นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า อ้อยเป็นพืชอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ ปัจจุบันอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายนับเป็นสินค้าภาคเกษตรที่มีมูลค่าโดยรวมกว่า 2 แสนล้านบาท และผลผลิตน้ำตาลมากกว่า 2 ใน 3 ส่งออกทำรายได้ให้กับประเทศปีละหลายล้านบาท ที่สำคัญอ้อยเป็นพืชที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนนอกจากการแปรรูปเป็นน้ำตาลทรายแล้วยังสามารถใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องหลายชนิด รวมทั้งนำไปต่อยอดสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง ซึ่งการยกระดับผลผลิตและปริมาณอ้อยเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายปัจจัยที่มีความสำคัญที่สุดคือ “พันธุ์อ้อย”
การปรับปรุงพันธุ์อ้อย ถือได้ว่าเป็นกระบวนการต้นน้ำในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย ที่ใช้ระยะเวลานาน 10-12 ปีถึงจะได้อ้อยพันธุ์ดี ซึ่งพันธุ์อ้อยที่เกษตรกรปลูกในปัจจุบัน ได้แก่ พันธุ์ขอนแก่น 3 และ LK92-110 เป็นพันธุ์ที่ใช้มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ทำให้พบการระบาดของโรคมากขึ้น โดยการใช้พันธุ์อ้อยพันธุ์ใดพันธุ์หนึ่งในสัดส่วนที่มากเกินไปหรือเรียกว่าใช้พันธุ์เชิงเดี่ยวจะก่อให้เกิดความเสี่ยง เนื่องจากศัตรูพืชมีการปรับตัวจนสามารถเข้าทำลายอ้อยพันธุ์นั้นได้ นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมยังมีส่วนสำคัญที่ทำให้พันธุ์อ้อยที่เคยให้ผลผลิตสูงมีผลผลิตลดลง
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ สถาบันวิจัยพืชไร่และพืชทดแทนพลังงาน เป็นหน่วยงานของกรมวิชาการเกษตรที่ดำเนินงานวิจัยและพัฒนาทั้งด้านพันธุ์และเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสมของพืชไร่ได้ดำเนินการปรับปรุงพันธุ์อ้อย เพื่อให้ได้พันธุ์ที่ให้ผลผลิตและความหวานสูง เหมาะสมกับพื้นที่ปลูกในดินร่วน ร่วนเหนียว และดินเหนียวเขตน้ำฝน เพื่อเป็นทางเลือกด้านพันธุ์ให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยในพื้นที่ดังกล่าว โดยอ้อยพันธุ์ใหม่ล่าสุดดำเนินการปรับปรุงพันธุ์ตั้งแต่ปี 2553-2565 รวมระยะเวลา 12 ปี จนได้อ้อยพันธุ์ “กวก. นครสวรรค์ 1” ซึ่งเป็นอ้อยโรงงานที่มีความหวานและผลผลิตน้ำตาลสูง ได้จากการผสมพันธุ์ระหว่าง พันธุ์แม่ Q76 และพันธุ์พ่อ CP63-588
ลักษณะเด่นของอ้อยพันธุ์“กวก. นครสวรรค์ 1”คือมีความหวานสูงถึง 15.77 ซีซีเอส สูงกว่าพันธุ์ LK92-11 และพันธุ์ขอนแก่น 3 ให้ผลผลิตน้ำตาลเฉลี่ย 2.82 ตันซีซีเอส/ไร่ สูงกว่าพันธุ์ LK92-11 และให้ผลผลิตอ้อย 18.02 ตัน/ไร่ มีทรงกอที่ตั้งตรงทำให้สะดวกต่อการเก็บเกี่ยวด้วยแรงงานคนหรือใช้เครื่องจักร ดังนั้นอ้อยพันธุ์นี้จึงเป็นทางเลือกด้านพันธุ์ให้กับชาวไร่อ้อยอีกพันธุ์หนึ่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ปลูกอ้อยที่เป็นดินร่วน ร่วนเหนียว และดินเหนียว เขตน้ำฝน ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ ชัยนาท สุพรรณบุรี และนครราชสีมา ซึ่งการเลือกใช้พันธุ์อ้อยได้อย่างเหมาะสมกับพื้นที่นอกจากจะยกระดับผลผลิตและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรแล้วยังสามารถพัฒนาและสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทั้งระบบต่อไปได้
“กรมวิชาการเกษตร เป็นหน่วยงานหลักที่มีบทบาทหน้าที่ในการวิจัยและพัฒนาด้านพืช ซึ่งงานปรับปรุงพันธุ์อ้อยเป็นหนึ่งในภารกิจหลักนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและยังคงมุ่งมั่นพัฒนางานวิจัยปรับปรุงพันธุ์อ้อยอย่างต่อเนื่องโดยใช้เทคนิคและวิธีการปรับปรุงพันธุ์ต่างๆ มาต่อยอดพันธุ์เดิม เพื่อให้ได้พันธุ์รองรับผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสภาพแวดล้อม รองรับตลาดแนวใหม่ และพัฒนาอ้อยพันธุ์ใหม่ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ รวมทั้งเพิ่มความหลากหลายในการใช้พันธุ์ เพื่อลดความเสี่ยงต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง ซึ่งอ้อยพันธุ์“กวก. นครสวรรค์ 1”เป็นผลงานวิจัยปรับปรุงพันธุ์ล่าสุดของกรมวิชาการเกษตรที่นักวิจัยใช้ระยะเวลาในการปรับปรุงพันธุ์ถึง 12 ปี จากจุดเด่นของอ้อยพันธุ์นี้ที่มีความหวานสูงถึง 15.77 ซีซีเอสจะทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยได้รับผลตอบแทนจากค่าความหวานที่เพิ่มขึ้น โดยค่าความหวานมาตรฐาน 10 ซีซีเอส และ 1 ซีซีเอสที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ได้ราคาเพิ่มอีก 6%ของราคาต่อตันอ้อย เกษตรกรที่สนใจอ้อยพันธุ์ กวก.นครสวรรค์ 1 สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยพืชไร่นครสวรรค์ โทรศัพท์ 0-5624-1019 อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว
สนับสนุนโดย : ปุ๋ยทิพย์