กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรบ้านห้วยใหญ่ หมู่ 12 ต.อ่าวตง อ.วังวิเศษ จ.ตรัง ซึ่งทางกลุ่มได้รวมตัวกันเลี้ยงปลานิลในกระชัง และต่อยอดเป็นโครงการ 9101 ส่งขายให้แก่พ่อค้า แม่ค้า และจำหน่ายในตลาดนัดต่าง ๆ จนประสบความสำเร็จ กลายเป็นแหล่งศึกษาดูงานของกลุ่มต่าง ๆ จากทุกสารทิศ เพราะเป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยว แหล่งศึกษาเรียนรู้การทำเกษตร และศูนย์เรียนรู้การทำปุ๋ยอินทรีย์ แต่หลังเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด -19 ทำให้กิจกรรมของกลุ่มต้องหยุดชะงัก ประกอบกับประธานกลุ่มเห็นว่าในการต้อนรับนักท่องเที่ยวและกลุ่มศึกษาดูงาน ที่ต้องออกไปหาซื้อขนมต่าง ๆ มาทำเป็นอาหารว่าง จึงมีแนวคิดจะทำขนมเป็นของกลุ่มเอง จนสุดท้ายมองมาที่ปลานิลตกไซด์จากกระชัง เนื่องจากไม่ได้นำออกขายในช่วงโควิด เพราะตลาดนัดต้องปิด ร้านค้า-ร้านอาหารปิดกิจการ ทำให้ปลานิลที่เลี้ยงไว้เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จึงนำปลานิลมาแปรรูปเป็นปลาส้ม และปลาไสอวน
ล่าสุดได้คิดค้นสูตรทำขนมจากปลานิล ชื่อ “ขนมนิลลี่พาย หรือขนมพายปลานิล” รูปลักษณ์ภายนอกเป็นขนมคุกกี้รูปปลานิล แต่รสชาติข้างในเข้มข้นจากเนื้อปลา เหมือนขนมปั้นสิบ หรือขนมปลาหยอง จนประสบความสำเร็จ ได้รับเสียงตอบรับจากผู้ไปเยือน และลูกค้าที่เดินทางไปออกบูธขายสินค้า ทั้งในและต่างจังหวัด จนมีลูกค้าสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์จำนวนมาก
นางนิตยา หรือหนึ่ง ป้อมอาสา อายุ 41 ปี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรบ้านห้วยใหญ่ บอกว่า ปลานิลที่รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงไว้ ไม่พอส่งขาย พอมีโครงการ 9101 เข้ามา ก็เข้าร่วมอีกโครงการ เพื่อให้ได้ปริมาณปลาที่มากพอสำหรับส่งขายให้กับลูกค้า ปกติจะขายส่งกิโลกรัมละ 75 บาท และขายปลีกกิโลกรัมละ 90 บาท โดยขายตามตลาดนัดต่าง ๆ ร้านค้า ร้านอาหาร ร้านปลาเผา จะสั่งเข้ามาจำนวนมาก แต่เกิดการระบาดของโควิด -19 ทำให้มีปลาค้างอยู่ในกระชังจำนวนมาก เพราะตลาดนัดปิด ร้านอาหารปิด จึงคิดว่าต้องนำมาแปรรูปขาย โดยช่วงแรกแปรรูปเป็นปลาไสอวน และปลาส้ม ยอดขายก็ดีมาก เพราะทำจากปลาที่เลี้ยงในกระชังภายในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ทำให้มีวัตถุดิบที่สดใหม่ทุกวัน ต่อมาจึงคิดว่า เวลามีนักท่องเที่ยว มาท่องเที่ยวที่ผาเหนือเมฆ และมาศึกษาดูงานของกลุ่ม ทางกลุ่มต้องจัดอาหารว่างไว้ต้อนรับโดยไปหาซื้อขนมจากภายนอก จึงคิดว่าทางกลุ่มควรมีขนมเป็นของกลุ่มเอง เพื่อประหยัดและมีรายได้เข้ากลุ่ม โดยคิดว่าปลานิลควรแปรรูปเป็นขนมได้ จึงคิดค้นสูตรออกมา จนเป็นที่ถูกปากของคนมาเยือนและลูกค้าอย่างมาก
รวยไม่รู้ตัว! สาวพะเยาทิ้งเมืองกรุงกลับบ้านเลี้ยงปูนา แปรรูปขาย รายได้งาม
เคล็ดไม่ลับ การปลูกข้าวโพดหวาน ตั้งแต่เพาะกล้าถึงการเตรียมสู่ตลาด
ทั้งนี้ส่วนประกอบในการทำไส้ ประกอบด้วย ปลานิลแล่เอาเฉพาะส่วนเนื้อ นำไปต้มให้สุก ใส่กระเทียมบุบลงไปดับคาว จากนั้นนำมาปั่นให้ละเอียด, หอมแดงสับหรือบดละเอียด, หัวไชโป๊หวานบดหรือสับละเอียด, น้ำตาลทรายแดง, พริกไทยป่นปั่นจากเมล็ดเอง, ข่าอ่อนบด, ซีอิ๊วขาวเห็ดหอม
วิธีทำเริ่มจากนำหอมแดงบดละเอียดลงไปผัดในกระทะจนสีออกเหลือง ใส่เนื้อปลาบดลงไปผัดรวมกัน ตามด้วยหัวไชโป๊ น้ำตาลทรายแดง ข่าอ่อนบด พริกไทยป่น ซีอิ๊วขาวเห็ดหอม ซึ่งส่วนประกอบทุกชนิดที่ใส่ลงไปแต่ละชนิดนั้น ต้องผัดให้เข้ากันทีละชนิด จนสุดท้ายผัดจนแห้ง จากนั้นตักใส่จานรองด้วยกระดาษซับมัน เพื่อเอาน้ำมันออก ขนมที่ได้จะไม่มีกลิ่นหืน แล้วนำไส้ที่ได้ไปแบ่งใส่กล่องไว้แยกเก็บไว้ โดยเวลาจะทำก็แยกทำทีละกล่อง โดยผัดไส้ 1 ครั้ง สามารถทำขนมได้ประมาณ 200 ตัว จัดแบ่งใส่กล่องสำหรับทำครั้งละ 100 ตัว
สำหรับแป้งที่ใช้ทำตัวปลา เป็นสูตรเฉพาะที่ทางกลุ่มคิดค้นขึ้นเอง เมื่อได้แป้งก็นำมามาปั้นเป็นกลม ๆ จากนั้นใส่ไส้ลงไปแล้วปั้นหุ้มเป็นกลม ๆ อีกครั้ง แล้วใส่แม่พิมพ์เป็นตัวปลา นำเข้าเตาอบประมาณ 30 นาที ก็จะได้นิลลี่พายที่หอมกรุ่น นุ่ม อร่อย รสชาติเข้มข้นเหมือนกับขนมปั้นสิบ หรือปลาหยอง มีเนื้อปลาข้างใน ซึ่งไส้จะแตกต่างจากขนมลักษณะเดียวกันของเจ้าอื่น ๆ เพราะเจ้าอื่น ๆ เวลาทำไส้จะผสมกับแป้งไปเลย แต่ของกลุ่มผัดไส้แยกต่างหาก เวลารับประทานจะได้ความอร่อย และรับรู้ว่ามีเนื้อปลาด้วย โดยสามารถเก็บไว้ได้นานนับเดือน ไม่มีกลิ่นหืน
ส่วนราคาขาย กล่องเล็ก 6 ตัว ราคา 55 บาท และกล่องใหญ่ 10 ตัว ราคา 80 บาท ผู้ที่สนใจ หรือหน่วยงานราชการ หรือกลุ่ม องค์กรต่างๆจะจัดอาหารว่าง สามารถติดต่อได้ทางเพจ “สินค้าโอทอปแบรนด์ในวัง จ.ตรัง” หรือโทร.086 - 2672669
ภาพข่าว จาก คนิตา สีตอง สำนักข่าวเนชั่น จ.ตรัง