หลักการใช้น้ำอย่างประหยัด คือ การลดระยะเวลาการขังน้ำในนาให้เหลือน้อยที่สุดและไม่มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต และให้ผลผลิตข้าว ถ้าขาดน้ำในช่วงที่ข้าวมีควาวต้องการน้ำวิกฤต ผลผลิตข้าวจะได้รับผลกระทบมาก ในการจัดการการผลิตข้าวนาปรังที่ถูกต้องเหมาะสม ควรคำนึงถึงความสัมพันธ์ในการเจริญเติบโตของข้าวแต่ละพันธุ์กับความต้องการน้ำ และปริมาณน้ำที่มีอยู่ในระบบ ระยะการเจริญเติบโตที่ข้าวขาดน้ำแล้วจะมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผลผลิต
คือ ระยะข้าวตั้งตัว ระยะข้าวสร้างรวงอ่อน และระยะออกดอก ควรให้น้ำในระดับที่ดินมีความชุ่มชื่นหรือดินอิ่มตัวไปด้วยน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงข้าวออกดอกต้องมีน้ำอย่างพอเพียงอย่างน้อย จนถึงระยะ 15 วันหลังออกดอก มิฉะนั้นแล้ว เมล็ดข้าวจะฝ่อลีบ เนื่องจากการผสมเกสรไม่ติด จะกระทบต่อผลผลิตข้าวอย่างรุนแรง
ข้อปฏิบัติในการใช้น้ำอย่างประหยัดในนาข้าว
1. พื้นที่ที่มีน้ำพอเพียงตลอดฤดูปลูก ควรให้น้ำแบบขังต่อเนื่องตลอดฤดูปลูก มีระดับความลึก 3-5 ชม. ในระยะแรก และรักษาระดับน้ำ 8-10 ซม. ในระยะข้าวเริ่มสร้างรวงอ่อนถึงเมล็ดข้าวสะสมน้ำหนักแห้งเต็มเมล็ด
2. พื้นที่ที่มีน้ำแต่มีน้อย ควรให้น้ำในระดับดินพออิ่มตัว หรือให้น้ำหมุนเวียนสลับน้ำขังกับน้ำแห้ง ซึ่งจะสามารถลดปริมาณการใช้น้ำได้มาก การเจริญเติบโตของข้าวเป็นไปตามปกติ ผลผลิตลดลงบ้าง ขึ้นอยู่กับการจัดการการผลิต เนื่องจากการให้น้ำแบบนี้จะมีปัญหา วัชพืชค่อนข้างรุนแรง แต่ส่งเสริมให้ดินอยู่ในสภาพมีอากาศ (สภาพ Oxidation) ลดการสะสมแก้สพิษในดินที่เกิดจากการย่อยสลายฟางข้าวในสภาพไม่มีอากาศ ดั่งเช่นดินนาทั่วไปในภาคกลางที่มีการเตรียมดินค่อนข้างหยาบ รีบเร่ง และมีปริมาณฟางเหลือทิ้งจากการเก็บเกี่ยวค่อนข้างมาก
3. พื้นที่ที่มีการขาดน้ำรุนแรงในระยะแรก ควรให้น้ำแต่น้อยที่สุด ไม่ให้ข้าวตาย ในระยะข้าวที่เริ่มสร้างรวงอ่อน ให้น้ำในลักษณะดินชุ่มชื้น แต่ผลผลิตข้าวจะลดลงมาก เนื่องจากวัชพืชและการสูญหายของปุ๋ย
ข้อมูลจาก : สำนักงานวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
สนับสนุนโดย : ปุ๋ยมงกุฎ