เคยสงสัยกันไหมว่าเมนูหน้าตาคล้ายกัน รสชาติคล้ายกัน กรรมวิธีก็คล้ายกันแต่ทำไมเรียกกันคนละชื่อ อย่างเช่นเมนูโจ๊ก กับ ข้าวต้ม เป็นข้าวต้มในซุปเหมือนกันแต่ทำไมต้องเรียกกันคนละชื่อ วันนี้ทางสายกินมีคำตอบมาให้
จริงๆแล้ว 2 เมนูนี้ถึงจะเป็นข้าวที่นำไปต้มเหมือนกันแต่มีรายละเอียดกรรมวิธีการทำรวมถึงเครื่องเคียงที่แตกต่างกันนะ แล้วจะแยกอย่างไร มีวิธีง่ายๆถ้ารู้แล้วคุณจะไม่สับสนอีกต่อไป
ข้าวต้ม กับ โจ๊ก ต่างกันอย่างไร?
มาเริ่มกันที่ โจ๊ก เมนูนี้นับว่าเป็นอาหารของชาวเอเชียอย่างแท้จริง แต่ละประเทศก็มีโจ๊กเป็นของตัวเองที่แตกต่างกันไป การทำโจ๊กจะใช้ข้าวที่ไม่เต็มเม็ด หรือบางร้านจะปั่นหรือตำข้าวสารให้แหลกเล็กน้อยก่อนนำไปต้มจนเละข้น
ลักษณะของโจ๊ก ข้าวจะเป็นเนื้อเดียวกับซุป มักใส่เครื่องเคียงต่างๆเช่น หมูสับ ไข่ลวก หรือเครื่องใน
ส่วนข้าวต้ม เมนูนี้ก็มีประวัติยาวนานไม่แพ้กันเลย ข้าวต้มของไทยเราได้รับวัฒนธรรมการกินมาจากประเทศจีน
ข้าวต้มแตกต่างกับโจ๊กตรงที่ใช้ข้าวเต็มเม็ด ต้มแบบไม่เละ ข้าวกับซุปแยกกันอย่างชัดเจน เวลาเสิร์ฟข้าวยังเป็นเม็ดอยู่ มีทั้งแบบทรงเครื่อง ข้าวต้มกุ้ง ข้าวต้มหมู ข้าวต้มทะเล และอีกแบบคือข้าวต้มขาวกับน้ำกินกับกับข้าวหรือที่รู้จักกันในชื่อ "ข้าวต้มกุ๊ย"
และนี่ก็คือความแตกต่างกันระหว่างข้าวต้มกับโจ๊ก เป็นไงกันบ้างพอรู้แล้วก็เข้าใจกระจ่างเลยใช่ไหม เพราะฉะนั้นใครชอบแบบไหนก็เลือกกินได้ตามใจชอบเลย