วันออกพรรษา วันนี้ทีมข่าว “ไทยนิวส์ออนไลน์” จะพาชาวพุทธมาทำความรู้จัก ประเพณีไทย ให้เข้าใจกันมากขึ้นเพื่อสืบสานประเพณี วันสำคัญทางพุทธศาสนา ให้คงอยู่สืบไป วันออกพรรษา 2565 ตรงกับวันที่เท่าไหร่ วันออกพรรษาตรงกับวันไหน วันออกพรรษามีความสำคัญอย่างไรบ้าง พร้อมประวัติวันออกพรรษา
“วันออกพรรษา” หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วันมหาปวารณา เป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธแบบไทย-ลาว โดยเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลาจำพรรษา 3 เดือนของพระสงฆ์เถรวาท โดยเป็นวันที่พระสงฆ์จะทำสังฆกรรม คือ การปวารณาในวันนี้ วันออกพรรษา (ออกปุริมพรรษา1) จะตรงกับ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 (ประมาณเดือนตุลาคม) หลังวันเข้าพรรษา 3 เดือน ตามปฏิทินจันทรคติไทย
การปวารณา หมายถึง ถือเป็นข้อปฏิบัติตามพระวินัยสำหรับพระภิกษุโดยเฉพาะ เรียกว่า เป็นญัตติกรรมวาจา (สังฆกรรม) ประเภทหนึ่ง ให้โอกาสแก่พระสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ร่วมกันตลอดไตรมาส (3 เดือน) สามารถว่ากล่าวตักเตือนและชี้ข้อบกพร่องแก่กันและกันได้โดยเสมอภาค เป็นวันที่พระพรรษาน้อยกว่าสามารถตักเตือนพระที่มีพรรษามากกว่าได้ ด้วยจิตที่ปรารถนาดีซึ่งกันและกัน เพื่อให้พระสงฆ์ที่ถูกตักเตือนมีโอกาสรับรู้ข้อบกพร่องของตนและนำข้อบกพร่องมาแก้ไขปรุงตัวให้ดียิ่งขึ้น
ในขณะเดียวกันถ้าเป็นเรื่องเข้าใจผิด ก็จะได้ชี้แจงแก้ไข หรือปรับความเข้าใจกัน เพราะสิ่งที่เห็น ที่ได้ยิน ที่สงสัย อาจมีเรื่องราวซ่อนอยู่ หรืออาจจะไม่ได้เป็นอย่างที่เข้าใจ รวมถึงเปิดโอกาสให้ขอโทษ ที่รู้ตัวว่าสร้างเดือดร้อนให้แก่หมู่คณะ และขออภัยที่เข้าใจผิด และเปิดโอกาสให้ซักถามข้อสงสัยซึ่งกันและกันได้ เพื่อปรับความเข้าใจกัน
ความเป็นมา วันออกพรรษา
วันออกพรรษา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เป็นวันที่ครบกำหนดทางพระวินัยที่พระภิกษุอธิษฐานอยู่จำพรรษาประจำที่ตลอดฤดูฝน 3 เดือน (โดยกำหนดท้ายฤดูฝน 1 เดือน เป็นฤดูแสวงหาผ้าของพระภิกษุ) กล่าวคือ เมื่อพระภิกษุได้อธิษฐานอยู่จำพรรษา ณ ที่ใดที่หนึ่ง ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 (หรือเดือน 9 กรณีเข้าพรรษาหลัง) แล้วอยู่ประจำที่นั้นจนสิ้นสุดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 (หรือเดือน 12 กรณีเข้าพรรษาหลัง)
ความเป็นมา วันออกพรรษา ในประเทศไทย
สำหรับในประเทศไทย วันออกพรรษาเป็นประเพณีสืบเนื่องมานาน นับตั้งแต่พระพุทธศสนาได้เข้ามาประดิษฐานในดินแดนนี้ เพราะการออกพรรษาเป็นข้อกำหนดที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์กระทำ ดังนั้นเมื่อถึงวันออกพรรษา พระภิกษุสงฆ์จะทำปวารณาแทนการสวดพระปาติโมกข์ ส่วนคฤหัสถ์ จะทำบุญเป็นกรณีพิเศษ และยังมีการทำบุญเนื่องในวัน “เทโวโรหณะ” หรือเรียกว่า “ตักบาตรเทโว” ตรงกับวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 เป็นกิจกรรมพิเศษต่อเนื่องจากวันออกพรรษา
ความสำคัญ วันออกพรรษา
วันออกพรรษา มีความสำคัญตามพระวินัยตรงที่พระภิกษุที่อยู่จำพรรษาครบไตรมาสจะได้โอกาสจาริกไปสอนธรรมในสถานที่ต่างๆ ในด้านสังคมให้ชาวพุทธได้หลักในการดำเนินชีวิตที่สำคัญ ดังนี้
1. สังคมสงฆ์มีการดำรงชีวิตเรียบง่าย มักน้อย ใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างประหยัด แต่เกิดประโยชน์สูงสุด เปิดโอกาสให้มีการว่ากล่าวตักเตือนกันได้ เป็นการอยู่ด้วยระเบียบและวินัยที่บังคับตนเองเพื่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่ส่วนรวม จึงเป็นแบบอย่างที่ดีของผู้ครองเรือน
2. เกิดประเพณีตักบาตรเทโวในประเทศไทย หลังจากตรัสรู้แล้ว ในพรรษาที่ 7 พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษาในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อทรงแสดงพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดาพร้อมทั้งเทวดาทั้งหลาย เมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดการอยู่จำพรรษา
วันออกพรรษา แนวทางการปฏิบัติสำหรับพุทธศาสนิกชน
1. การว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกัน การเปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือนกัน เพื่อความบริสุทธิ์ของตน
2. ให้ทาน การถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุ สามเณรในช่วงเช้าหรือเพล บริจาคทรัพย์ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้ยากไร้และบำเพ็ญสาธารณประโยชน์
3. รักษาศีล สำรวมระวังกาย วาจา ด้วยการรักษาศีล 5 หรือ ศีล 8 พร้อมทั้งบำเพ็ญเบญจธรรมสนับสนุน
4. เจริญภาวนา บำเพ็ญจิตภาวนาด้วยการไหว้พระสวดมนต์และปฏิบัติสมาธิและวิปัสสนาตามแนวสติปัฎฐาน 4