ภาวะที่อากาศร้อน แห้งแล้ง ฝนทิ้งช่วง เป็นสภาพที่เหมาะต่อการระบาดของไรแดงมันสำปะหลัง พื้นที่ใดประสบกับภาวะดังกล่าว เกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลังควรหมั่นสำรวจแปลงปลูก เมื่อเริ่มพบการระบาด จะได้ป้องกันกำจัดทันก่อนที่มันสำปะหลังแสดงอาการรุนแรงซึ่งกระทบต่อการให้ผลผลิต
ไรแดงหม่อน หรือไรแดงมันสำปะหลัง (Mulberry red mite : Tetranychus truncatus Ehara) : เป็นศัตรูที่สำคัญอีกชนิดหนึ่งของมันสำปะหลัง ตัวอ่อนและตัวเต็มวัย ดูดกินน้ำเลี้ยงอยู่ที่บริเวณใต้ใบและสร้างเส้นใยอยู่เหนือผิวใบบริเวณที่ไรดูดทำลายอยู่ ผลของการดูดกินน้ำเลี้ยงของไรตรงบริเวณใต้ใบ มีผลทำให้หน้าใบเกิดจุดประด่างขาว โดยเฉพาะตามแนวเส้นใบ ต่อมาขยายแผ่กว้างขึ้น ทำให้หน้าใบทั้งหมดมีสีขาวซีด ใบกระด้าง กรอบ หากระบาดรุนแรง ใบร่วงหลุดจากต้น
นอกจากไรแดงมันสำปะหลัง อาจพบการระบาดของไรแมงมุมคันซาวาและไรแดงชมพู่
ไรแมงมุมคันซาวา (Kanzawa spider mite : Tetranychus kanzawa Kishida) : ลักษณะตัวกลมรูปไข่ ลำตัวสีแดงสด สองข้างลำตัวมีแถบสีดำ มีตาเป็นจุดสีแดงอยู่บนสันหลังด้านข้างลำตัวทั้งสองข้าง ตัวอ่อนและตัวเต็มวัย ดูดกินน้ำเลี้ยงอยู่ที่บริเวณใต้ใบ โดยสร้างใยปกคลุมผิวใบบริเวณที่ไรอยู่อาศัยรวมกัน ใบมันสำปะหลังที่ถูกทำลาย เกิดปื้นแดง ไหม้เป็นสีน้ำตาลและขาดทะลุ ชงักการเจริญเติบโต
ไรแดงชมพู่ (Rose apple red mite : Oligonychus biharensis Hirst) ไรชนิดนี้เป็นศัตรูของไม้ผลและไม้ดอก ในมันสำปะหลัง พบระบาดเป็นครั้งคราว ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงด้านหน้าใบ เกิดเป็นจุดประสีด่างขาว ใบแห้ง หลุดร่วงได้ ไรชนิดนี้ไม่สร้างเส้นใย
หากการระบาดไม่รุนแรง เก็บใบมันสำปะหลังที่พบไร ไปเผาทำลาย กรณีที่มีการระบาดรุนแรง กลุ่มกีฏวิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร ได้แนะนำชนิดและอัตราของสารฆ่าไรที่มีประสิทธิภาพในการกำจัด ดังนี้
– ไพริดาเบน (pyridaben) 20% ดับบลิวพี อัตรา 10 กรัม/น้ำ 20 ลิตร
– เฟนบูทาติน ออกไซด์ (fenbutatin oxide) 55% เอสซี อัตรา 10 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร
– สไปโรมีซิเฟน (spiromesifen) 24% เอสซี อัตรา 6 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร
– เตตราไดฟอน (tetradifon) 7.25% อีซี อัตรา 50 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร
– อามีทราซ (amitraz) 20% อีซี อัตรา 40 มิลลิลิตร/น้ำ 20 ลิตร
ในการใช้สารฆ่าไร พ่นให้ทั่วบริเวณใต้ใบและหลังใบ พ่นสารเฉพาะบริเวณที่พบการทำลายของไรเท่านั้น ไม่ควรพ่นสารชนิดเดียวกันติดต่อกันเกิน 3 ครั้ง ควรสลับชนิดสารเพื่อป้องกันการต้านทานต่อสาร
สนับสนุนโดย : ปุ๋ยทิพย์