"ขนมอาเก๊าะ" ขนมพื้นบ้านชาวไทยมุสลิม ของดีจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้

12 กุมภาพันธ์ 2567

รู้จัก "ขนมอาเก๊าะ" หรือ "ขนมอาเกาะ" ขนมหวานสูตรโบราณ ขนมพื้นบ้านของชาวไทยมุสลิม ของดีจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้

เปิดเมนูขนมพื้นบ้านจากสามจังหวัดชายแดนใต้ กับ "ขนมอาเก๊าะ" หรือ "ขนมอาเกาะ" ขนมโบราณพื้นบ้านของชาวไทยมุสลิมในพื้นที่ชายแดนใต้ 3 จังหวัด ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส สัมผัสนุ่มๆรสชาติหวานละมุนกลมกล่อม หากินไม่ได้ทั่วไป

 

ขนมอาเก๊าะ ขนมพื้นบ้านชาวไทยมุสลิม ของดีจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้

ขนมอาเก๊าะ ขนมพื้นบ้านชาวไทยมุสลิม ของดีจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้

 

สำหรับขนมอาเก๊าะ หรือ ขนมอาเกาะ เป็นขนมพื้นบ้านของชาวไทยมุสลิมในภาคใต้ ส่งต่อกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย ขนมอาเก๊าะปรุงจากแป้ง ไข่เป็ด น้ำตาลและกะทิ

เนื้อขนมคล้ายขนมหม้อแกงหรือสังขยา มีรูปร่างคล้ายขนมไข่ เพราะจะใช้การหยอดแป้งลงในพิมพ์ขนมเหมือนกัน แต่พิมพ์ของขนมอาเก๊าะจะมีขนาดใหญ่กว่า และทำให้สุกด้วยการผิงไฟบนล่าง นิยมรับประทานในเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นช่วงถือศีลอดของชาวมุสลิม

ชื่อของขนมอาเก๊าะ ตามคำบอกเล่าตั้งแต่สมัยก่อนเชื่อว่า เพี้ยนมาจากคำว่า อาเก๊ะ ที่แปลว่า "ยกขึ้น" หมายถึงกรรมวิธีการผลิตของอาเก๊าะที่ต้องยกไฟที่วางอังไว้ข้างบนลงมาทุกครั้งเมื่อขนมสุก

ขนมอาเก๊าะ ขนมพื้นบ้านชาวไทยมุสลิม ของดีจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้

 

ปกติจะหาซื้อได้ทั่วไปในช่วงเดือนรอมฎอนหรือช่วงถือศีลอดของพี่น้องชาวไทยมุสลิม ร้านขนมอาเก๊าะที่โด่งดังมากๆอยู่ที่ บ้านบาโง ชุมชนยะกัง ต.บางนาค อ.เมือง จ.นราธิวาส ขายดีขนาดที่ต้องสั่งจองกันข้ามวันเลยทีเดียว

นอกจากนี้ขนมอาเก๊าะ ยังถูกประกาศให้เป็นเมนูเชิดชูอาหารถิ่นของจังหวัดนราธิวาสด้วย จากโครงการส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่น สู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย (Thailand Best Local Food) "รสชาติ… ที่หายไป The Lost Taste" ประจำปี พ.ศ. 2566

 

ขนมอาเก๊าะ ขนมพื้นบ้านชาวไทยมุสลิม ของดีจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้

 

โดยนายโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ลงชื่อในประกาศกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ณ วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา เรื่องผลการคัดเลือกกิจกรรม "1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น" โดยเมนูจากจังหวัดนราธิวาสของประเทศไทยก็คือ "ขนมอาเก๊าะ" นี่เอง