ประโยชน์ของกล้วยดิบ
กล้วยดิบบรรเทาอาการแสบท้องจากโรคกระเพาะหรือกรดไหลย้อน
ในกล้วยดิบมีสารแทนนินในปริมาณสูงกว่ากล้วยสุก โดยสารชนิดนี้มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย และป้องกันผนังลำไส้ถูกทำลายจากเชื้อโรคหรือเอนไซม์ที่มีรสเผ็ดร้อน เช่น เอนไซม์จากพริก พร้อมกับช่วยสมานแผล จึงช่วยรักษาแผลในหลอดอาหารและกระเพาะอาหารที่เกิดจากโรคกระเพาะหรือกรดไหลย้อน ทำให้อาการแสบท้องลดลง
วิธีรับประทานกล้วยดิบเพื่อรักษาแผลในกระเพาะอาหารก็คือ ให้ฝานกล้วยน้ำว้าดิบหรือกล้วยหักมุกดิบเป็นแว่น ๆ แล้วนำไปตากแห้ง 2 วัน จากนั้นบดเป็นผง นำมาชงกับน้ำอุ่น ดื่มก่อนอาหาร 30 นาที วันละ 2 ครั้ง
ประโยชน์ของกล้วยห่าม
กล้วยห่ามช่วยรักษาอาการท้องเสีย
กล้วยห่ามจะมีเปลือกเป็นสีเขียวอมเหลือง รสชาติฝาดปนหวานเล็กน้อย มีสารแทนนินอยู่เช่นกัน คนที่มีอาการท้องเสียที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ แต่เกิดจากธาตุในร่างกายไม่สมดุล เช่น รับประทานอาหารเผ็ดจัด สามารถรับประทานกล้วยดิบหรือกล้วยห่ามครั้งละครึ่งผล - 1 ผล เพื่อบรรเทาอาการท้องเดินได้ เพราะสารแทนนินมีสรรพคุณช่วยลดการหดเกร็งและลดการเคลื่อนไหวของลำไส้
อีกวิธีหนึ่งก็คือ ฝานกล้วยเป็นแว่นบาง ๆ นำไปตากแดดให้แห้ง แล้วบดเป็นผง รับประทานครั้งละ 10 กรัม โดยผสมกับน้ำร้อนหรือน้ำอุ่น 120-200 มิลลิลิตร ดื่มวันละ 3 ครั้ง หรือเมื่อมีอาการท้องเสีย
ประโยชน์ของกล้วยสุก
กล้วยสุกช่วยแก้ท้องผูก
กล้วยสุกอุดมไปด้วยใยอาหารชนิดละลายน้ำที่เรียกว่า "เพกทิน" ในปริมาณสูง จึงมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน ๆ ช่วยให้ขับถ่ายคล่องขึ้น ดังนั้น คนที่มีอาการท้องผูกบ่อย ๆ สามารถรับประทานกล้วยสุกในตอนเช้า หรือตอนท้องว่างก่อนอาหาร 30 นาที ครั้งละ 1-2 ผล โดยเคี้ยวให้ละเอียดที่สุดแล้วดื่มน้ำตามมาก ๆ เพื่อกระตุ้นการทำงานของระบบขับถ่ายให้เป็นปกติ อย่างไรก็ตาม เพกทินจะค่อย ๆ สลายตัวเมื่อกล้วยสุกจนเกินไป ทำให้กล้วยมีสภาพนิ่ม ดังนั้น ให้เลือกกินกล้วยที่สุกพอดี ๆ ยังไม่งอม