกระเทียม เริ่มแรกจะมีแผลหรือจุดสีขาวก่อน และจะขยายใหญ่เป็นแผลรูปยาวรี สีน้ำตาลอ่อนหรือม่วง ขอบแผลสีน้ำตาลเข้มหรือเหลือง แผลมีทั้งขนาดใหญ่และเล็ก ในแต่ละใบอาจมีมากกว่า 1 แผล ทำความเสียหายแก่กระเทียมเช่นเดียวกับโรคใบเน่า และสามารถทำลายได้ทุกระยะการเจริญเติบโต มีการเก็บเกี่ยวก่อนกำหนด หัวกระเทียมที่ได้ไม่แก่จัด ไม่เหมาะที่จะใช้ทำพันธุ์ และทำให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง
การป้องกันกำจัด คล้าย ๆ กับโรคใบเน่า และเฉพาะโรคชนิดนี้งดใช้ยากันราประเภทดูดซึมพวกเบนเลท
3) โรคหัวและรากเน่า
กระเทียมเริ่มมีใบแก่เหลืองเหี่ยวแห้งไป กาบหัวช้ำเริ่มมีเส้นใยสีขาวขึ้นฟูอยู่บนแผลและตาม รากเน่าเป็นสีน้ำตาลจะทำให้หัวนิ่มเน่าและเนื้อเยื่อยุ่ยมีกลิ่นเหม็น
การป้องกันกำจัด
1. ให้ขุดหอมและดินที่เกิดโรครวบรวมไปเ ผาทำลายเสีย เพื่อป้อองกันมิให้ระบาดแพร่ทั่วไป
2. ในการปลูกหอมหรือพืชอื่นๆในปีต่อไป ในที่ๆมีโรคนี้ระบาด ควรทำการปรับปรุงแก้ไขดินเสียใหม่ โดยใส่ปูนขาวประมาณ 100-200 กก./ไร่ ก็จะช่วยให้โรคนี้ชะงักไปได้ระยะหนึ่งหรือหายไป
3. ใช้ยาเทอราคลอ, เทอราโซล หรือเทอราคลอซุปเปอร์เอกซ์ราดโคนต้น
4. ควรปลูกพืชหมุนเวียนสลับอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 5 ปี
4) โรคเน่าคอดิน
ลักษณะอาการ ที่โคนต้นบริเวณเหนือพื้นดินขึ้นไปจะมีรอยช้ำเป็นจุดเล็กๆก่อนแล้วจึงขยายตัวขึ้นตามลำดับจนรอบต้น สังเกตดูจะเห็นรอยช้ำสีน้ำตาล ต้นกล้าจะหักพับและส่วนยอดก็จะแห้งตาย
การป้องกันกำจัด
1. หว่านเมล็ดบางๆเพราะถ้าแน่นเกินไปกล้าจะมีโอกาสเป็นโรคได้ง่ายและอย่ารดน้ำให้แฉะเกินไป
2. ถ้ามีโรคเริ่มระบาดเล็กน้อยใช้ยาป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น บลาสซิโคล, ไดเทนเอ็ม-45 ในอัตราที่กำหนดในฉลากสัก 2-3 ครั้ง หลังจากนั้นให้ใช้น้ำปูนใส่อย่างเจือจางรดเป็นระยะ
การเก็บเกี่ยวกระเทียม
ลักษณะการแก่จัดของกระเทียม สามารถสังเกตได้ดังนี้ มีตุ่มหรือหัวขนาดเล็ก ๆ เกิดขึ้นที่ลำต้นของกระเทียมตั้งแต่ 1 ตุ่มขึ้นไป ส่วนของยอดเจริญขึ้นมาหมดแล้ว และกำลังมีต้นดอกชูขึ้นมาใบกระเทียม เริ่มแห้งตั้งแต่ปลายใบลงมามากกว่า 30%
ใบ หรือต้นกระเทียม เอนหัก ล้มนอนไปกับพื้นดิน 25 % ขึ้นไป
ดอก หรือโคนลำค้น บีบดูจะรู้สึกอ่อนนิ่ม
ถ้าพบลักษณะดังกล่าว ให้เริ่มถอนกระเทียมได้ ซึ่งจะมีอายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 100-120 วันหลังปลูก หรือเมื่อถึงระยะเวลาเก็บเกี่ยวใบจะแห้ง ถ้าเก็บเกี่ยวช้าเกินไปจะทำให้กลีบร่วงได้ง่าย และได้กระเทียมที่มีคุณภาพไม่ดี
วิธีเก็บเกี่ยวคือ ถอนและตากแดดในแปลงประมาณ 2-3 ชั่วโมง โดยวางสลับกันให้ใบคลุมหัวเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกแสงแดด โดยตรง ตากไว้ 2-3 วัน ระวังอย่าให้ถูกฝนและน้ำค้างแรงในเวลากลางคืน นำมาผึ่งลมในที่ร่มสักระยะหนึ่ง ประมาณ 5-7 วัน ให้หัวและใบแห้งดี หลังจากนั้นนำมาคัดขนาดและมัดจุกตามต้องการ
10 ประโยชน์ของกระเทียม ที่คุณอาจคาดไม่ถึง
1. ไล่ยุงและแมลงสัตว์กัดต่อย
แม้นักวิทยาศาสตร์จะยังไม่ฟันธงว่ากระเทียมจะสามารถไล่ยุงและแมลงได้ แต่ก็มีผลการวิจัยจากประเทศอินเดียที่พบว่า คนที่ทากระเทียมลงบนแขนขา จะโดนยุงและแมลงสัตว์กัดต่อยทุกชนิดรบกวนน้อยกว่าคนที่ไม่ได้ทา เขาเลยแนะนำให้ทำยากันยุงง่าย ๆ ด้วยการผสมน้ำมันกระเทียม ปิโตรเลียมเจล และขี้ผึ้งเข้าด้วยกัน หรือจะทากระเทียมสด ๆ ลงบนแขนขาเพื่อป้องกันยุงก็แล้วแต่สะดวกเลยค่ะ
2. บรรเทาอาการอักเสบจากโรคสะเก็ดเงิน
เมื่อกระเทียมมีฤทธิ์ต้านอาการอักเสบ ดังนั้นจึงช่วยบรรเทาอาการอักเสบจากผื่นแดงได้ดี โดยเฉพาะผื่นแดงที่เกิดจากโรคสะเก็ดเงิน ให้ทาน้ำมันกระเทียมบริเวณที่เป็นแผล เพื่อให้สะเก็ดหลุดไป และลดผื่นแดงบนผิวหนังก็ได้
3. แก้ปัญหาผมหลุดร่วง
ปัญหาผมหลุดร่วงคงเป็นปัญหากวนใจใครหลาย ๆ คน โดยเฉพาะสาวผมยาว และผมที่ผ่านการทำเคมีต่าง ๆ เช่น การดัด ย้อม หรือยืด รู้ไหมว่า กระเทียมช่วยยับยั้งปัญหาเหล่านี้ได้ เพียงแค่ฝานกระเทียมเป็นชิ้นบาง ๆ แล้วนำมานวดศีรษะ หรือจะผสมลงในออยล์แล้วนำมานวดศีรษะก็ได้เช่นกัน เพราะในกระเทียมมีอัลซิลิน (allicin) และซัลเฟอร์ (sulfur) สูง ซึ่งมีประสิทธิภาพในการลดปัญหาผมหลุดร่วงนั่นเอง
4. ช่วยแก้อาการเคล็ดขัดยอกและเท้าแพลง
กระเทียมสามารถช่วยแก้อาการเคล็ดขัดยอกและเท้าแพลง เพราะมีสารที่ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดมายังบริเวณที่นวดยาได้ดีมากขึ้นนั่นเอง
5. รักษาสิว
กระเทียมถือเป็นยารักษาสิวจากธรรมชาติ ที่มีประสิทธิภาพเป็นอย่างมาก เพราะมีแอนตี้ออกซิแดนท์ ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้อยู่หมัด เราจึงสามารถนำมาฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิวได้ โดยฝานกระเทียมสดบาง ๆ แล้วนำมาประคบลงบนสิวเบา ๆ ทิ้งไว้สักพัก แล้วล้างออกด้วยนำสะอาด เท่านี้สิวกวนใจก็จะอันตรธานหายไปอย่างแน่นอน
6. ช่วยควบคุมน้ำหนัก
ผลการศึกษาจาก Nutritionist Cynthia Sass ที่ทำการศึกษากับหนูที่กินกระเทียมพบว่า หนูที่กินกระเทียมมีน้ำหนักและการสะสมของไขมันลดลง ฉะนั้นก็พยายามกินกระเทียมที่ผสมอยู่ในอาหารกันเยอะ ๆ หรือสำหรับคนที่ทนกลิ่นไม่ได้จริง ๆ ก็เลือกกินอาหารเสริมอย่างเช่น กระเทียมอัดเม็ดก็ได้
7. ป้องกันและรักษาโรคหวัด
ถ้าเรามีสารแอนตี้ออกซิแดนท์พอเพียงในระบบภูมิคุ้มกัน เราก็จะป่วยได้ยาก ดังนั้นคงจะดีไม่น้อยหากเราจะเพิ่มสารแอนตี้ออกซิแดนท์ให้ร่างกายมีกำลังไปต่อสู้กับโรคต่าง ๆ ด้วยการรับประทานกระเทียมเป็นประจำ แต่หากโรคหวัดเข้ามาคุกคามเรียบร้อยแล้ว เราก็สามารถไล่หวัดได้ง่าย ๆ ด้วยการหั่นกระเทียมเป็นแว่น แช่ในน้ำร้อนประมาณ 2-3 นาที แล้วกรองเอากากออก จิบเป็นชากระเทียมอุ่น ๆ ก็ดี หรือถ้าทนกลิ่นไม่ไหว จะเติมน้ำผึ้งหรือน้ำขิงเข้าไปสักหน่อยก็ได้จ้า
8. ถอนเสี้ยน
เสี้ยนที่ตำเท้าหรือมือเราให้เจ็บแปลบ สามารถกำจัดได้ง่าย ๆ ด้วยการแปะกระเทียมฝานบาง ๆ แล้วพันทับด้วยผ้าพันแผล วิธีนี้เป็นวิธีธรรมชาติที่ใช้กันมายาวนาน และได้รับการยอมรับว่าเป็นวิธีที่ได้ผลจริงด้วยค่ะ
9. กำจัดกลิ่นเท้า
ปัญหากลิ่นเท้าเกิดจากการที่เท้าเจอความอับชื้น ทำให้เกิดเชื้อรา ตามมาด้วยกลิ่นอันไม่พึงประสงค์และอาการคัน แต่เราสามารถแก้ปัญหาได้ง่าย ๆ ด้วยการแช่เท้าลงในน้ำอุ่นผสมกระเทียมบด ทิ้งไว้สักพัก กลิ่นไม่พึงประสงค์และอาการคันก็จะหายไป เพราะในกระเทียมมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อรานั่นเองจ้า
10. รักษาโรคส่าไข้
โรคส่าไข้เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม Human Herpesvirus Type 6(HHV 6) ซึ่งอาการของโรคจะคล้ายคลึงกับโรคหัด หรืออีสุกอีใส เพราะจะเกิดตุ่มแดง และแผลอักเสบบนร่างกาย ซึ่งวิธีรักษาด้วยธรรมชาติที่เห็นผลก็คือ นำกระเทียมบดมาประคบลงบนแผลโดยตรง เพื่อรักษาอาการอักเสบและลดอาการบวม ร่วมกับการรับประทานอาหารเสริมจากสารสกัดกระเทียม เช่น กระเทียมอัดเม็ด หรือน้ำมันกระเทียมก็จะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น
การต่อยอดแปรรูปกระเทียม
1.กระเทียมโทนดองน้ำผึ้ง
2.กระเทียมอบกรอบ
3.กระเทียมเจียว
4.กระเทียมดอง
5.กระเทียมโทน
จะเห็นได้ว่ากระเทียมนั้นเป็นพืชที่มีสรรพคุณมากมาก ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว ยังสามารถนำกระเทียมไปต่อยอดได้อีกมากมาย รวมทั้งยังใช้เวลาในการปลูกดูแลและเก็บเกี่ยวอันแสนสั้น
ที่มา: 1. เว็บไซต์คลังปัญญาไทย http://www.panyathai.or.th/wiki/index.php/กระเทียม
2. กรมส่งเสริมการเกษตร http://www.doae.go.th/plant/garlic.htm
3. ผศ. ประสิทธิ์ โนรี สำนักวิจัยและส่งเสริมวิชาการการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้
http://www.it.mju.ac.th/dbresearch/organize/extention/book-veget/book02.html