การปลูกและการดูแลรักษา ต้นมังคุด ให้สมบูรณ์แข็งแรง

02 พฤศจิกายน 2565

สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร แนะวิธีการปลูกและการดูแลรักษา ต้นมังคุด ให้สมบูรณ์แข็งแรง ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพ

มังคุดเป็นไม้ผลยืนต้นขนาดใหญ่  ที่ชอบสภาพอากาศร้อนชื้น และได้รับการขนานนามเป็นถึง ราชินีผลไม้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งผลไม้ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและ ต่างประเทศ ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และไต้หวัน

ดังนั้นวันนี้ไทยนิวส์จะมาแนะนำ การปลูกและการดูแลรักษา ต้นมังคุด ให้สมบูรณ์แข็งแรง โดยเริ่มต้นจากการเตรียมพื้นที่

         พื้นที่ดอน ให้ทำการไถพรวน เพื่อปรับพื้นที่ให้เรียบและขุดร่องระบายน้ำ  หากมีปัญหาน้ำท่วมขัง หากเป็นพื้นที่ดอนที่เคยปลูกไม้ยืนต้นมาก่อน ไม่ต้องทำการไถพรวน

         พื้นที่ลุ่ม  เป็นพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังไม่มาก ให้นำดินมาเทกองตามผังปลูก ความสูงประมาณ 1.0 ถึง 1.5 เมตร แล้วปลูกมังคุดบนสันกลางของกองดิน หากพื้นที่มีน้ำท่วมขังมาก   ทำการยกร่องสวนให้มีขนาดสันร่องกว้างไม่น้อยกว่า 6 เมตร ร่องน้ำกว้าง 1.5 เมตร ลึก 1 เมตร มีระบบระบายน้ำเข้าและออกเป็นอย่างดี

การปลูกและการดูแลรักษา ต้นมังคุด ให้สมบูรณ์แข็งแรง

 

วิธีการปลูก
         สามารถทำได้ทั้งการขุดหลุมปลูก  ซึ่งเหมาะกับพื้นที่ที่ค่อนข้างแห้งแล้งและยังไม่มีการวางระบบน้ำไว้ก่อนปลูก  วิธีนี้ดินที่อยู่ในหลุมจะช่วยเก็บความชื้นได้ดีขึ้น แต่หากมีฝนตกชุก น้ำขังรากเน่า และต้นจะตายได้ง่าย  ส่วนการปลูกโดยไม่ต้องขุดหลุม (ปลูกแบบนั่งแท่นหรือยกโคก)  เหมาะกับพื้นที่ฝนตกชุก วิธีนี้ช่วยในการระบายน้ำได้ดี น้ำไม่ขังโคนต้น แต่ต้องมีการวางระบบน้ำไว้ก่อนจะทำการปลูก ซึ่งต้นมังคุดจะเจริญเติบโตเร็วกว่าการขุดหลุม  ทั้งนี้จุดเน้นที่สำคัญในการปลูกมังคุด คือ ควรใช้ต้นกล้าที่มีระบบรากดี ไม่ขดงอในถุง แต่หากจะใช้ต้นกล้าขนาดใหญ่ก็ให้ตัดดินและรากที่ขดหรือพันตรงก้นถุงออก

การปลูกและการดูแลรักษา ต้นมังคุด ให้สมบูรณ์แข็งแรง

ระยะปลูก

         เนื่องจากมังคุดเป็นไม้ผลที่มีทรงพุ่มขนาดใหญ่ เจริญเติบโตช้า ระยะปลูกที่แนะนำคือ 8 ถึง 9 x 8 ถึง 9 เมตร สำหรับสวนที่จะใช้เครื่องจักรกลแทนแรงงานควรจะเว้นระยะระหว่างแถวให้ห่างพอที่เครื่องจักรกลจะเข้าไปทำงานแต่ให้ระยะระหว่างต้นชิดขึ้น โดยมีจำนวนต้นต่อไร่ประมาณ 20-25 ต้นต่อไร่

การให้น้ำ
         ต้องให้น้ำอย่างสม่ำเสมอช่วงการเจริญเติบโตทางใบ และงดให้น้ำช่วงปลายฝน ต้นมังคุดที่มีอายุตายอด 9 ถึง 12 สัปดาห์  และผ่านสภาพแล้ง 20 ถึง 30 วัน  เมื่อแสดงอาการใบตก ปลายใบบิด ก้านใบและกิ่งที่ปลายยอดเริ่มเป็นร่อง ให้กระตุ้นการออกดอกโดยการให้น้ำอย่างเต็มที่ให้มากถึง 1,100 ถึง 1,600 ลิตรต่อต้น*  จากนั้นให้หยุดดูอาการ 7 ถึง 10 วัน เมื่อพบว่าก้านใบและกิ่งที่ปลายยอดเริ่มเต่งขึ้นก็ให้น้ำ เป็นครั้งที่ 2 ในปริมาณ 1/2 ของครั้งแรก หลังจากนั้น 10 ถึง 14 วัน ตาดอกจะผลิออกมาให้เห็น และควรมีการจัดการน้ำเพื่อควบคุมให้มีปริมาณดอกเพียง ร้อยละ 35 ถึง 50 ของยอดทั้งหมด เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ โดยหลังจากมังคุดออกดอกแล้ว 10 ถึง 15 เปอร์เซ็นต์ของตายอดทั้งหมด ควรให้น้ำปริมาณมาก ถึง 220 ถึง 280 ลิตรต่อต้นทุกวัน จนกระทั่งพบว่ายอดที่ยังไม่ออกดอกเริ่มมียอดอ่อนแทนตาดอก  จึงค่อยให้น้ำตามปกติ คือ 80 ถึง 110 ลิตรต่อต้น และจะต้องให้น้ำในปริมาณนี้อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องทุกวัน เพื่อให้ผลมังคุดมีพัฒนาการที่ดี

การใส่ปุ๋ย
         การใส่ปุ๋ยแก่มังคุดจะแบ่งใส่ตามระยะพัฒนาของต้นและการเก็บเกี่ยวเป็น 3 ระยะ ดังนี้
1. เพื่อบำรุงต้นหลังการเก็บเกี่ยว

ปุ๋ยอินทรีย์ 20 ถึง 50 กิโลกรัม/ต้น

ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 ในปริมาณ 1 ถึง 3 กิโลกรัมต่อต้น

2. เพื่อส่งเสริมการออกดอก (ช่วงปลายฝน)

ปุ๋ยเคมีสูตร 8-24-24 หรือ 9-24-24 ในปริมาณ 2 ถึง 3 กิโลกรัมต่อต้น

3. เพื่อบำรุงผล (หลังติดผล 3 ถึง 4 สัปดาห์)

ปุ๋ยเคมีสูตร 13-13-21 ในปริมาณ 2 ถึง 3 กิโลกรัม/ต้น

การปฏิบัติอื่นๆ
         1. การเตรียมสภาพต้นมังคุดให้พร้อม คือ การจัดการให้ต้นมังคุดแตกใบอ่อนในเวลาที่เหมาะสม และพัฒนาไปเป็นใบแก่ได้พอดีกับช่วงที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมปกติ  ต้นมังคุดที่ตัดแต่งกิ่งและใส่ปุ๋ยตามคำแนะนำจะแตกใบอ่อนตามเวลาที่เหมาะสม  แต่ต้นที่ไว้ผลมากและขาดการบำรุงที่ดีในฤดูที่ผ่านมา แม้จะจัดการต่างๆ แล้ว แต่ก็มักจะไม่ค่อยแตกใบอ่อนหรือแตกใบอ่อนช้า  จึงควรกระตุ้นการแตกใบอ่อนโดยฉีดพ่นปุ๋ยยูเรีย อัตรา 100 ถึง 200 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร แต่หากพ่นปุ๋ยยูเรียไปแล้ว มังคุดยังไม่ยอมแตกใบอ่อนก็ให้ใช้ไทโอยูเรีย   จำนวน 20 ถึง 40 กรัม ผสมน้ำตาลเด็กซ์โตรส  จำนวน 600 กรัม ในน้ำ 20 ลิตร
(ไทโอยูเรียมีความเป็นพิษต่อพืชสูงจะทำให้ใบแก่ร่วงได้จึงต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง) เมื่อมังคุดแตกใบอ่อนแล้วให้ดูแลรักษาใบอ่อนที่แตกออกมาให้สมบูรณ์ โดยการหมั่นตรวจสอบและป้องกันการระบาดของหนอนกัดกินใบและโรคใบจุดอย่างใกล้ชิด
         2. การจัดการเพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตที่มีคุณภาพ (มังคุดคุณภาพ หมายถึง ผลมังคุดที่มีผิวลายไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ของผิวผลและมีน้ำหนักไม่น้อยกว่า 80 กรัมปราศจากอาการเนื้อแก้วยางไหลภายในผล และจะต้องเป็นผลที่เก็บเกี่ยวถูกวิธี)  ส่วนการควบคุมปริมาณดอก มังคุดทุกดอกจะเจริญเติบโตเป็นผลได้โดยไม่ต้องผสมเกสรหากปล่อยให้ออกดอกมากเกินไป ผลที่ได้มีขนาดเล็กราคาไม่ดี  และยังมีผลต่อความสมบูรณ์ของต้นในปีถัดไป นอกจากจะจัดการน้ำตามที่กล่าวแล้ว ในกรณีที่พบว่ามังคุดออกดอกมากเกินไป  ให้หว่านปุ๋ยทางดิน สูตร 16-16-16 หรือ 15-15-15 ในปริมาณ 2 เท่าของปกติควบคู่กับการให้น้ำจะทำให้ผลที่มีอายุ 2 ถึง 3 สัปดาห์ร่วงได้บางส่วน  และจะต้องทำการตรวจสอบและป้องกันกำจัดศัตรูเพลี้ยไฟ ไรแดง ไรขาวอย่างใกล้ชิดในช่วงดอกใกล้บาน และติดผลขนาดเล็ก
         3. การเก็บเกี่ยว เก็บเกี่ยวผลมังคุดที่แก่พอเหมาะ เมื่อผลเริ่มเป็นระยะสายเลือด คือ ผลที่มีสีเหลืองอ่อนปนสีเขียว มีจุดประสีชมพูกระจายอยู่ทั่วผล แนะนำให้เก็บเกี่ยวด้วยตะกร้อผ้าเพื่อป้องกันผลตกลงมากระแทกกับพื้นและรอยขีดข่วนที่ผิว

การปลูกและการดูแลรักษา ต้นมังคุด ให้สมบูรณ์แข็งแรง

ข้อมูลจาก : สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร

สนับสนุนโดย : ปุ๋ยมงกุฎ

การปลูกและการดูแลรักษา ต้นมังคุด ให้สมบูรณ์แข็งแรง