รวมชื่ออาหารต่างประเทศ แต่พอไปประเทศนั้นแล้วไม่มีขายอย่างเช่น ลอดช่องสิงคโปร์ กล้วยแขก ขนมโตเกียว ขนมจีน คนประเทศเขาเองยังไม่รู้จัก มีขายแค่ที่ไทย แล้วชื่อนี้ได้มาจากไหน วันนี้เรารวบรวมคำตอบมาให้แล้ว ไปดูกัน
ลอดช่องสิงคโปร์ : ชื่อดั้งเดิมของลอดช่องคือ “เชนดอล” เป็นขนมพื้นบ้านที่นิยมกันในแถบเอเชียอาคเนย์อยู่แล้ว ส่วนคำว่า “ลอดช่อง” ก็พอเข้าใจได้แบบไทยๆ ว่าเป็นขนมที่ใช้แป้งลอดช่องของกะลาหรือหม้อเจาะรูออกมา แต่ “ลอดช่องสิงคโปร์”
ไม่ได้ผลิตที่สิงคโปร์หรือลอดออกมาจากช่องปากของเจ้าสิงโตทะเลเมอร์ไลออนแต่อย่างใด เพราะที่จริงแล้ว เมื่อเกือบ 60 ปีก่อนได้มีร้านลอดช่องชนิดเส้นกึ่งใสหนึบๆ เหนียวๆ ร้านแรกในไทย เกิดขึ้นที่หน้า “โรงภาพยนตร์สิงคโปร์” หรือ “โรงหนังเฉลิมบุรี”บนถนนเยาวราชนี่เอง ใครไปใครมาก็มักเรียกติดปากว่า “ลอดช่อง(โรงหนัง)สิงคโปร์” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
กล้วยแขก : ใครมีเพื่อนไปอินเดีย น่าจะเคยกวนโอ๊ยฝากซื้อกล้วยแขกกันมาหลายรายแล้ว เพราะรู้ว่าไม่มีแน่ๆ ใช่มั้ยล่ะ?
ที่จริงแล้วกล้วยแขกก็พอจะมีเค้าลางเกี่ยวข้องกับอินเดียอยู่บ้างนิดหน่อย เพราะในสมัยก่อนนั้นขนมของไทยยังไม่มีการทอด กล้วยแขกจึงเป็นเมนูของหวานที่ได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียจริงๆ จะต่างกันก็ตรงที่กล้วยทอดของอินเดียจะคลุกกับขมิ้นและเกลือ หรือถ้าเป็นกล้วยทอดสูตรของอินโดนีเซียและมลายูก็จะคลุกกับแป้งสาลี ไข่ น้ำตาล ไม่ใส่งาและมะพร้าวเหมือนบ้านเรา ดังนั้นถ้าอยากกินกล้วยแขกที่หอมมะพร้าวและงา พอกแป้งกรอบๆ อุ่นๆ แล้วล่ะก็ ต้องกล้วยแขกแบบไทยเท่านั้น!
ขนมโตเกียว : ใครเคยกินขนมโตเกียวแล้วถ่ายรูปเช็คอินที่กรุงโตเกียวบ้าง ยกมือขึ้น!
เจ้าขนมที่ดูเป็นลูกครึ่งระหว่างเครปบวกกับโดรายากิ (ขนมโปรดของโดเรม่อน) นี้ ตัวแป้งถูกพัฒนามาจากแป้งแพนเค้ก ส่วนที่มาของชื่อ “ขนมโตเกียว” ที่เล่าขานกันมาก็คือ แต่เดิมมีร้านขนมประเภทนี้เกิดขึ้นร้านแรกที่ห้างไทยไดมารู ราชประสงค์ (ปัจจุบันคือบิ๊กซี ราชดำริ) ใครเกิดทันชื่อนี้ก็รู้เลยว่าอายุ 30 อัพแน่ๆ ซึ่งร้านที่ว่านี้ก็ทำขนมด้วยแป้งที่คล้ายแป้งโดรายากินี่แหละเพียงแต่ไม่ได้ใส่ไส้ถั่วแดงกวนเหมือนของญี่ปุ่น แต่เปลี่ยนเป็นไส้สังขยาและไส้ต่างๆ ตามที่เราคุ้นเคยในปัจจุบัน และแน่นอนว่าเขาได้ตั้งชื่อขนมชนิดนี้ว่า “ขนมโตเกียว” ให้พวกเราเรียกกันตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ขนมจีน : ใครที่เคยโดนอำว่า “ขนมจีนมาจากจีน เพราะจัดเป็นก๋วยเตี๋ยวชนิดหนึ่ง” วันนี้ความจริงปรากฏแล้วว่า “จ้อจี้”
เพราะขนมจีนไม่ได้เกี่ยวอะไรกับประเทศจีน แต่เกี่ยวกับเชื้อสายเขมรและมอญต่างหาก โดยในภาษาเขมรและมอญได้เรียกอาหารเส้นๆ สีขาวนี้ว่า “คะนอมจิน” ซึ่งแปลว่า “แป้งที่จับเป็นก้อนๆ แล้วทำให้สุก” ซึ่งคำว่า “คะนอม” ที่ว่านี้ ก็ได้กร่อนมากลายเป็นคำว่า “ขนม” ที่คนไทยใช้ทั่วไปด้วย เพราะแปลว่า “การนำข้าวมานวดเป็นแป้ง” ซึ่งเป็นวิธีต้นกำเนิดขนมทั้งหลายในบ้านเรานั่นเอง ดังนั้นอย่าไปเผลอสั่งขนมจีนที่ประเทศจีนล่ะ แต่ถ้าไปเที่ยวกัมพูชาล่ะก็… ได้กินแน่นอน