อาการของโรค
เมื่อเชื้อไวรัส FHV ลอยมาติด และแพร่เชื้อสู่แมวจะทำให้เยื่อบุตา จมูก และหลอดลมอักเสบ มีเสมหะ มีไข้ ไอจาม มีน้ำมูก และหายใจลำบากกว่าปกติ แถมยังดูเซื่องซึม เบื่ออาหารอีกด้วย
แต่ถ้าสาเหตุของโรคหวัดแมว มาจากเชื้อไวรัส FCV อาการจะรุนแรงยิ่งกว่า โดยจะมีแผลหลุมบนลิ้น มีแผลในช่องปาก ช่องปากอักเสบ จนทำให้แมวเจ็บปวด แทบจะกินอาหารไม่ได้ ร่างกายก็จะทรุดลงทันที บางครั้งอาจรุนแรงจนถึงขั้นปอดติดเชื้อ เยื่อหุ้มปอดอักเสบ ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตได้เลย
การติดต่อ
เกิดจากแมวที่ติดเชื้อ จะแพร่เชื้อผ่านทางสิ่งคัดหลั่งจากตา จมูก และปาก การแพร่กระจายของเชื้อเกิดได้จากการสัมผัสสิ่งคัดหลั่งของแมวที่ป่วยโดยตรง ซึ่งมักจะเป็นทางหลักในการติดต่อของโรค ส่วนการหายใจเอาเชื้อไวรัสจากสิ่งคัดหลั่ง หรือละอองหายใจเข้าไป ก็สามารถพบได้ โรคหวัดแมวพบได้บ่อยในบริเวณที่มีการเลี้ยงแมวจำนวนมาก หรืออยู่กันอย่างหนาแน่น ในกรณีที่แมวป่วย และหายจากโรคแล้วนั้น ยังสามารถเป็นพาหะนำโรคได้ต่อไป
วิธีการป้องกันและดูแลรักษา
โรคหวัดแมว สามารถป้องกันได้โดยทำการฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคไข้หวัดแมว และหัดแมวเป็นประจำทุกปี เพื่อลดความรุนแรง และระยะเวลาแสดงอาการของโรค
แมวที่ป่วยเป็นโรคหวัดแมว แม้จะหายดีแล้ว แต่ก็ยังเป็นพาหะของโรคได้ ดังนั้นในระยะแรกจึงควรเลี้ยงแยกกับแมวตัวอื่น ๆ ก่อน