ไลฟ์สไตล์

heading-ไลฟ์สไตล์

กรมวิชาการเกษตร เตือนภัยการผลิตพืชช่วง มกราคม

09 ม.ค. 2566 | 17:42 น.
กรมวิชาการเกษตร  เตือนภัยการผลิตพืชช่วง มกราคม

กรมวิชาการเกษตร ออกประกาศเตือนภัยการผลิตพืชช่วงวันที่ 11 - 24 มกราคม 2566 ช่วงอากาศเย็น และมีฝนตกเล็กน้อยบางพื้นที่

ระวัง โรคราน้ำค้าง (เชื้อรา Pseudoperonospora cubensis) Pseudoperonospora cubensis ในพืชตระกูลแตง (เช่น แตงกวา แตงร้าน แตงโม แตงไทย เมล่อน แคนตาลูป ซูกินี ฟักทอง ฟักเขียว ฟักแม้ว มะระจีน และบวบ)

มักพบอาการของโรคบนใบที่อยู่บริเวณด้านล่างของต้นก่อน แล้วขยายลุกลามไปยังใบที่อยู่ด้านบน อาการเริ่มแรกบนใบปรากฏแผลฉ่ำน้ำ แผลจะขยายตามกรอบของเส้นใบย่อย ทำให้เห็นเป็นรูปเหลี่ยมเล็ก ๆ ต่อมาแผลเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ในตอนเช้าที่สภาพอากาศมีความชื้นสูงจะพบเส้นใยของเชื้อรา ลักษณะเป็นขุยสีขาวถึงเทาที่แผลบริเวณด้านใต้ใบ แผลจะขยายติดต่อกันเป็นแผลขนาดใหญ่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือเทาดำ หากอาการรุนแรงจะทำให้ใบเหลืองและแห้งตายทั้งต้น พืชที่เป็นโรคจะติดผลน้อย ผลมีขนาดเล็ก คุณภาพของผลจะลดลง หากเป็นโรคในระยะมีผลอ่อน จะทำให้ผลลีบเล็ก และบิดเบี้ยว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

heading-ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แนวทางป้องกัน/แก้ไข

1. ใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดีและปราศจากโรค 2. ก่อนปลูกควรแช่เมล็ดพันธุ์ในน้ำอุ่น 50 องศาเซลเซียส นาน 20 - 30 นาที หรือคลุกเมล็ดด้วยสารเมทาแลกซิล 35% DS อัตรา 7 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม 3. ไม่ปลูกพืชระยะชิดกันเกินไป เพราะจะทำให้มีความชื้นสูง 4. หมั่นกำจัดวัชพืช เพื่อให้มีการถ่ายเทอากาศในแปลงได้ดี 5. ตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบโรคพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น ไดเมโทมอร์ฟ 50% WP อัตรา 20 – 30 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือแมนโคเซบ + เมทาแลกซิล-เอ็ม 64% + 4% WG อัตรา 50 - 60 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไซมอกซานิล + แมนโคเซบ 8% + 64% WP อัตรา 30 - 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แมนโคเซบ + วาลิฟีนาเลท 60% + 6% WG อัตรา 50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นให้ทั่วทั้งด้านบนใบและใต้ใบ ทุก 5 - 7 วัน 6. แปลงที่เป็นโรค ควรหลีกเลี่ยงการให้น้ำในตอนเย็น 7. แปลงที่มีการระบาดของโรครุนแรง หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ให้เก็บซากพืชไปทำลายนอกแปลงปลูก และไม่ปลูกพืชตระกูลแตงซ้ำ ควรปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน

กรมวิชาการเกษตร  เตือนภัยการผลิตพืชช่วง มกราคม

ระวัง หนอนหัวดำมะพร้าว ในมะพร้าว

สภาพอากาศในช่วงนี้อากาศเย็นในตอนเช้า มีฝนตกและฝนตกหนักบางพื้นที่ (ภาคใต้)  เตือนผู้ปลูกมะพร้าว ในระยะ  ยังไม่ให้ผลผลิต ให้ผลผลิตแล้ว รับมือหนอนหัวดำมะพร้าว

ตัวหนอนเข้าทำลายใบมะพร้าว โดยแทะกินผิวใบบริเวณใต้ทางใบจากนั้นจะถักใยนำมูลที่ถ่ายออกมาผสมกับเส้นใยที่สร้างขึ้น นำมาสร้างเป็นอุโมงค์คลุมลำตัวยาวตามทางใบบริเวณใต้ทางใบ ตัวหนอนอาศัยอยู่ภายในอุโมงค์ที่สร้างขึ้นและแทะกินผิวใบ โดยทั่วไปหนอนหัวดำมะพร้าวชอบทำลายใบแก่ หากการทำลายรุนแรงจะพบว่า หนอนหัวดำมะพร้าวทำลายก้านทางใบ จั่น และผลมะพร้าว ต้นมะพร้าวที่ถูกหนอนหัวดำมะพร้าวลงทำลายทางใบหลาย ๆ ทาง พบว่าหนอนหัวดำมะพร้าวจะถักใยดึงใบมะพร้าวมาเรียงติดกันเป็นแพ เมื่อตัวหนอนโตเต็มที่แล้วจะถักใยหุ้มลำตัวอีกครั้ง และเข้าดักแด้อยู่ภายในอุโมงค์ ดักแด้มีสีน้ำตาลเข้ม ดักแด้เพศผู้จะมีขนาดเล็กกว่าดักแด้เพศเมียเล็กน้อย ผีเสื้อหนอนหัวดำมะพร้าวที่ผสมพันธุ์แล้วจะวางไข่บนเส้นใยที่สร้างเป็นอุโมงค์ หรือซากใบที่ถูกหนอนหัวดำมะพร้าวลงทำลายแล้ว ตัวหนอนเมื่อฟักออกจากไข่จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม 1 - 2 วัน ก่อนจะย้ายไปกัดกินใบมะพร้าว จึงมักพบหนอนหัวดำมะพร้าวหลายขนาดกัดกินอยู่ในใบมะพร้าวใบเดียวกัน หากการทำลายรุนแรงอาจทำให้ต้นมะพร้าวตายได้

แนวทางป้องกัน/แก้ไข

1. วิธีเขตกรรมและวิธีกล ตัดใบที่มีหนอนหัวดำมะพร้าวนำไปเผาทำลายทันที ไม่ควรเคลื่อนย้ายต้นพันธุ์มะพร้าวหรือพืชตระกูลปาล์มมาจากแหล่งที่มีการระบาด 2. การใช้ชีววิธี การใช้แตนเบียนที่เฉพาะเจาะจงกับหนอนหัวดำมะพร้าว เช่น แตนเบียนโกนีโอซัส นีแฟนติดิส (Goniozus nephantidis) โดยปล่อยช่วงเวลาเย็น พลบค่ำ อัตรา 200 ตัวต่อไร่ต่อครั้ง ให้กระจายทั่วแปลงเดือนละครั้ง ถ้าปล่อยแตนเบียนได้มากจะทำให้เห็นผลในการควบคุมเร็วขึ้น 3. การใช้สารเคมี 3.1 ใช้สารอีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92% EC เข้มข้นโดยไม่ต้องผสมน้ำฉีดเข้าที่ลำต้นมะพร้าวอัตรา 30 มิลลิลิตรต่อต้น โดยใช้สว่านเจาะรูให้เอียงลงประมาณ 45 องศา จำนวน 2 รู ให้ตรงข้ามกัน เจาะรูให้ลึก 10 - 15 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับขนาดของดอกสว่าน ตำแหน่งของรูอยู่สูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร แล้วฉีดสารฆ่าแมลงลงไปรูละ 15 มิลลิลิตร ปิดรูด้วยดินน้ำมัน วิธีนี้จะป้องกันกำจัดหนอนหัวดำมะพร้าวได้นานมากกว่า 3 เดือน (วิธีการนี้สามารถป้องกันกำจัดศัตรูชนิดอื่นได้ด้วย เช่น ด้วงแรดมะพร้าว ด้วงงวงมะพร้าว แมลงดำหนามมะพร้าว) ** แนะนำเฉพาะมะพร้าวที่มีความสูงมากกว่า 12 เมตร ขึ้นไป ห้ามใช้กับมะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวกะทิ และมะพร้าวที่ใช้ทำน้ำตาล 3.2 กรณีมะพร้าวต้นเล็กที่มีความสูงน้อยกว่า 12 เมตร รวมทั้งมะพร้าวกะทิ มะพร้าวน้ำหอม และมะพร้าวที่ใช้ทำน้ำตาล ในพื้นที่ที่มีการระบาดรุนแรง และไม่มีการปล่อยแตนเบียน ให้พ่นทรงพุ่มด้วยสารฟลูเบนไดอะไมด์ 20% WG อัตรา 5 กรัม หรือ คลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% SC อัตรา 20 มิลลิลิตร หรือ ลูเฟนนูรอน 5% EC อัตรา 20 มิลลิลิตร (สารนี้มีพิษสูงต่อกุ้ง ไม่ควรใช้บริเวณที่มีการเลี้ยงกุ้ง) โดยเลือกสารชนิดใดชนิดหนึ่งตามอัตราที่กำหนดผสมน้ำ 20 ลิตร พ่นให้ทั่วทรงพุ่มบริเวณใต้ใบ 1 - 2 ครั้ง ควรใช้เครื่องยนต์พ่นสารที่สามารถควบคุมแรงดันได้ และมีแรงดันไม่น้อยกว่า 30 บาร์ กรณีที่มีการปล่อยแตนเบียน ให้พ่นสารเคมีก่อน ประมาณ 2 สัปดาห์ ค่อยทำการปล่อยแตนเบียน กรณีที่มีการเคลื่อนย้ายต้นพันธุ์ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของหนอนหัวดำมะพร้าวสามารถใช้วิธีการนี้ได้เช่นเดียวกัน

กรมวิชาการเกษตร  เตือนภัยการผลิตพืชช่วง มกราคม

ระวัง แมลงดำหนามมะพร้าว ในมะพร้าว

สภาพอากาศในช่วงนี้อากาศเย็นในตอนเช้า มีฝนตกและฝนตกหนักบางพื้นที่ (ภาคใต้)  เตือนผู้ปลูกมะพร้าว ในระยะ  ยังไม่ให้ผลผลิต ให้ผลผลิตแล้ว รับมือแมลงดำหนามมะพร้าว

ทำลายส่วนใบของมะพร้าว โดยทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัย อาศัยอยู่ในใบอ่อนที่ยังไม่คลี่ของมะพร้าว และแทะกินผิวใบ ใบมะพร้าวที่ถูกทำลายเมื่อใบคลี่กางออกจะมีสีน้ำตาลอ่อน หากใบมะพร้าวถูกทำลายติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำให้ยอดของมะพร้าวมีสีน้ำตาล เมื่อมองไกล ๆ จะเห็นเป็นสีขาวโพลน ชาวบ้านเรียก “มะพร้าวหัวหงอก”

แนวทางป้องกัน/แก้ไข

1. วิธีเขตกรรมและวิธีกล ไม่ควรเคลื่อนย้ายต้นพันธุ์มะพร้าวหรือพืชตระกูลปาล์มมาจากแหล่งที่มีการระบาด 2. การใช้ชีววิธี การใช้แตนเบียนที่เฉพาะเจาะจงกับแมลงดำหนาม เช่น แตนเบียนอะซีโคเดส ฮิสไพนารัม (Asecodes hispinarum) มาเลี้ยงขยายเพิ่มปริมาณ และปล่อยทำลายหนอนแมลงดำหนามมะพร้าว 3. การใช้สารเคมี 3.1 กรณีมะพร้าวสูงกว่า 12 เมตร ให้ฉีดสารเข้าต้น ด้วยสารอีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92% EC อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อต้น โดยห้ามใช้กับมะพร้าวน้ำหอมและมะพร้าวกะทิ 3.2 กรณีมะพร้าวต้นเล็ก ใช้สารอิมิดาโคลพริด 70% WG อัตรา 1 กรัม หรือ ไทอะมีทอกแซม 25% WG อัตรา 1 กรัม หรือ ไดโนทีฟูแรน 10% WP อัตรา 1 กรัม ละลายน้ำ 1 ลิตรต่อต้น ราดบริเวณยอดและรอบคอมะพร้าว หรือ การใช้สารคาร์แทปไฮโดรคลอไรด์ 4% GR ใส่ถุงผ้าที่ดัดแปลงคล้ายถุงชา อัตรา 30 กรัมต่อต้น มีประสิทธิภาพป้องกันกำจัดแมลงดำหนามมะพร้าวได้นานประมาณ 1 เดือน

กรมวิชาการเกษตร  เตือนภัยการผลิตพืชช่วง มกราคม

ระวัง ด้วงแรดมะพร้าว ในมะพร้าว

สภาพอากาศในช่วงนี้อากาศเย็นในตอนเช้า มีฝนตกและฝนตกหนักบางพื้นที่ (ภาคใต้)  เตือนผู้ปลูกมะพร้าว ในระยะ  ยังไม่ให้ผลผลิต ให้ผลผลิตแล้ว รับมือด้วงแรดมะพร้าว

ตัวเต็มวัยเข้าทำลายพืช โดยการบินขึ้นไปกัดเจาะโคนทางใบหรือยอดอ่อนของมะพร้าว รวมทั้งเจาะทำลายยอดอ่อนที่ยังไม่คลี่ ทำให้ใบที่เกิดใหม่ไม่สมบูรณ์ มีรอยขาดแหว่งเป็นริ้ว ๆ คล้ายหางปลา หรือรูปพัด ถ้าโดนทำลายมาก ๆ จะทำให้ใบที่เกิดใหม่แคระแกรน รอยแผลที่ถูกด้วงแรดมะพร้าวกัดเป็นเนื้อเยื่ออ่อนทำให้ด้วงงวงมะพร้าวเข้ามาวางไข่ หรือเป็นทางให้เกิดยอดเน่า จนถึงต้นตายได้ในที่สุด ด้วงแรดมะพร้าวในระยะตัวหนอน ส่วนใหญ่พบตามพื้นดินในบริเวณที่มีการกองปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก จะกัดกินและทำลายระบบรากของมะพร้าวปลูกใหม่ ทำให้พบอาการยอดเหี่ยวและแห้งเป็นสีน้ำตาล ต้นแคระแกร็นไม่เจริญเติบโต

แนวทางป้องกัน/แก้ไข

1. วิธีเขตกรรม ทำความสะอาดบริเวณสวนมะพร้าวเพื่อกำจัดแหล่งขยายพันธุ์ เป็นวิธีที่ใช้ได้ผลดีมานาน ถ้ามีกองปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก กองขยะ กองขี้เลื่อย แกลบ ควรกำจัดออกไปจากบริเวณสวน หรือกองให้เป็นที่ แล้วหมั่นกลับเพื่อตรวจดู หากพบหนอนให้จับมาทำลายหรือเผากองขยะนั้นเสีย ส่วนของลำต้นและตอมะพร้าวที่โค่นทิ้งไว้ หรือมะพร้าวที่ยืนต้นตายควรโค่นลงมาเผาทำลาย ต้นมะพร้าวที่ถูกตัดเพื่อปลูกทดแทน ถ้ายังสดอยู่เผาทำลายไม่ได้ ควรทอนออกเป็นท่อนสั้น ๆ นำมารวมกันไว้ ปล่อยให้ผุสลาย ล่อให้ด้วงแรดมาวางไข่ ด้วงแรดจะวางไข่ตามเปลือกมะพร้าวที่อยู่ติดกับพื้นดินเพราะมีความชุ่มชื้นสูงและผุเร็ว เผาทำลายท่อนมะพร้าวเพื่อกำจัดทั้งไข่ หนอน และดักแด้ของด้วงแรดมะพร้าว ตอมะพร้าวที่เหลือให้ใช้น้ำมันเครื่องใช้แล้วราดให้ทั่วตอเพื่อป้องกันการวางไข่ได้ 2. การใช้ชีววิธี ใช้เชื้อราเขียวเมตาไรเซียม (Metarhizium sp.) ใส่ไว้ตามกองขยะ กองปุ๋ยคอก หรือท่อนมะพร้าวที่มีหนอนด้วงแรดมะพร้าวอาศัยอยู่ เกลี่ยเชื้อให้กระจายทั่วกอง เพื่อให้เชื้อมีโอกาสสัมผัสกับตัวหนอนให้มากที่สุด รดน้ำให้ความชื้น หาวัสดุ เช่น ใบมะพร้าวคลุมกองไว้ เพื่อรักษาความชื้นและป้องกันแสงแดด เชื้อจะทำลายด้วงแรดมะพร้าวทุกระยะการเจริญเติบโต 3. การใช้สารเคมี 3.1 ต้นมะพร้าวอายุ 3 - 5 ปี ซึ่งยังไม่สูงมากนัก ใช้ลูกเหม็นใส่บริเวณคอมะพร้าวที่โคนทางใบรอบ ๆ ยอดอ่อน ทางละ 2 ลูก ต้นละ 6 - 8 ลูก กลิ่นของลูกเหม็นจะไล่ไม่ให้ด้วงแรดมะพร้าวบินเข้าไปทำลายคอมะพร้าว 3.2 ใช้สารฆ่าแมลงไดอะซินอน 60% EC อัตรา 80 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร ราดบริเวณคอมะพร้าวตั้งแต่โคนยอดอ่อนลงมาให้เปียก โดยใช้ปริมาณ 1 - 1.5 ลิตรต่อต้น ทุก 15 - 20 วัน ควรใช้ 1 - 2 ครั้ง ในช่วงระบาด

กรมวิชาการเกษตร  เตือนภัยการผลิตพืชช่วง มกราคม

ระวัง ด้วงงวงมะพร้าวชนิดเล็ก และด้วงงวงมะพร้าวชนิดใหญ่ ในมะพร้าว

สภาพอากาศในช่วงนี้อากาศเย็นในตอนเช้า มีฝนตกและฝนตกหนักบางพื้นที่ (ภาคใต้)  เตือนผู้ปลูกมะพร้าว ในระยะ  ยังไม่ให้ผลผลิต ให้ผลผลิตแล้ว รับมือด้วงงวงมะพร้าวชนิดเล็ก และด้วงงวงมะพร้าวชนิดใหญ่

มักทำลายตามรอยทำลายของด้วงแรดมะพร้าว โดยวางไข่บริเวณบาดแผลตามลำต้นหรือบริเวณที่ด้วงแรดมะพร้าวเจาะไว้ หรือบริเวณรอยแตกของเปลือก ด้วงงวงมะพร้าวก็สามารถเจาะส่วนที่อ่อนของมะพร้าวเพื่อวางไข่ได้ หนอนที่ฟักออกจากไข่จะกัดกินชอนไชไปในต้นมะพร้าว ทำให้เกิดแผลเน่าภายใน ต้นมะพร้าวที่ถูกทำลายจะแสดงอาการเฉาหรือยอดหักพับ เพราะบริเวณที่หนอนทำลายจะเป็นโพรง มีรูและแผลเน่าต่อเนื่องไปในบริเวณใกล้เคียง หนอนจะกัดกินไปจนกระทั่งต้นเป็นโพรงใหญ่ไม่สามารถส่งน้ำและอาหารไปถึงยอดได้ และทำให้ต้นมะพร้าวตายในที่สุด

แนวทางป้องกัน/แก้ไข

1. ต้นมะพร้าวที่ถูกด้วงงวงมะพร้าวชนิดใหญ่ทำลาย ควรตัดโค่นทอนเป็นท่อนแล้วผ่าจับหนอนทำลาย 2. ไม่ควรให้ต้นมะพร้าวเกิดแผลหรือปลูกโคนลอย เพราะจะเป็นช่องทางให้ด้วงงวงมะพร้าววางไข่ และตัวหนอนที่ฟักจากไข่จะเจาะเข้าทำลายในต้นมะพร้าวได้ หากลำต้นเป็นรอยแผล ควรทาด้วยน้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์ที่ใช้แล้ว หรือชันผสมกับน้ำมันยาง เพื่อป้องกันการวางไข่ 3. ป้องกันกำจัดด้วงแรดมะพร้าวอย่าให้ระบาดในสวนมะพร้าว เพราะรอยแผลที่ด้วงแรดมะพร้าวเจาะไว้จะเป็นช่องทางให้ด้วงงวงมะพร้าววางไข่ และเมื่อฟักออกเป็นตัวหนอนของด้วงงวงมะพร้าวก็จะเข้าไปทำลายในต้นมะพร้าวได้ง่ายขึ้น

ระวัง โรคราแป้ง (เชื้อรา Oidium mangiferae) Oidium mangiferae ในมะม่วง

สภาพอากาศในช่วงนี้อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า มีฝนตกเล็กน้อยบางพื้นที่  เตือนผู้ปลูกมะม่วง ในระยะ  ออกดอก ติดผลเล็ก รับมือโรคราแป้ง (เชื้อรา Oidium mangiferae)

อาการที่ช่อดอก พบเชื้อรามีลักษณะเป็นผงสีขาวคล้ายแป้งขึ้นฟูตามก้านช่อดอก ก้านดอกย่อย และดอก ดอกมีลักษณะช้ำเป็นสีน้ำตาลอ่อน ต่อมาเปลี่ยนเป็นสีดำ แห้งและหลุดร่วง บางครั้งเหลือแต่ก้าน ช่อดอกมีสีเข้มกว่าปกติ ไม่ติดผล หากติดผลจะได้ผลที่มีขนาดเล็ก ไม่สมบูรณ์ และหลุดร่วงง่ายอาการที่ใบ เริ่มแรกเป็นจุดแผลสีค่อนข้าง ซีดเหลือง พบเชื้อรามีลักษณะเป็นผงสีขาวคล้ายแป้งขึ้นปกคลุมผิวใบ หากอาการรุนแรงแผลจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเทา และใบบิดเบี้ยวผิดรูป

แนวทางป้องกัน/แก้ไข

ในช่วงที่มะม่วงแทงช่อดอก และสภาพอากาศเย็น ควรหมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบอาการของโรค พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น คาร์เบนดาซิม 50% SC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เบโนมิล 50% WP อัตรา 6 - 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไตรฟลอกซีสโตรบิน 50% WG อัตรา 5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ซัลเฟอร์ 80% WG อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ซัลเฟอร์ 80% WP อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก 7 วัน **** สารซัลเฟอร์ ไม่ควรพ่นในสภาพอากาศร้อน หรือมีแดดจัด เพราะอาจจะทำให้พืชเกิดอาการไหม้

กรมวิชาการเกษตร  เตือนภัยการผลิตพืชช่วง มกราคม

ระวัง โรคราแป้ง (เชื้อรา Oidium sp.) ในกุหลาบ

สภาพอากาศในช่วงนี้อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า มีฝนตกเล็กน้อยบางพื้นที่  เตือนผู้ปลูกกุหลาบ ในระยะ  ทุกระยะการเจริญเติบโต รับมือโรคราแป้ง (เชื้อรา Oidium sp.)

พบอาการของโรคได้กับทุกส่วนของพืช บนใบอ่อน หรือดอกตูม อาการเริ่มแรกจะเกิดรอยสีชมพูเข้ม ต่อมาจะพบเชื้อราลักษณะคล้ายผงแป้งสีขาวเกิดขึ้นเป็นหย่อม ๆ พบทั้งด้านบนใบและใต้ใบ หากอาการรุนแรงจะพบผงสีขาวทั่วทั้งต้น ทำให้ใบและดอกบิดเบี้ยวเสียรูปทรง ใบเหลืองแล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล แห้งกรอบและร่วง

แนวทางป้องกัน/แก้ไข

1. ตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบอาการของโรค ตัดแต่งและเก็บส่วนที่เป็นโรคนำไปทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อสาเหตุโรค 2. หากพบว่าเริ่มมีการระบาดของโรค พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น ไพราโซฟอส 29.4% EC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เบโนมิล 50% WP อัตรา 6 - 10 กรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก 5 - 7 วัน **** ไม่ควรพ่นสารกลุ่มซัลเฟอร์ เพราะอาจทำให้กุหลาบเกิดอาการไหม้

ระวัง ไรแมงมุมคันซาวา ในกุหลาบ

สภาพอากาศในช่วงนี้อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า มีฝนตกเล็กน้อยบางพื้นที่  เตือนผู้ปลูกกุหลาบ ในระยะ  ทุกระยะการเจริญเติบโต รับมือไรแมงมุมคันซาวา

ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดทำลายอยู่บริเวณใต้ใบ โดยจะสร้างใยขึ้นปกคลุมผิวใบบริเวณที่ไรอาศัยอยู่รวมกัน กุหลาบที่ถูกทำลาย ในระยะแรกจะมีรอยประสีขาวเป็นจุดเล็ก ๆ ปรากฏขึ้นที่บริเวณหน้าใบ ต่อมาจุดประสีขาวนี้ค่อย ๆ แผ่ขยายออกเป็นบริเวณกว้าง จนทำให้กุหลาบทั้งใบมีอาการขาวซีด ใบจะค่อย ๆ เหลืองและแห้งหลุดร่วงไป ถ้าการทำลายยังคงดำเนินอยู่ต่อไปอย่างรุนแรง และต่อเนื่อง อาจมีผลทำให้กุหลาบทั้งต้นทิ้งใบ และแห้งตาย เหลือแต่กิ่ง เมื่อถึงระยะนี้ไรจะไต่ขึ้นไปรวมตัวกันแน่นอยู่ตรงบริเวณยอด และปลายกิ่งที่ปราศจากใบนี้ พร้อมกับสร้างเส้นใยทิ้งตัวลงมา เพื่อรอเวลาให้ลมพัดปลิวไปตกยังพืชอาศัยต้นใหม่ต่อไป

แนวทางป้องกัน/แก้ไข

หมั่นตรวจดูแปลงกุหลาบ โดยพลิกดูใต้ใบ หากพบว่ามีไรแมงมุมคันซาวาระบาด ให้พ่นสารฆ่าไร ไพริดาเบน 20% WP อัตรา 15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เฟนบูทาทินออกไซด์ 55% SC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เฟนไพรอกซิเมต 5% SC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นลงบนต้นกุหลาบให้ทั่วทั้งบริเวณด้านบน และด้านใต้ใบ เมื่อพบไรแมงมุมคันซาวาระบาด ทุก 4-7 วัน

ระวัง โรคแอนแทรคโนส (เชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides) ในสตรอว์เบอร์รี

สภาพอากาศในช่วงนี้อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า มีฝนตกเล็กน้อยบางพื้นที่  เตือนผู้ปลูกสตรอว์เบอร์รี ในระยะ  ทุกระยะการเจริญเติบโต รับมือโรคแอนแทรคโนส (เชื้อรา Colletotrichum gloeosporioides)

อาการบนก้านใบ และลำต้น พบแผลสีม่วงแดงขนาดเล็ก ขยายลุกลามไปตามความยาวของก้านใบและลำต้น ต่อมาเปลี่ยนเป็นแผลสีน้ำตาล เนื้อเยื่อบริเวณแผลแห้ง ทำให้เกิดรอยคอด หากอาการรุนแรง ต้นจะเหี่ยว และตายในที่สุด อาการบนไหล พบแผลสีม่วงแดงขนาดเล็ก ขยายลุกลามไปตามความยาวของสายไหล และเปลี่ยนเป็นแผลสีน้ำตาลในเวลาต่อมา ทำให้เกิดรอยคอดของไหลบริเวณที่เป็นแผล อาการบนผล แผลมีลักษณะฉ่ำน้ำเป็นสีน้ำตาลเข้ม เนื้อเยื่อรอบขอบแผลเปลี่ยนเป็นสีซีด แผลยุบตัวลง เมื่ออาการรุนแรงมากขึ้นจะขยายใหญ่และทำให้ผลเน่า ในสภาพที่มีอากาศชื้นอาจพบกลุ่มสปอร์สีส้มของเชื้อราสาเหตุโรคที่บริเวณแผล

แนวทางป้องกัน/แก้ไข

1. ใช้ส่วนขยายพันธุ์จากแหล่งปลูกที่ไม่มีการระบาดของโรค และส่วนขยายพันธุ์ที่ไม่มีอาการของโรค 2. ตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบโรคตัดส่วนที่เป็นโรคนำไปทำลายนอกแปลงปลูก แล้วพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช ฟลูโอไพแรม + ไตรฟลอกซีสโตรบิน 25% + 25% SC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟลูโอไพแรม + ทีบูโคนาโซล 20% + 20% SC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 5 วัน 3. แปลงที่พบการระบาดของโรค หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ให้เก็บซากพืชไปทำลายนอกแปลงปลูก

ระวัง โรคราแป้ง (เชื้อรา Oidium sp.) ในถั่วลันเตา

สภาพอากาศในช่วงนี้อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า มีฝนตกเล็กน้อยบางพื้นที่  เตือนผู้ปลูกถั่วลันเตา ในระยะ  ทุกระยะการเจริญเติบโต รับมือโรคราแป้ง (เชื้อรา Oidium sp.)

พบอาการของโรคที่ทุกส่วนของพืช อาการเริ่มแรกมักพบที่ใบก่อน โดยเฉพาะใบที่อยู่ด้านล่างของต้น จะพบเชื้อราลักษณะคล้ายผงแป้งสีขาวเกิดกระจายเป็นหย่อม ๆ ทั้งด้านบนใบและใต้ใบ ถ้าอาการรุนแรงเชื้อราจะลุกลามทั่ว เห็นต้นถั่วลันเตาขาวทั้งต้น ทำให้ใบและส่วนต่าง ๆ บิดเบี้ยวเสียรูปทรง ใบจะเหลือง ไหม้ และร่วงก่อนกำหนด ถ้าเกิดโรคในระยะออกดอก จะทำให้ต้นแคระแกร็น ติดฝักน้อย ฝักบิดเบี้ยว หรือฝักและเมล็ดลีบเล็กลง

แนวทางป้องกัน/แก้ไข

1. ไม่ปลูกพืชแน่นเกินไป และหมั่นกำจัดวัชพืช เพื่อให้มีการถ่ายเทของอากาศได้ดี 2. หมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบอาการของโรคพ่นด้วยสารซัลเฟอร์ 80% WP อัตรา 30 - 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไดโนแคป 19.5% WP อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คอปเปอร์ซัลเฟต 30% WP อัตรา 12.5 - 25 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เฮกซะโคนาโซล 5% EC อัตรา 20-30 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 5-7 วัน **** สารซัลเฟอร์ ไม่ควรพ่นในสภาพอากาศร้อน หรือมีแดดจัด เพราะอาจจะทำให้ใบไหม้

ระวัง โรคราแป้ง (เชื้อรา Oidium sp.) ในพืชตระกูลแตง (เช่น แตงกวา แตงร้าน แตงโม แตงไทย เมล่อน แคนตาลูป ซูกินี ฟักทอง ฟักเขียว ฟักแม้ว มะระจีน และบวบ)

สภาพอากาศในช่วงนี้อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า มีฝนตกเล็กน้อยบางพื้นที่  เตือนผู้ปลูกพืชตระกูลแตง (เช่น แตงกวา แตงร้าน แตงโม แตงไทย เมล่อน แคนตาลูป ซูกินี ฟักทอง ฟักเขียว ฟักแม้ว มะระจีน และบวบ) ในระยะ  ทุกระยะการเจริญเติบโต รับมือโรคราแป้ง (เชื้อรา Oidium sp.)

พบเชื้อราคล้ายผงแป้งสีขาวเกิดเป็นหย่อม ๆ บนใบ มักพบที่ใบส่วนล่างของต้นก่อน ถ้าสภาพแวดล้อมเหมาะสมจะเกิดกระจายทั่วทั้งใบ และลุกลามขึ้นไปยังใบส่วนบนของต้น ต่อมาใบค่อย ๆ ซีดเหลืองและแห้ง หากโรคระบาดรุนแรงจะลุกลามไปยังทุกส่วนของพืช ทำให้ต้นแห้งตายในที่สุด ถ้าพืชเป็นโรคในระยะติดผลอ่อน จะทำให้ผลแกร็น บิดเบี้ยว ผิวขรุขระ เป็นตุ่ม หรือแผลที่เปลือก

แนวทางป้องกัน/แก้ไข

1. หมั่นกำจัดวัชพืช เพื่อให้มีการถ่ายเทอากาศในแปลงได้ดี 2. ตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ เมื่อพบโรคเริ่มระบาด พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น ฟลูโอไพแรม + ไตรฟลอกซีสโตรบิน 25% + 25% SC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ทีบูโคนาโซล + ไตรฟลอกซีสโตรบิน 50% + 25% WG อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เพนทิโอไพแรด 20% SC อัตรา 5 - 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ โพรพิเนบ 70% WP อัตรา 40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เตตระโคนาโซล 4% EW อัตรา 10 - 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นทุก 5 - 7 วัน 3. แปลงที่เป็นโรค หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ควรเก็บซากพืชไปทำลายนอกแปลงปลูก

ข่าวเด่น

สาวว่ายน้ำอยู่ดีๆ โดน "คาปิบารา" โจมตี ชาวเน็ตดูแล้วเอาใจช่วยกว่า 14 ล้านวิว

สาวว่ายน้ำอยู่ดีๆ โดน "คาปิบารา" โจมตี ชาวเน็ตดูแล้วเอาใจช่วยกว่า 14 ล้านวิว

5 ราศี ดวงโชคลาภเด่นมาก ในเดือนมกราคมนี้

5 ราศี ดวงโชคลาภเด่นมาก ในเดือนมกราคมนี้

พระพล อดีตเจ้าอาวาสวัดดัง ก่อนบวชไม่ธรรมดา หลังอดีตชีแฉพามั่วทั่ววัด

พระพล อดีตเจ้าอาวาสวัดดัง ก่อนบวชไม่ธรรมดา หลังอดีตชีแฉพามั่วทั่ววัด

AIS ขานรับมาตรการ “Easy E-Receipt 2.0” จัดเต็มสิทธิพิเศษ หนุนเศรษฐกิจปี 2568

AIS ขานรับมาตรการ “Easy E-Receipt 2.0” จัดเต็มสิทธิพิเศษ หนุนเศรษฐกิจปี 2568

3 ราศี มีโอกาสเข้ามาหลายเรื่อง ทั้งเงินและงาน

3 ราศี มีโอกาสเข้ามาหลายเรื่อง ทั้งเงินและงาน

ข่าวล่าสุด

heading-ข่าวล่าสุด