พฤติกรรมนอนกรน ส่งผลร้ายต่อร่างกาย กว่าที่คุณคิด การ นอนกรน เกิดจาก ระบบทางเดินหายใจ ส่วนบนตีบแคบ กล่าวคือในขณะที่คนเรา นอนหลับสนิทนั้น กล้ามเนื้อต่างๆ ในช่องปากจะผ่อนคลายและหย่อนลงมาปิดกั้นทางเดินหายใจ ทำให้ลมหายใจไม่สามารถผ่านไปยังหลอดลมและปอดได้อย่างสะดวก ส่งผลให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ และเนื่องจากช่องลมถูกปิดกั้นจนเล็กลงจึงทำให้เกิดเป็นเสียงกรนขึ้น
นอนกรนแค่ไหน เข้าขั้นอันตราย
โดยอาจเป็นการบันทึกเสียงระหว่างการนอนหลับหรือให้บุคคลใกล้ชิดเป็นผู้แจ้งเตือนว่ามีอาการเหล่านี้หรือไม่ คือ กรนเสียงดังมากจนรบกวนการนอนของผู้อื่น กรนสลับกับหยุดหายใจเป็นช่วงๆ กรนแล้วสะดุ้งเฮือกเพื่อหาอากาศหายใจ ส่วนอาการร่วมอื่นๆ ได้แก่ ปัสสาวะกลางคืนบ่อยครั้ง รู้สึกไม่สดชื่นในตอนเช้าและพบว่ามีอาการวิงเวียน ปวดศีรษะ ง่วงมากผิดปกติในเวลากลางวัน ความดันโลหิตสูงขึ้น
หากพบว่ามีอาการดังกล่าว ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทำการวินิจไฉเพื่อรับการตรวจทางห้องปฏิบัติการการนอน โดยด่วน
การตรวจวินิจฉัยการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับสามารถทำได้โดยการตรวจทางห้องปฏิบัติการการนอน ซึ่งผู้เข้ารับการตรวจจำเป็นต้องนอนพักในโรงพยาบาล 1 คืน ทั้งนี้ การตรวจจะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง โดยช่วงแรกจะเป็นการตรวจว่ามีการหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่และมากน้อยเพียงใด และช่วงที่สองเป็นช่วงของการบำบัดรักษาอาการ ซึ่งการตรวจทางห้องปฏิบัติการการนอนนี้จะช่วยให้แพทย์ทราบประเภทการนอนกรนและความรุนแรงของโรคของผู้ป่วยได้ว่าอยู่ในภาวะนอนกรนธรรมดาที่ไม่มีการหยุดหายใจร่วมด้วย (primary snoring) หรือกรนอันตราย (obstructive sleep apnea) ที่มีภาวะหยุดหายใจขาดอากาศขณะนอนหลับร่วมด้วยเพื่อให้การรักษาที่ได้ผลดีกับผู้ป่วยมากที่สุด
การนอนกรนนั้น หากไม่รุนแรงมากนักสามารถรักษาได้ด้วยตัวเองโดยการควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้เกินเกณฑ์ที่กำหนด ออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลฮอลล์ ไม่สูบบุหรี่ และปรับพฤติกรรมการนอนให้เพียงพอและเป็นเวลา แต่หากการนอนกรนเริ่มส่งสัญญาณอันตรายตามอาการที่ได้กล่าวไว้แล้วเบื้องต้น ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อเข้ารับการตรวจรักษาก่อนที่อาการจะรุนแรงและนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่นๆ ที่ยากต่อการเยียวยา
Cr.โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์