ในละครพรหมลิขิต ในตอนที่ 15 มีฉากหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากแฟนๆเป็นอย่างมาก ซึ่งเป็นฉากสุดหวาน "พ่อริด" พระเอกของเรื่องลงมือทำขนมหวานให้กับ "พุดตาน" นางเอกของเราเพื่อเกี้ยวสาว โดยพ่อริดได้โชว์เสน่ห์ปลายจวักอย่างสุดฝีมือ รังสรรค์ขนมหวานน่าอร่อยเพื่อมัดใจพุดตานเรียกว่า ขนมสี่ถ้วย
ซึ่งขนมหวานในตอนนี้เรียกว่า "ขนมสี่ถ้วย" (ขนม 4 ถ้วย) หรือ "ประเพณี 4 ถ้วย" ซึ่งเป็นขนมหวานมงคลที่มีมาตั้งแต่โบราณ เป็นขนมไทยเมนูแรกๆที่ถูกจารึกเอาไว้ และในวันนี้เราจะพาไปรู้จักกับ "ขนมสี่ถ้วย" ขนมมงคลสื่อรักกัน
สำหรับขนมสี่ถ้วย เป็นขนมโบราณ ขนมมงคลที่มีไว้ในงานแต่งงานเพื่ออวยพรให้บ่าวสาวรักกันหวานชื่น มีองค์ประกอบ 4 อย่าง คือ เม็ดแมงลัก ลอดช่อง ข้าวตอก ข้าวเหนียวดำ นำมาใส่ถ้วยแล้วราดด้วยน้ำกะทิเคี่ยวน้ำตาล เติมเกลือตัดรสชาติให้กลมกล่อม
โดยขนมสี่ถ้วยนี้เชื่อว่าเป็นเหมือนคำอวยพรให้กับบ่าวสาวรักกันยืนยาว มีลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง รักมั่นคงไม่นอกลู่นอกทาง เข้าตามตรอกออกตามประตู และมีข้อมูลด้วยว่าในสมัยก่อนหากพูดกันว่าไปกินสี่ถ้วย ก็จะรู้กันว่ากำลังจะไปงานแต่งงาน
สำหรับวัฒนธรรมนี้มีข้อมูลเก่าเชื่อว่าเป็นความเชื่อในการแต่งงานของคนในแผ่นดินพระร่วงเดิม ต่อมาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ถึงกรุงรัตนโกสินทร์ก็ยังปรากฏการกินขนมเช่นนี้อยู่แต่หลงเหลือเพียงแค่การกินเพื่อความอร่อย และลดความสำคัญเรื่องประเพณีไป
ส่วนประกอบ "ขนมสี่ถ้วย" พร้อมความหมายสุดหวาน
- ไข่กบ คือ เม็ดแมงลัก หรือ สาคู หมายถึง ความรักที่เหนียวแน่นเหมือนกับไข่กบที่จับกันเป็นแพ ให้มีลูกเต็มบ้านมีหลานเต็มเมือง
- นกปล่อย คือ ลอดช่อง ความหมายมงคลคือให้ความรักของบ่าวสาวราบรื่น ไร้อุปสรรคใดๆ
- นางลอย คือ ข้าวตอก ความหมายคือให้ความรักของบ่าวสาวเบ่งบานส่งเสริมกันและกัน อยู่ในกรอบประเพณีที่ดีงาม เข้าตามตรอก ออกตามประตู เหมือนเวลาคั่วข้าวตอกในครอบ ไม่กระเด็นออกไปที่ไหน ไม่หันเหไปนอกทาง
- อ้ายตื้อ คือ ข้าวเหนียวดำ ความหมายคือให้บ่าวสาวรักกันเหนียวแน่น ปรองดอง ซื่อสัตย์กันเหมือนข้าวเหนียวดำที่จับกันเป็นก้อน
4 อย่างนี้รวมในถ้วยเดียว ราดด้วยน้ำกะทิเคี่ยวน้ำตาลหอมหวาน ที่ใส่เกลือเล็กน้อยให้รสกลมกล่อม กินรวมกันอร่อยหวานล้ำโดยไม่ต้องมีคำพูดใดๆ
ขอบคุณข้อมูล museumthailand , silpa-mag.com