เเพทย์เตือน 4 พฤติกรรมชีวิตประจำวันแบบไหน เสี่ยง "มะเร็ง" ได้
โรคมะเร็ง ภัยเงียบที่ฆ่าชีวิตคนทั่วโลกในเเต่ล่ะปี เป็นจำนวนมาก โดยสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทย และมีโอกาสเกิดขึ้นกับคนอายุน้อยเพิ่มมากขึ้นนั้น เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงและสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน จนทำให้เกิดโรคมะเร็งขึ้นมาได้
ซึ่งล่าสุดองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการวิจัยโรคมะเร็ง (IARC) เผย สถิติปี 2561 พบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 18.1 ล้านคนทั่วโลก ส่งผลให้ยอดผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งพุ่งสูงถึง 9.6 ล้านคน ก่อนช่วงสิ้นปี 2561
และสำหรับประเทศไทยของเรามะเร็งยังคงเป็นโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนไทยอันดับ 1 และมีแนวโน้มการเสียชีวิตสูงขึ้นในทุกปี พบ 5 อันดับมะเร็งที่พบบ่อยในคนไทย โดยเพศชายและเพศหญิงที่มีอัตราความเสี่ยงต่างกัน พร้อมเผยพฤติกรรมโปรดในชีวิตประจำวันของหลายคน อาจกำลังทำร้ายร่างกายโดยไม่รู้ตัว แต่เป็นพฤติกรรมที่รักของโรคมะเร็ง แนะ 3 ข้อ เลี่ยง ลด เสริม เพื่อลดความเสี่ยง และห่างไกลมะเร็ง
นายแพทย์ธนุตม์ ก้วยเจริญพานิชก์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลมะเร็งชีวามิตรา โรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางโรคมะเร็งแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระบุว่า ระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลก รวมถึงคนไทยเผชิญกับภาวะวิกฤตครั้งใหญ่ การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้เกิดมาตรการล็อกดาวน์ และก้าวเข้าสู่ยุคนิวนอร์มอล (New normal) เพื่อปรับรูปแบบการใช้ชีวิตให้สอดคล้องกับการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส เช่น เว้นระยะห่างทางสังคม (Social distancing)
ขณะที่กลุ่มคนทำงาน อายุตั้งแต่ 22- 60 ปี ต้องเข้าสู่รูปแบบการทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) แทนการเดินทางไปทำงานที่ออฟฟิศแบบเดิม
กลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา ตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลไปจนถึงระดับมหาวิทยาลัย ต้องเข้าเรียนผ่านในระบบออนไลน์ รวมไปถึงการทำกิจกรรมในกิจวัตรประจำวันผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์แทบทั้งหมด โดยแทบไม่ต้องเคลื่อนที่ออกจากบ้าน
ปัจจัยดังกล่าวส่งผลกระตุ้น หรือเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งจากพฤติกรรมดังต่อไปนี้
พฤติกรรมในชีวิตประจำวันแบบไหน เสี่ยง "มะเร็ง"
เครียด เพราะต้องปรับตัวกับการทำงานรูปแบบใหม่ ต้องเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ อีกทั้งยังไม่สามารถแบ่งเวลาพักผ่อนออกจากการทำงาน หรือการเรียนได้อย่างสมดุล ผนวกกับต้องเผชิญปัญหาเศรษฐกิจ และหลายรายประสบปัญหาตกงาน
พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือ นอนไม่หลับ เป็นระยะเวลานาน ผลพ่วงจากความเครียดสะสมจากการปรับตัวรับนิวนอร์มอล
รับประทานทานอาหารไม่มีประโยชน์ จำพวกอาหารแช่แข็ง อาหารสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยว และพฤติกรรมทานซ้ำ ทานด่วนบ่อย ส่วนมากมักเป็นอาหารประเภทเนื้อสัตว์ที่ปรุงโดยการทอดหรือผัด ที่มักมีไขมันสูงทำให้อ้วนลงพุง ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคมะเร็ง
ไม่ออกกำลังกาย หรือ ขยับร่างกายน้อยในแต่ละวัน เนื่องจากไม่สามารถบริหารจัดการเวลาได้ มักหมดเวลาไปกับการทำงาน ขยับตัวน้อย หรือแทบไม่ได้ขยับตัวเคลื่อนไหวออกนอกบ้าน
อย่างไรก็ดี แม้ปัจจุบันมีโรคอุบัติใหม่เพิ่มขึ้นมากมาย แต่โรคมะเร็งยังคงอยู่ในอันดับต้นๆ ของโรคร้ายที่คร่าชีวิตคนไทยมากสุดในแต่ละปี และคาดมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสาเหตุการเกิดโรคมะเร็ง 70% มาจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ซึ่งสามารถหลีกเลี่ยงได้
ข้อมูลกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบ 5 อันดับโรคมะเร็งที่เป็นปัญหาสำหรับคนไทยจากพฤติกรรม ในผู้ป่วยเพศชาย คือ
1.มะเร็งตับ
2.มะเร็งปอด
3.มะเร็งลำไส้ใหญ่
4.มะเร็งที่ทวารหนัก
5.มะเร็งช่องปาก
ผู้ป่วยเพศหญิง คือ
1.มะเร็งเต้านม
2.มะเร็งลำไส้ใหญ่
3.มะเร็งปากมดลูก
4.มะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์
5.มะเร็งตับ
ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงมะเร็งลุกลามโดยไม่รู้ตัว หรือหากรู้ก่อนก็จะสามารถควบคุมและรักษาให้หายได้ แนะ 3 ข้อ เลี่ยง ลด เสริม เพื่อลดภาวะความเสี่ยงจากมะเร็ง พฤติกรรมที่ทำร้ายร่างกาย แต่เป็นที่รักของมะเร็ง ให้สอดคล้องกับนิวนอร์มอล
เลี่ยง… ขณะที่หลายบริษัทมีมาตรการให้พนักงานทำงานที่บ้าน ส่งผลให้การทำกิจกรรมต่าง ๆ อาจต้องอยู่ในพื้นที่จำกัด ร่วมกับส่วนรวม หรือครอบครัว
หลีกเลี่ยงการสูดดมควันพิษที่มีสารก่อเกิดมะเร็ง อาทิ ควันจากบุหรี่ หรือควันจากธูป ภายในบ้าน หรือบริเวณใกล้เคียง เนื่องจากในยุคที่หลายคนต้องกักตัวอยู่บ้าน กิจกรรมต่าง ๆ อาจอยู่ในพื้นที่จำกัด เช่นการสูบบุหรี่ในบ้าน หรือระเบียงคอนโด เป็นต้น
เลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 และเศรษฐกิจที่คาดเดาไม่ได้ อาจส่งผลให้หลายคนหันหน้าไปพึ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อคลายเครียดเพิ่มขึ้น
หลีกเลี่ยงการขับถ่ายไม่เป็นเวลา หรือท้องผูกบ่อย ๆ จากการทานอาหารที่ไม่สดใหม่ หรืออาหารค้างคืน เกิดจากการทำงานเพลิน ขยับตัวน้อย ทานอาหารที่มีกากใยน้อย
ลด... บริโภคอาหารร้ายที่มะเร็งรัก โดยเฉพาะในช่วงกักตัว ที่หลายบ้านต้องเลือกสั่งอาหารจากแอปพลิเคชันเดลิเวอรี่ อาหารสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง อาหารปรุงซ้ำ
ลดอาหารที่มีส่วนผสมสารไนโตรชามีนในเนื้อสัตว์แปรรูป อาทิ ไส้กรอก แฮม เบคอน กุนเชียง เป็นต้น จากเมนูอาหารที่มาพร้อมโปรโมชั่นผ่านการขายเดลิเวอรี่ กระตุ้นความต้องการผู้บริโภค
ลดอาหารที่มีส่วนผสมสารไฮคาร์บอนจากอาหารที่ไหม้เกรียม และน้ำมันที่ทอดซ้ำกันหลายรอบ
ลดอาหารที่มีส่วนผสมสารอัลฟาทอกชิน ในอาหารแห้งที่อับชื้น เช่น ถั่วป่น พริกป่น หรือกุ้งแห้ง
ลดอาหารที่มีสารเคมีจากอาหารหมักดอง เช่น ผัก และผลไม้ดอง แหนม ปลาร้า
ลดทานอาหารที่ไม่สุก เนื่องจากเป็นแหล่งสะสมพยาธิก่อให้เกิดมะเร็ง อาทิ ลาบเลือด ปลาน้ำจืดดิบ หรือผักสดที่ล้างไม่สะอาด
เสริม... ป้องกัน ห่างไกล สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ไม่อาจคาดเดาได้ ดังนั้นการเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกายในยุคนิวนอร์มอลจึงเป็นเรื่องที่ควรใส่ใจเพิ่มขึ้น
รับประทานผักและผลไม้อย่างน้อย 5 สี ต่อวัน มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระจากวิตามิน เกลือแร่ และสารพฤกษเคมีหลายชนิด
เสริมการทานข้าวแป้งและธัญพืชที่ไม่ขัดสี เนื่องจากมีกากใยช่วยในการขับถ่าย สารอนุมูลอิสระ และสารพฤกษเคมีหลายชนิด
เสริมการปรุงแต่งรสชาติอาหารด้วยใช้เครื่องเทศ แทนการใช้ผงปรุงรสในปริมาณที่มากเกิน
เสริมการเคลื่อนไหวร่างกาย หรือการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
เสริมการผ่อนคลายร่างกายและสมองจากงาน เพื่อลดภาวะความเครียดที่พบเจอแต่ละวัน ด้วยกิจกรรมที่ชื่นชอบ อาทิ ดูหนัง ฟังเพลง หรือเล่นเกม เป็นต้น
เสริมการนอนพักผ่อนเป็นเวลา เพียงพอ และเหมาะกับร่างกายแต่ละช่วงวัย
ตรวจสุขภาพเป็นประจำ
หากสามารถนำแนวทาง เลี่ยง ลด เสริม ไปปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันได้ จนส่งเสริมให้เกิดพื้นฐานการดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ ด้วยการเลือกรับประทานอาหารหลากหลายครบ 5 หมู่ ถูกตามหลักโภชนาการ หลีกเลี่ยงการดื่มสุราและการสูบบุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และรักษาจิตใจ ไม่เครียด ถือเป็นยาวิเศษที่ดีที่สุดในทุกช่วงเวลาของชีวิต ไม่ว่ารูปแบบการใช้ชีวิตของสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร