วันทานาบาตะ เปิดตำนาน รักแห่งดวงดาว ของญี่ปุ่น

07 กรกฎาคม 2565

วันทานาบาตะ วันสำคัญของชาวญี่ปุ่น เป็นเทศกาลแห่งดวงดาว จะมีตำนานความเป็นมาอย่างไรบ้าง เกี่ยวข้องอะไรกับดวงดาวไปดูเลย

วันทานาบาตะ ตรงวัน วันที่ 7 เดือน 7 ของทุกปี ชาวญี่ปุ่นเรียกวันนี้ว่า วันทานาบาตะ (Tanabata) หรือ เทศกาลแห่งดวงดาว ได้รับอิทธิพลมาจากชาวจีนแผ่นดินใหญ่ มี ตำนาน เล่ากันเกี่ยวกับ ดวงดาว ที่เป็นตัวแทนของ เจ้าหญิงทอผ้า และ เจ้าชายเลี้ยงวัว ถูกพรากจากกันโดย ทางช้างเผือก ขวางกั้นเอาไว้ ดวงดาวสองดวงนี้จะกลับมาเจอกันอีกครั้งเพียงปีละหนึ่งครั้งเท่านั้น นั้นคือ วันที่ 7 กรกฎาคม ของทุกปี ไปดูตำนานความเชื่อของชาวญี่ปุ่นกันค่ะ

วันทานาบาตะ เปิดตำนาน รักแห่งดวงดาว ของญี่ปุ่น

ตำนานนิทานรักแห่งดวงดาว

หากพูดถึงวันแห่งความรัก แน่นอนว่าทุกคนคงจะนึกถึงวันวาเลนไทน์ หรือวันที่ 14 กุมภาพันธ์ แต่สำหรับประเทศญี่ปุ่น ยังมีวันแห่งความรักอีกวันหนึ่ง นั่นคือ วันทานาบาตะ (Tanabata / 七夕) ตรงกับวันที่ 7 เดือน 7 ของทุกปี มีต้นกำเนิดดั้งเดิมมาจากนิทานเรื่อง 7 นางฟ้าของประเทศจีน กลายมาเป็นเรื่องราวความรักของ “สาวทอผ้า” กับ “หนุ่มเลี้ยงวัว" และเกี่ยวข้องกับ 3 กลุ่มดาวบนท้องฟ้า ได้แก่

  1. กลุ่มดาวพิณ
  2. กลุ่มดาวหงส์
  3. กลุ่มดาวนกอินทรีย์

กาลครั้งหนึ่ง มีนางฟ้าองค์หนึ่งนามว่า “โอริฮิเมะ” (Orihime) หรือ “เวกา” (Vega) เป็นลูกสาวของเทพผู้ครองสวรรค์ เธองดงาม ขยันขันแข็ง และเป็นที่เลื่องลือในหมู่เทพเรื่องฝีมือการทอผ้าที่งดงามวิจิตรหาตัวจับยาก อย่างไรก็ตาม เธอใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทอผ้าเสียหมด แทบไม่หยุดพัก บิดาของเธอเห็นแบบนั้นก็เป็นห่วงและสงสาร ไม่อยากให้เธอทอผ้าเพียงอย่างเดียวไปตลอดชีวิต จึงคิดจะหาคู่ครองให้ และจัดพิธีเลือกคู่ให้กับโอริฮิเมะ

ในพิธีเลือกคู่ มีชายหนุ่มมากหน้าหลายตามาให้โอริฮิเมะได้เลือกสรร แต่ชายหนุ่มที่โอริฮิเมะถูกใจกลับเป็นเพียงแค่ชายเลี้ยงวัวธรรมดา ๆ นามว่า “ฮิโกโบชิ” (Hikoboshi) หรือ “อัลแตร์” (Altair) ทั้งสองตนตกหลุมรักกันตั้งแต่วินาทีแรกที่สบตา เทพผู้เป็นบิดาเมื่อเห็นว่าทั้งสองถูกตาต้องใจกันจริง ก็ได้จัดให้ทั้งสองแต่งงานกันสมดังใจปรารถนา แต่ทว่า ปัญหาก็เกิดขึ้น

วันทานาบาตะ เปิดตำนาน รักแห่งดวงดาว ของญี่ปุ่น

เมื่อได้ใช้ชีวิตร่วมกันแล้ว ทั้งสองคนต่างก็ลุ่มหลงอยู่ในความรักจนไม่เป็นอันทำการทำงาน โอริฮิเมะไม่ยอมกลับมาทอผ้าดังเดิม ส่วนฮิโกโบชิก็ละทิ้งวัวของตัวเอง จนทำให้พวกวัวเดินเพ่นพ่านไปทั่วสวรรค์ ก่อความเดือดร้อนให้แก่เหล่าเทพอย่างมาก บิดาของโอริฮิเมะโกรธและผิดหวังเป็นอย่างมาก จึงลงโทษทั้งสองให้แยกจากกัน โดยขีด ทางช้างเผือก ขึ้นมาขวางกั้นเอาไว้

เมื่อทั้งสองต้องแยกจากกัน โอริฮิเมะก็เศร้าโศกเสียใจจนไม่อาจทอผ้าให้สวยงามได้ดังเดิม ความหดหู่ไร้ชีวิตชีวาของเธอทำให้ผู้เป็นบิดาเกิดความสงสารอีกครั้ง จึงยอมใจอ่อนให้ทั้งสองได้พบกันปีละครั้ง ในวันที่ 7 เดือน 7 ของทุกปี แต่มีเงื่อนไขว่า ทั้งโอริฮิเมะและฮิโกโบชิต้องกลับมาทำงานอย่างขยันขันแข็งเหมือนเดิม

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาที่ได้มาพบกัน ทั้งสองคนก็ไม่อาจข้ามทางช้างเผือกมาพบกันได้ ทำได้แค่เพียงเจอหน้ากันอยู่คนละฟากฝั่งของทางช้างเผือกเท่านั้น เมื่อนั้นเองมีฝูงนกกางเขนบินผ่านมาเห็น จึงได้ถามไถ่สิ่งที่เกิดขึ้นกับทั้งสอง พอได้ทราบสาเหตุก็เกิดความสงสารขึ้นมาจับใจ พากันต่อตัวเรียงกันเป็นสะพานนกกางเขน ทำให้โอริฮิเมะและฮิโกโบชิสามารถข้ามทางช้างเผือกมาพบกันได้อีกครั้ง ไม่เพียงเท่านั้น เหล่านกกางเขนต่างสัญญาว่าจะมาเป็นสะพานให้ทั้งสองได้ข้ามมาพบกันในทุกปี ยกเว้นในปีที่มีฝนตกเท่านั้น

เกร็ดความรู้จากกลุ่มดาว

ในคืนวันที่ 7 เดือน 7 ของทุกปี (หากฝนไม่ตก) เราจะมองเห็น ทางช้างเผือก ขั้นกลางอยู่ระหว่าง ดาวเวกา ในกลุ่มดาวพิณ กับ ดาวอัลแตร์ ในกลุ่มดาวนกอินทรีย์ ขณะเดียวกันเราจะเห็น ดาวเดเนบ ในกลุ่มดาวหงส์ อยู่ตรงกลางทางช้างเผือก ทำหน้าที่เสมือนเป็นสะพานเชื่อมให้ดาวทั้งสองดวงได้มาพบกัน

นอกจากนี้ เมื่อลากเส้นเชื่อมดวงดาวสว่างทั้งสามดวงข้างต้น จะมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยม เมื่อใดที่เรามองเห็นสามเหลี่ยมนี้ในช่วงหัวค่ำทางด้านทิศตะวันออก นั่นหมายความว่า ฤดูร้อนได้ย่างกรายเข้ามาแล้ว จึงทำให้นักดาราศาสตร์เรียกสามเหลี่ยมนี้ว่า สามเหลี่ยมฤดูร้อน นั่นเอง

วันทานาบาตะ เปิดตำนาน รักแห่งดวงดาว ของญี่ปุ่น

ขอบคุณ : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ