เลิกจ้างส่งท้ายปี 67 กระทบชีวิตครอบครัว! การเลิกจ้างครั้งใหญ่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงานและครอบครัวเป็นอย่างมาก ฟ้าผ่าปลายปี! บริษัทดัง จ.ฉะเชิงเทรา ประกาศเลิกจ้างพนักงาน 394 คน โดยให้มีผล 1 ธ.ค. จ่ายชดเชยรวม 14 ล้าน ก.แรงงาน ชี้เคสนี้แจ้ง 30 วันตามกฎหมาย
บริษัทดังฉะเชิงเทรา เลิกจ้างพนักงานเกือบ 400 คน จากกรณีโลกออนไลน์ ได้แชร์ประกาศการเลิกจ้างพนักงาน 600 คน บริษัทผลิตรถไฟฟ้าแห่งหนึ่งใน จ.ฉะเชิงเทรา โดยให้มีผลวันที่ 1 ธ.ค. 2567 เป็นต้นไป บริษัทจะจ่ายเงินค่าชดเชยต่าง ๆ ให้ตามกฎหมายทุกประการนั้น
ล่าสุด นายพงศ์เทพ เพชรโสม ผู้อำนวยการกองคุ้มครองแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ทราบว่าบริษัทดังกล่าวคือ บริษัท แอ๊บโซลูท แอสเซมบลี จำกัด เป็นบริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งบริษัทมียอดออเดอร์ลดลงมาในระยะหนึ่งแล้ว แต่ก็ได้ให้สิทธิประโยชน์กับลูกจ้างมาโดยตลอด
เบื้องต้นทราบว่าเป็นการเลิกจ้างพนักงาน จำนวน 394 คน จากพนักงานทั้งหมดในโรงงาน 600 คน โดยมีบางส่วนที่ได้ทำงานต่อ ซึ่งเป็นการลดขนาด ลดค่าใช้จ่ายของกิจการลง
เคสนี้ถือเป็นการเลิกจ้างกรณีทั่วไป คือ แจ้งล่วงหน้า 30 วันตามกฎหมาย ซึ่งบริษัทจะจ่ายค่าจ้างเข้าบัญชีเงินเดือนลูกจ้างในงวดการจ่ายเงินเดือนของเดือน พ.ย. 2567 เป็นจำนวนเงินรวมทั้งหมด 394 คน ยอดเงินราว 4 ล้านบาท และค่าชดเชยการเลิกจ้างงานทั้งหมดประมาณ 14 ล้านบาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประวัติหรือสถิติการทำงานของลูกจ้าง
ผู้อำนวยการกองคุ้มครองแรงงานกล่าวว่า ทั้งนี้ ลูกจ้างจะได้รับเงินค่าชดเชยตามกฎหมายเมื่อถูกเลิกจ้างกรณีทั่วไป ตามอายุงานของแต่ละคน เช่น หากลูกจ้างทำงานยังไม่ถึง 120 วัน นายจ้างจะไม่จ่ายค่าชดเชยก็ได้, หากลูกจ้างทำงานมาแล้ว 120 วัน ถึง 1 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 30 วัน ในอัตราสุดท้าย, ทำงานมาแล้ว 1-3 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 90 วัน ในอัตราสุดท้าย, ทำงานมาแล้ว 3-6 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 180 วัน ในอัตราสุดท้าย, ทำงานมาแล้ว 6-10 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 240 วัน ในอัตราสุดท้าย, ทำงานมาแล้ว 10-20 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 300 วัน ในอัตราสุดท้าย และสูงสุดทำงานมาแล้ว 20 ปีขึ้นไป นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 400 วัน ในอัตราสุดท้าย
“หลังจากเลิกจ้างงานและได้รับสิทธิประโยชน์ดังที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ทางหน่วยงานของกระทรวงแรงงานยังพร้อมให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น กรณีลูกจ้างว่างงาน สามารถมาขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนกรณีว่างงานที่กรมการจัดหางาน (กกจ.) ได้ และผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทนตามเงื่อนไขการจ่ายประโยชน์ทดแทนจากกองทุนประกันสังคม ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง โดยคำนวณจากฐานค่าจ้างจริงสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ระยะไม่เกิน 180 วัน รวมถึงเรายังมีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) ที่พร้อมจะเข้าไปช่วยพัฒนาทักษะแรงงาน หากลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างอยากจะต่อยอดอาชีพของตนเองสามารถปรึกษาได้” นายพงศ์เทพกล่าว และว่า เป็นเรื่องปกติของสถานประกอบการหรือนายจ้าง ที่จะต้องมีการประเมินถึงสภาวะเศรษฐกิจของสถานประกอบการ มองถึงความเป็นไปได้ในการประกอบธุรกิจ พิจารณาสวัสดิการของพนักงาน แต่ท้ายที่สุดแล้วที่สำคัญคือ ต้องประเมินธุรกิจว่าจะสามารถดำเนินต่อไปได้หรือไม่เมื่อเทียบกับจำนวนพนักงาน