โรคหลงตัวเอง
โดยผู้ป่วยโรคนี้จะมีลักษณะยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ต้องการการยกยอชื่นชม และขาดความเห็นใจผู้อื่น มักหมกมุ่นอยู่กับการโอ้อวดตัวตนของตัวเอง เช่น ความสำเร็จ รูปร่างหน้าตา หรือฐานะทางการเงิน เชื่อว่าตัวเองนั้นเหนือกว่าผู้อื่น
อาการของโรคหลงตัวเอง
- มักยึดตัวเองเป็นสำคัญมากเกินไป เช่น หวังว่าผู้อื่นจะเห็นว่าตัวเองพิเศษหรือเหนือกว่าในด้านต่าง ๆ
- มักหมกหมุ่นกับการคิดถึงความสำเร็จ อำนาจ ความร่ำรวย ความงาม หรือความรักในอุดมคติของตัวเอง
- เชื่อว่าตัวเองเป็นคนพิเศษ และบุคคลที่มีความพิเศษหรือสถานะทางสังคมที่สูงเทียบเท่ากันเท่านั้นถึงจะเข้าใจตน
- ต้องการความสนใจ การยอมรับ และความชื่นชมจากผู้อื่น
- คิดว่าสมควรได้รับอภิสิทธิ์ต่าง ๆ อย่างไม่มีเหตุผล
- แสวงหาประโยชน์จากผู้อื่น เพื่อให้ตนเองบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ
- ขาดความเห็นใจและนึกถึงผู้อื่น
- มักริษยาผู้อื่น หรือเชื่อว่าคนรอบข้างอิจฉาตนเอง
- มีความคิดหรือพฤติกรรมที่เย่อหยิ่ง จองหอง
สาเหตุของโรคหลงตัวเอง
โรคหลงตัวเองยังไม่ปรากฏสาเหตุอย่างชัดเจน โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้ค่อนข้างซับซ้อนเช่นเดียวกับปัญหาสุขภาพจิตอื่น ๆ โรคหลงตัวเองอาจมีปัจจัยทางพันธุกรรม สภาพแวดล้อม และการเลี้ยงดู ซึ่งนำไปสู่ภาวะดังกล่าวเป็นสำคัญ พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกตามใจมากเกินไปหรือละเลยการเอาใจใส่ลูก อาจทำให้เด็กเกิดความคิดและพฤติกรรมที่นำไปสู่โรคหลงตัวเองได้ รวมทั้งอาจเกิดความผิดปกติของสมองที่เกี่ยวเนื่องกับความคิดและพฤติกรรมดังกล่าว
การรักษาโรคหลงตัวเอง
จิตบำบัด วิธีนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยสร้างสัมพันธ์อันดีกับผู้คนรอบข้าง เข้าใจสาเหตุที่ทำให้เกิดความคิดและพฤติกรรมของโรคหลงตัวเอง เช่น สาเหตุที่ทำให้อยากแข่งขัน ไม่เชื่อใจผู้อื่น หรือดูถูกผู้อื่น การทำจิตบำบัดต้องใช้เวลาหลายปี เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพของคนเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก
การรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์ ผู้ป่วยโรคหลงตัวเองที่มีอาการรุนแรง โดยเกิดอาการหรือพฤติกรรมอื่นที่นอกเหนือไปจากอาการป่วยโรคหลงตัวเอง จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลและดูแลจากแพทย์อย่างใกล้ชิด เช่น มีอารมณ์เกรี้ยวกราด ทำร้ายตัวเอง หลงผิดไปจากความเป็นจริง ซึมเศร้า หรือวิตกกังวลเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม