แน่นอนว่าคนเข้าครัวทุกคนต้องรู้กันดีกว่าการซื้อผักผลไม้มาประกอบอาหารนั้นมักมีคำเตือนเรื่องการใช้ยาฆ่าแมลงอยู่ตลอด เพราะฉะนั้นก่อนนำมาทำอาหารรับประทานเราจึงต้องล้างผักผลไม้ให้สะอาดที่สุด แต่แน่ใจไหมว่าที่ทำอยู่นั้นเป็นวิธีที่ถูกต้องหรือได้ผลดีแค่ไหน วันนี้ทางสายกินมีบทความดีๆจาก อย. เรื่องวิธีล้างผักผลไม้ลดสารพิษตกค้างมาฝาก
วิธีล้างผักและผลไม้ เพื่อลดสารพิษตกค้าง
วิธีที่ 1 การล้างน้ำธรรมดา โดยแช่น้ำ 5-20 นาที (เขย่า/ลูบเบาๆ) แล้วล้างผ่านน้ำสะอาดไหลซ้ำอีกครั้งหนึ่งไม่น้อยกว่า 30 วินาที ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับการล้างผักและผลไม้จำนวนน้อย
วิธีที่ 2 แช่ในน้ำผสมน้ำส้มสายชู (น้ำส้มสายชู ประมาณ 200 มล. ต่อนํ้า 2 ลิตร) แช่ให้ท่วมผักและผลไม้นาน 15 นาที ล้างน้ำสะอาด
วิธีที่ 3 แช่ในน้ำผสมโซเดียมไบคาร์บอเนต (เบกกิ้งโซดา) (โซเดียมไบคาร์บอเนต 1 ช้อนชา หรือ 5 กรัม ต่อน้ำ 4 ลิตร ) แช่ให้ท่วมผักและผลไม้นาน 15 นาที ล้างน้ำสะอาด
วิธีที่ 4 แช่ในน้ำผสมเกลือ โดยแช่ในสารละลายโซเดียมคลอไรด์ (เกลือ1 ช้อนโต๊ะหรือ 18 กรัม ต่อน้ำ 2 ลิตร) แช่ให้ท่วมผักและผลไม้นาน 15 นาที
อย่างไรก็ดีการล้างไม่สามารถกำจัดสารพิษตกค้างได้หมด ดังนั้นจึงควรเลือกซื้อผักและผลไม้ที่มีสีสันตามธรรมชาติ ไม่มีคราบขาวของสารเคมี หรือมีกลิ่นที่ผิดปกติ มีรอยกัดแทะของหนอนหรือแมลงอยู่บ้าง และเลือกรับประทานผักและผลไม้ตามฤดูกาล เนื่องจากผักและผลไม้ที่ปลูกได้ตามฤดูกาลจะมีโอกาสเจริญเติบโตได้ดีกว่านอกฤดูกาล ทำให้ลดการปนเปื้อนของสารเคมีและปุ๋ย
นอกจากนี้การปรุงหรือแปรรูปอาหาร เช่น การปอกเปลือก ตากแห้ง การลวกและต้ม ก็สามารถช่วยลดปริมาณสารพิษตกค้างในผักและผลไม้ได้ ซึ่งการปอกเปลือกช่วยลดปริมาณสารพิษตกค้างได้ดีที่สุด กรณีผักและผลไม้ที่ปอกเปลือก ควรล้างทำความสะอาดก่อนบริโภค
ทั้งนี้ อย. ไม่แนะนำให้ล้างผักและผลไม้ด้วยสารละลายน้ำผสมด่างทับทิม (โพแทสเซียมเปอร์แมงกาเนต (Potassium permanganate; KMnO4) เนื่องจากตามกฎหมายยังไม่อนุญาตให้ใช้เป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดหรือฆ่าเชื้อที่ใช้สำหรับอาหาร
กรณีใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดสำหรับผักและผลไม้ ต้องเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ผ่าน อย. โดยสังเกตเลขสารบบอาหาร 13 หลัก ในกรอบเครื่องหมาย อย. และล้างตามข้อแนะนำบนฉลาก หากสงสัยสามารถตรวจสอบเลข อย. ได้ทางเว็บไซต์ oryor.com หรือ Line @FDATHAI
ขอบคุณ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา