ระวัง โรคใบติด หรือใบไหม้ (เชื้อรา Rhizoctonia solani) ในทุเรียน
สภาพอากาศในช่วงนี้มีฝนตก และฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ เตือนผู้ปลูกทุเรียน ในระยะ เตรียมต้น (ระยะการเจริญทางใบ) รับมือโรคใบติด หรือใบไหม้ (เชื้อรา Rhizoctonia solani)
มักพบอาการของโรคที่ใบอ่อนก่อน โดยอาการเริ่มแรกพบแผลคล้ายถูกน้ำร้อนลวกบนใบ ต่อมาแผลขยายตัวและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ขนาดและรูปร่างไม่แน่นอน จากนั้นลุกลามไปยังใบปกติข้างเคียง ถ้ามีความชื้นสูงเชื้อราสาเหตุโรคจะสร้างเส้นใยมีลักษณะคล้ายใยแมงมุมยึดใบให้ติดกัน ใบที่เป็นโรคจะไหม้ แห้ง และหลุดร่วงไปสัมผัสกับใบที่อยู่ด้านล่าง โรคจะลุกลามทำให้ใบไหม้เห็นเป็นหย่อม ๆ ใบแห้งติดกันเป็นกระจุกแขวนค้างตามกิ่ง ต่อมาใบจะร่วงจนเหลือแต่กิ่ง และกิ่งแห้งในที่สุด ทำให้ต้นเสียรูปทรง
แนวทางป้องกัน/แก้ไข
1. ช่วงการตัดแต่งกิ่ง ตัดแต่งกิ่งให้เหมาะสมและมีทรงพุ่มโปร่ง เพื่อให้ทุเรียนได้รับแสงแดดและอากาศถ่ายเทได้ดี เป็นการลดความชื้น ทำให้สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมต่อการระบาดของโรค
2. ในแปลงปลูกที่มีความชื้นสูงและมีการระบาดของโรคเป็นประจำ ไม่ควรใส่ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง เพื่อลดการแตกใบ
3. หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบโรค ตัดส่วนที่เป็นโรคและเก็บเศษพืชที่เป็นโรคและใบที่ร่วงหล่น นำไปทำลายนอกแปลงปลูก และพ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น คอปเปอร์ไฮดรอกไซด์ 77% WP อัตรา 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 85% WP อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 65.2% WG อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คิวปรัสออกไซด์ 86.2% WG อัตรา 10-20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ + คอปเปอร์ไฮดรอกไซด์ 24.6% (14% copper metal) + 22.9% (14% copper metal) WG อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เฮกซะโคนาโซล 5% SC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เพนทิโอไพแรด 20% SC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟลูไตรอะฟอล 12.5% SC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ทีบูโคนาโซล + ไตรฟลอกซีสโตรบิน 50% + 25% WG อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ โทลโคลฟอส-เมทิล 50% WP อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก 7 วัน โดยพ่นที่ใบให้ทั่วทั้งต้น
ระวัง โรครากเน่า โคนเน่า (เชื้อรา Phytophthora palmivora) ในทุเรียน
สภาพอากาศในช่วงนี้มีฝนตก และฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ เตือนผู้ปลูกทุเรียน ในระยะ เตรียมต้น (ระยะการเจริญทางใบ) รับมือโรครากเน่า โคนเน่า (เชื้อรา Phytophthora palmivora)
อาการที่ราก เริ่มแรกจะเห็นใบที่ปลายกิ่งมีสีซีดไม่เป็นมันเงา เหี่ยวลู่ลง เมื่ออาการรุนแรงมากขึ้นใบจะเหลืองและหลุดร่วง หากขุดดูราก จะพบรากฝอยมีลักษณะเปลือกล่อน และเปื่อยยุ่ยเป็นสีน้ำตาล เมื่อโรครุนแรงอาการเน่าจะลามไปยังรากแขนงและโคนต้น ทำให้ต้นทุเรียนโทรมและยืนต้นตาย
อาการที่กิ่งและที่ลำต้นหรือโคนต้น ระยะแรกจะเห็นทุเรียนแสดงอาการใบเหลืองเป็นบางกิ่ง สังเกตเห็นคล้ายคราบน้ำบนผิวเปลือกของกิ่ง หรือต้น ในช่วงเช้าที่มีอากาศชื้นอาจเห็นเป็นหยดของเหลวสีน้ำตาลแดงออกมาจากบริเวณแผล และจะค่อย ๆ แห้งไปในช่วงที่มีแดดจัด ทำให้เห็นเป็นคราบ เมื่อใช้มีดถากบริเวณคราบนั้น จะพบเนื้อเยื่อเปลือกและเนื้อไม้เป็นแผลสีนํ้าตาล ถ้าแผลขยายใหญ่ลุกลามจนรอบโคนต้น จะทำให้ทุเรียนใบร่วงจนหมดต้น และยืนต้นแห้งตาย
อาการที่ใบ ใบอ่อนแสดงอาการเหี่ยว เหลืองบริเวณแผลมีลักษณะฉ่ำน้ำ สีน้ำตาลอ่อน และเปลี่ยนเป็นสีดำ ตายนึ่งคล้ายน้ำร้อนลวก เส้นใบมีสีน้ำตาลดำ เกิดอาการไหม้แห้งคาต้นอย่างรวดเร็วแล้วค่อย ๆ ร่วงไป พบมากช่วงฝนตกหนักต่อเนื่องหลายวัน
แนวทางป้องกัน/แก้ไข
1. แปลงปลูกควรมีการระบายน้ำดี ไม่มีน้ำท่วมขัง และเมื่อมีน้ำท่วมขังควรรีบระบายออก
2. ปรับปรุงดิน โดยใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และปรับสภาพดินให้มีค่าความเป็นกรด-ด่าง ประมาณ 6.5 กรณีดินที่เป็นกรดจัด ให้ใส่ปูนขาวหรือโดโลไมท์ อัตรา 100-200 กิโลกรัมต่อไร่
3. หลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจทำให้รากหรือลำต้นเกิดแผล ซึ่งจะเป็นช่องทางให้เชื้อราสาเหตุโรคเข้าทำลายพืชได้ง่ายขึ้น
4. ต้นทุเรียนที่เป็นโรครุนแรงมาก หรือยืนต้นแห้งตาย ควรขุดออกนำไปทำลายนอกแปลงปลูก แล้วราดดินในหลุมและบริเวณโดยรอบ ด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WP อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เมทาแลกซิล 25% WP อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ทิ้งไว้ระยะหนึ่ง จึงปลูกทดแทน
5. ตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบส่วนของกิ่ง ใบ ดอก และผลที่เป็นโรค ตัดแต่งส่วนที่เป็นโรค รวมทั้งเก็บผลเน่าที่ร่วงหล่นไปทำลายนอกแปลงปลูก แล้วพ่นด้วยสาร เมทาแลกซิล 25% WP อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WP อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ให้ทั่วทรงพุ่ม จำนวน 1-2 ครั้ง ทุก 7-10 วัน และควรหยุดพ่นสารก่อนเก็บเกี่ยวผล อย่างน้อย 15 วัน
6. ไม่นำเครื่องมือตัดแต่งที่ใช้กับต้นเป็นโรคไปใช้ต่อกับต้นปกติ และควรทำความสะอาดเครื่องมือก่อนนำไปใช้ใหม่ทุกครั้ง
7. เมื่อพบต้นที่ใบเริ่มมีสีซีด ไม่เป็นมันเงาหรือใบเหลืองหลุดร่วง ใช้สาร ฟอสโฟนิก แอซิด 40% SL ผสมน้ำสะอาด อัตรา 1:1 ใส่กระบอกฉีดยาฉีดเข้าลำต้น อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อต้น และ/หรือราดดินด้วยสารฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WP อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เมทาแลกซิล 25% WP อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
8. เมื่อพบอาการโรคบนกิ่งหรือที่โคนต้น ถากหรือขูดผิวเปลือกบริเวณที่เป็นโรคออก แล้วทาแผลด้วยสาร ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WP อัตรา 70 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือ ฟอสอีทิล-อะลูมิเนียม 80% WG อัตรา 90 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือ เมทาแลกซิล 25% WP อัตรา 40-60 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือ แมนโคเซบ + วาลิฟีนาเลท 60% + 6% WG อัตรา 100 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร หรือ โพรพาโมคาร์บไฮโดรคลอไรด์ + เมทาแลกซิล 10% + 15% WP อัตรา 60 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร ทุก 7 วัน จนกว่าแผลจะแห้ง หรือ ใช้ฟอสโฟนิก แอซิด 40% SL ผสมน้ำสะอาด อัตรา 1:1 ใส่กระบอกฉีดยา ใช้อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อต้น ฉีดเข้าลำต้นหรือกิ่งในบริเวณตรงข้ามอาการโรค หรือส่วนที่เป็นเนื้อไม้ดีใกล้บริเวณที่เป็นโรค
9. หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ตัดแต่งกิ่งเป็นโรค กิ่งแห้ง และตัดขั้วผลที่ค้างอยู่ นำไปทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อลดการสะสมของเชื้อสาเหตุโรค
ระวัง โรครากเน่า และโคนเน่า (เชื้อรา Sclerotium rolfsii) ในพริก
สภาพอากาศในช่วงนี้มีฝนตก และฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ เตือนผู้ปลูกพริก ในระยะ ทุกระยะการเจริญเติบโต รับมือโรครากเน่า และโคนเน่า (เชื้อรา Sclerotium rolfsii)
พริกแสดงอาการเหี่ยวอย่างรวดเร็ว บางครั้งพบใบที่อยู่ด้านล่างเปลี่ยนเป็นสีเหลือง หากอาการรุนแรงพริกจะยืนต้นตาย บริเวณโคนต้นพบเส้นใยของเชื้อราสาเหตุโรค มีลักษณะหยาบสีขาว ต่อมาเส้นใยของเชื้อจะรวมตัวเป็นเม็ดเล็ก ๆ สีขาว แล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มจนเกือบดำคล้ายเมล็ดผักกาด จึงมักเรียกว่า ราเม็ดผักกาด โรคนี้พบได้ทุกระยะการเจริญเติบโตของพริก
แนวทางป้องกัน/แก้ไข
1. ควรไถพลิกดินตากแดด เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่อยู่ในดิน เนื่องจากเชื้อสาเหตุโรคสามารถมีชีวิตอยู่ในดินได้นาน
2. ใส่ปูนขาวหรือโดโลไมท์ก่อนปลูก เพื่อปรับสภาพดิน
3. แปลงปลูกควรมีการระบายน้ำที่ดี
4. จัดระยะปลูกให้เหมาะสม และทำค้างหรือขึงเชือกช่วยเมื่อต้นพริกล้มหรือกิ่งปรกดิน เพื่อให้โคนต้นโปร่ง แสงแดดส่องถึง ไม่ให้มีความชื้นสูง
5. หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบต้นเป็นโรค ให้ถอนต้นและขุดดินบริเวณที่พบ นำไปทำลายนอกแปลงปลูก แล้วรดดินในหลุมและบริเวณใกล้เคียง ด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น คาร์บอกซิน 75% WP อัตรา 15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ โทลโคลฟอส-เมทิล 50% WP อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อีไตรไดอะโซล 24% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อีไตรไดอะโซล + ควินโตซีน 6% + 24% EC อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยรดสารทุก 5 วัน อย่างน้อย 2 ครั้ง เพื่อป้องกันเชื้อสาเหตุโรคแพร่ไปยังต้นข้างเคียง
6. หลังจากเก็บเกี่ยวพริกแต่ละรุ่น ควรกำจัดเศษซากพืชและวัชพืชในแปลงให้หมด เพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อโรค
7. ทำความสะอาดเครื่องมือ และอุปกรณ์ทางการเกษตร เช่น จอบ เสียม ทุกครั้งหลังใช้กับต้นที่เป็นโรค
ระวัง โรคราดำ (เชื้อรา Capnodium sp., Meliola sp.) ในลองกอง
สภาพอากาศในช่วงนี้มีฝนตก และฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ เตือนผู้ปลูกลองกอง ในระยะ ติดผล-เก็บผลผลิต รับมือโรคราดำ (เชื้อรา Capnodium sp., Meliola sp.)
พบคราบราสีดำติดตามส่วนของช่อดอก ช่อผล ทำให้ดอกผิดปกติ หรือเหี่ยว และหลุดร่วง บางครั้งอาจทำให้ไม่ติดผล ถ้าเป็นโรคในระยะผลอ่อน อาจทำให้ผลเหี่ยวและหลุดร่วง โดยโรคราดำมักพบในช่วงที่มีการระบาดของแมลงปากดูด โดยเฉพาะเพลี้ยหอย และเพลี้ยแป้ง
แนวทางป้องกัน/แก้ไข
1. พ่นน้ำเปล่าล้างคราบราดำ เพื่อลดปริมาณเชื้อ
2. พ่นสารป้องกันกำจัดโรคพืช เบโนมิล 50% WP อัตรา 6-12 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร บนช่อผลช่วงก่อนเก็บเกี่ยวทุก 14 วัน
3. เนื่องจากเชื้อราเจริญบนสารเหนียวที่แมลงปากดูด เช่น เพลี้ยหอย และเพลี้ยแป้งขับถ่ายไว้ จึงควรพ่นสารกำจัดแมลงดังนี้
- เพลี้ยหอย ได้แก่ มาลาไทออน 83% EC อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร
- เพลี้ยแป้ง ได้แก่ ไดโนทีฟูแรน 10% WP อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อิมิดาโคลพริด 70% WG อัตรา 4 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คาร์โบซัลแฟน 20% EC อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไทอะมีทอกแซม 25% WG อัตรา 4 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร
**** ไม่ควรพ่นสารในช่วงดอกบาน และระยะเริ่มติดผลอ่อน ควรหยุดพ่นอย่างน้อย 7 วัน ก่อนเก็บผลผลิต
ระวัง หนอนม้วนใบ ในถั่วเขียว
สภาพอากาศในช่วงนี้มีฝนตก และฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ เตือนผู้ปลูกถั่วเขียว ในระยะ การเจริญเติบโตทางลำต้น รับมือหนอนม้วนใบ
หนอนที่ฟักออกจากไข่ใหม่ ๆ จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ชักใยบาง ๆ คลุมตัวไว้ แล้วกัดกินผิวใบ เมื่อหนอนโตขึ้นจึงกระจายกันออกไปเพื่อหาใบหรือชักใยดึงเอาใบหลาย ๆ ใบมาห่อรวมกัน แล้วอาศัยกัดกินอยู่ในใบที่ม้วนนั้นจนหมดแล้วเคลื่อนย้ายไปทำลายใบอื่นต่อไป
แนวทางป้องกัน/แก้ไข
พ่นเชื้อแบคทีเรีย บาซิลลัส ทูริงเยนซิส อัตรา 100 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ พ่นสารฆ่าแมลง อินดอกซาคาร์บ 15% EC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เมทอกซีฟีโนไซด์ 24% SC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ลูเฟนนูรอน 5% EC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตรหรือ แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไตรอะโซฟอส 40% EC อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเมื่อใบถูกทำลาย 30 เปอร์เซ็นต์
ระวัง หนอนกระทู้ผัก ในถั่วเขียว
สภาพอากาศในช่วงนี้มีฝนตก และฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ เตือนผู้ปลูกถั่วเขียว ในระยะ การเจริญเติบโตทางลำต้น รับมือ หนอนกระทู้ผัก
หนอนที่ฟักออกมาจากไข่ใหม่ ๆ จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม แทะผิวใบด้านล่าง ทำให้เหลือแต่ผิวใบด้านบน มองเห็นใบโปร่งใสคล้ายร่างแห เมื่อหนอนโตขึ้นจะแยกกลุ่มออกไปกัดกินใบทั่วทั้งแปลง โดยหนอนจะกัดกินจากขอบใบเข้าไป
แนวทางป้องกัน/แก้ไข
พ่นเชื้อไวรัสของหนอนกระทู้ผัก อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่น 1-2 ครั้ง เมื่อพบการระบาด หรือ พ่นสารฆ่าแมลง แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% EC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไตรอะโซฟอส 40% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คลอร์ฟลูอาซูรอน 5% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นเมื่อใบถูกทำลาย 30 เปอร์เซ็นต์