ใช้รถต้องรู้! 6 พฤติกรรมเสี่ยงที่คนขี่มอเตอร์ไซค์ที่ควรเลิกทำ ถ้ารักชีวิต
“อุบัติเหตุบนท้องถนน” ถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของคนไทย โดยเฉพาะ “รถจักรยานยนต์” ซึ่งองค์การอนามัยโลก
WHO เคยจัดอันดับให้ไทยเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตจากการจราจรเป็นอันดับที่ 9 ของโลก และเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน เมื่อปี 2018 เนื่องจากมีผู้เสียชีวิตบนท้องถนนเฉลี่ยร้อยละ 32.7
สาเหตุสำคัญ 3 ประการ คือ การฝ่าฝืนกฎจราจร ,ความเร็วเกินที่กฎหมายกำหนด, ไม่สวมหมวกนิรภัย เป็นต้น
6 พฤติกรรมเสี่ยงจากการขี่มอเตอร์ไซค์ที่ควรเลี่ยง เพื่อลดความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุให้น้อยที่สุด จะมีอะไรบ้างไปดูกันเลย
1. ไม่สวมหมวกกันน็อก
หากเกิดอุบัติเหตุกับรถจักรยานยนต์จะมีโอกาสบาดเจ็บทางศีรษะถึง 65% ผู้ขับขี่มีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิต 92.8% และคนซ้อนท้ายมีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงถึง 96.8% เลยทีเดียว
2. ถือโทรศัพท์ ขี่มือเดียว
การขี่มอเตอร์ไซค์ด้วยมือข้างเดียวพร้อมกับการใช้โทรศัพท์ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากถึง 20 เท่า เนื่องจากผู้ขับขี่ขาดสมาธิ หากเกิดเหตุฉุกเฉินจะไม่สามารถควบคุมรถได้
3. ขี่มอเตอร์ไซค์ย้อนศร
เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชนได้ง่าย อีกทั้งยังมีโอกาสชนประสานงา ซึ่งจะทำให้ผู้ขี่มอเตอร์ไซค์มีโอกาสได้รับบาดเจ็บสาหัส หรือกระทั่งเสียชีวิตได้ อีกทั้งหากเกิดอุบัติเหตุขณะขี่ย้อนศร จะมีโทษทางอาญา จำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับสูงสุด 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
4. แซงระยะกระชั้นชิด
การแซงในระยะกระชั้นชิดจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดการเฉี่ยวชน อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ยิ่งถ้าหากเป็นการเฉี่ยวชนกับรถเก๋ง โอกาสได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการที่รถล้มจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ทางที่ดีควรเว้นระยะอย่างเหมาะสม ไม่หักเข้าซ้ายอย่างกระชั้นชิดและเร็วเกินไปจนมีลักษณะคล้ายกับการปาดหน้า
5. จี้ท้ายรถใหญ่
การขี่มอเตอร์ไซค์จี้ท้ายรถใหญ่จะทำให้มองไม่เห็นสถานการณ์ข้างหน้า หากมีการเบรกกะทันหันจะทำให้ระยะเบรกไม่เพียงพอ ควรรักษาระยะทางจากรถคันหน้าอย่างน้อย 80-100 เมตร เพื่อให้ผู้ใช้มอเตอร์ไซค์สามารถตัดสินใจหักหลบหรือเบรกได้ทัน
6. ออกจากซอยไม่ดูรถ ตัดหน้ารถทางตรง
การขี่รถจักรยานยนต์ออกจากซอยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมองรถที่วิ่งมาบนทางหลัก ควรหยุดรถให้จอดสนิท พร้อมกับมองซ้ายและขวาให้มั่นใจว่าปลอดภัย จึงค่อยเคลื่อนตัวเข้าทางหลัก
ซึ่งรู้แบบนี้เเล้ว ทางเราจึงขอแนะนำว่าควรเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้ เพื่อหลีกเลี่ยงและลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุเพื่อตัวคุณเองและผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนครับ