อาการแพ้ยา หนึ่งอันตรายของการใช้ยาที่เกิดจากปฏิกิริยาต่อต้านตัวยาของร่างกาย โดยอาการแพ้ยาสามารถเกิดขึ้นกับยาได้ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นยากิน ยาฉีด ยาทา หรือยาดม ซึ่งส่วนใหญ่แล้วอาการแพ้ยาจะขึ้นอยู่กับระบบภูมิคุ้มกันของแต่ละคนไป หากผู้ป่วยมีระบบภูมิคุ้มกันที่ไวต่อยามากกว่าปกติก็อาจจะทำให้เกิดอาการแพ้ได้
ทว่าอาการแพ้ยาก็คล้ายกับการแพ้อาหารทั่วไปที่จะไม่เกิดขึ้นกับทุกคน และผู้ที่มีอาการแพ้ยาแต่ละคนก็อาจจะมีความรุนแรงของอาการไม่เท่ากันอีกด้วย ทั้งนี้ยาที่มักจะพบการแพ้บ่อยก็ได้แก่ ยาต้านจุลชีพ หรือยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวดลดไข้ ยาชา เซรุ่มต่าง ๆ น้ำเกลือ และเลือด เป็นต้น ซึ่งจะว่าไปอาการแพ้ยาก็ถือเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ และโดยปกติแล้วเมื่อไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลก็มักจะมีการซักประวัติเรื่องการแพ้ยาด้วย ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างมากที่ผู้ป่วยจะต้องรู้ว่าตัวเองแพ้ยาอะไร เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา
สาเหตุการแพ้ยา
1. เกิดจากฤทธิ์ของยาที่มีความรุนแรงเกินไป
การแพ้ยาด้วยสาเหตุนี้ ส่วนใหญ่จะเกิดจากปริมาณของยาที่ใช้ โดยอาการนี้อาจจะมาพร้อมกับอาการข้างเคียง อาทิ ยารักษาโรคความดันโลหิต ที่ใช้ในการลดความดันโลหิตของผู้ป่วย ถ้าหากใช้ยาในปริมาณที่สูงเกินไปก็จะทำให้ความดันเลือดต่ำผิดปกติ และทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น หน้ามืด ใจสั่น เป็นต้น ทว่าอาการแพ้ยาดังกล่าวอาจไม่ได้เกิดจากการใช้ยาเกินขนาดเท่านั้น แต่อาจจะเกิดจากผู้ป่วยบางรายมีการสะสมของยาชนิดนั้นในปริมาณที่สูง อันเนื่องมาจากการทำงานที่ผิดปกติของตับไตที่ไม่สามารถขับสารพิษออกมาจากร่างกายได้ดีเท่าที่ควร
2. เกิดจากการแพ้ยา
อาการแพ้ยาที่เกิดจากสาเหตุนี้เป็นการแพ้ยาที่เกิดขึ้นกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายโดยตรง ซึ่งอาการแพ้ยาประเภทนี้จะสามารถแบ่งได้อีก
- การแพ้ยาที่ทำให้เกิดอาการร้ายแรง
การแพ้ยาชนิดนี้จะทำให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาทำปฏิกิริยาและหลั่งสารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ขึ้นมา โดยอาการแพ้ดังกล่าวมักจะพบได้ในยากลุ่มเพนิซิลลิน ซึ่งถ้าหากไม่รีบทำการรักษาอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้
- การแพ้ยาที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในร่างกาย
ยาที่ทำให้เกิดอาการแพ้ชนิดนี้คือยาในกลุ่มลดความดันโลหิตจำพวก methyldopa โดยยาจะเข้าไปกระตุ้นภูมิต้านทานร่างกายให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แล้วทำลายเนื้อเยื่อของร่างกายโดยตรง บางครั้งก็อาจจะไปทำลายเม็ดเลือดขาวทำให้ร่างกายขาดภูมิต้านทาน ส่งผลทำให้เกิดการติดเชื้อตามมา
อาการแพ้ยาเป็นอย่างไร ?
อาการของการแพ้ยาโดยปกติแล้วจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม เรียงตามความรุนแรงของอาการแพ้ยา โดยสามารถแบ่งอาการบ่งชี้ได้ ดังนี้
1. กลุ่มที่มีอาการแพ้ไม่รุนแรง
ในกลุ่มที่มีอาการแพ้ยาในระดับนี้มักจะไม่อันตรายมากนัก โดยจะสังเกตอาการแพ้ได้จากอาการลมพิษ ผื่นแดง มีจุดแดงหรือตุ่มน้ำใส ๆ ขึ้นทั่วตัว ทั้งนี้ยังอาจมีอาการบวมตามอวัยวะต่าง ๆ อาทิ หนังตาบวม ริมฝีปากบวม ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วอาการแพ้ยาดังกล่าวจะเกิดขึ้นจากยาชนิดรับประทานมากกว่า
2. กลุ่มที่มีอาการแพ้ความรุนแรงปานกลาง
อาการแพ้ที่มีความรุนแรงปานกลางที่พบได้บ่อยที่สุดคืออาการใจสั่น แน่นหน้าอก คลื่นไส้ อาเจียน ทั้งนี้ยังอาจจะมีอาการหายใจติดขัดคล้ายกับอาการหืดหอบอีกด้วย โดยมักจะมีต้นเหตุจากการใช้ยาประเภทฉีด
3. กลุ่มที่มีอาการแพ้ความรุนแรงสูง
อาการแพ้ยาในกลุ่มนี้มีความอันตรายมาก โดยเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าอาการช็อกจากการแพ้ (Anaphylactic Shock) ซึ่งจะทำให้ผู้แพ้ยาเป็นลม ตัวเย็น ชีพจรเบาและเร็ว ความดันต่ำ และหยุดหายใจ นอกจากนี้ยังอาจพบลักษณะพุพอง ผิวหนังเปื่อยทั้งตัวคล้ายถูกไฟลวก ปากเปื่อย ตาอักเสบ ท่อปัสสาวะอักเสบ มีไข้ โดยอาการเหล่านี้เรียกว่า กลุ่มอาการสตีเวนจอห์นสัน (Stevens Johnson Syndrome) ขณะที่บางรายที่มีอาการรุนแรงมาก ๆ อาจจะถึงกับเสียชีวิตในขณะที่รับยาได้เช่นกัน ซึ่งยาที่ทำให้เกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงนี้จะเป็นยาปฏิชีวนะชนิดฉีดประเภทเพนิซิลลิน