กรณีมีการแชร์โพสต์ให้ความรู้โพสต์หนึ่งที่ฮือฮากันสุดๆว่า "ห้ามกินวิตามินซีพร้อมกุ้ง จะทำให้ตายเฉียบพลันจากสารหนู" จนสร้างความแตกตื่นตกใจอย่างมากในโลกออนไลน์ ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและได้ชี้แจงข้อมูลไว้ชัดเจน ดังนี้
ตามที่มีการแชร์ข้อความเกี่ยวกับเรื่องกินวิตามินซีพร้อมกุ้ง ทำให้ตายเฉียบพลันจากสารหนู ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
จากกรณีข้อความที่มีการให้คำแนะนำว่า ห้ามกินกุ้งระหว่างที่กินวิตามินซี เพราะจะทำให้เกิดปฏิกิริยาเคมีที่ทำให้ตายเฉียบพลันจากพิษของสารหนูได้ ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า ไม่เป็นความจริง จากการตรวจสอบไม่พบรายงานหรือข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ระบุถึงปฏิกิริยาเคมีระหว่างกุ้งกับวิตามินซี ซึ่งในกุ้งมีสารประกอบอาร์เซนิกอยู่ แต่พบในรูปแบบอินทรีย์ ซึ่งไม่เป็นพิษต่อร่างกายคน และพบในปริมาณที่น้อยมาก ๆ จนไม่เกิดพิษ
โดยหากรับประทานเข้าไปจะถูกกรดจากในกระเพาะทำลาย ส่วนวิตามินซีนั้น ไม่มีข้อมูลว่า สามารถเปลี่ยนแปลงไปเป็นสารหนูได้ จึงสามารถกินกุ้งร่วมกับวิตามินซีได้อย่างปกติ และปลอดภัย แต่ควรเลือกซื้อวัตถุดิบจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ และล้างทำความสะอาดวัตถุดิบให้ถูกวิธี เพื่อป้องกันอันตรายจากสารที่ตกค้างจากวัตถุดิบได้
ทั้งนี้ สารหนู (อาร์เซนิก Arsenic Acid) เป็นธาตุโลหะหนักชนิดหนึ่งที่พบได้ตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นดิน หรือน้ำจึงมีโอกาสที่จะปนเปื้อนเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร โดยอาการพิษที่เกิดจากสารหนูนั้น แบ่งออกเป็นอาการพิษเฉียบพลัน เช่น คลื่นไส้ อาเจียน แน่นหน้าอก ปวดท้องรุนแรง หมดสติ และถึงแก่ความตาย ส่วนอาการพิษเรื้อรัง เช่น เกิดอาการเลือดคั่งในหัวใจ ตับ ไต และลำไส้ เซลล์ผิวหนังตายด้าน เส้นเลือดฝอยขยายตัว มะเร็งผิวหนัง
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th หรือ โทร. 1556
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : จากการตรวจสอบไม่พบรายงานหรือข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ระบุถึงปฏิกิริยาเคมีระหว่างกุ้งกับวิตามินซีว่า สามารถเปลี่ยนแปลงไปเป็นสารหนูได้
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข