1. โรคฉี่หนู
โรคฉี่หนู หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เลปโตสไปโรซิส (Leptospirosis) เป็นโรคที่เกิดจากแบคทีเรียกลุ่ม เลปโตสไปรา อินเทอโรแกนส ( Leptospira Interrogans) ส่วนใหญ่มักจะติดเชื้อจากการสัมผัสกับน้ำ ดิน โคลน หรือฉี่ของสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค เมื่อเชื้อชนิดนี้เข้าสู่ร่างกายทางผิวหนัง ก็จะกระจายตัวไปตามอวัยวะต่าง ๆ ผ่านทางเส้นเลือด ซึ่งกลุ่มสัตว์ที่มีความเสี่ยงที่เป็นโรคฉี่หนูมากที่สุดคือ สัตว์ที่มีอายุน้อยและหมา-แมวที่เลี้ยงนอกบ้าน แต่ทั้งนี้สามารถป้องกันได้โดยการไม่ให้สัตว์เลี้ยงเข้าไปเล่นหรือกินน้ำจากบริเวณที่มีน้ำขัง พร้อมทั้งหมั่นดูแลที่นอนและของใช้ของสัตว์เลี้ยงให้สะอาดอยู่เสมอ
2. โรคพยาธิหนอนหัวใจ
ในช่วงหน้าฝนและเป็นฤดูที่มียุงชุมชุม เพราะ "ยุง" เป็นพาหะของโรคชนิดนี้ จากการที่ยุงไปกัดสัตว์ที่มีตัวอ่อนของพยาธิแล้วมากัดสัตว์เลี้ยงของเรา เมื่อพยาธิเข้าสู่ร่างกายก็จะไปเกาะอยู่ตรงบริเวณหัวใจและเส้นเลือด โดยมีอาการที่สามารถสังเกตเห็นได้ก็คือ ไอแห้ง ๆ, เป็นลม, เหนื่อยง่าย มีน้ำสะสมในช่องท้อง ทำให้ท้องขยายใหญ่ หรือที่เรียกว่า ท้องมาน ทั้งนี้สามารถป้องกันได้โดยการฉีดยา ให้ยากิน และใช้ยาหยอดหลัง
3. โรคระบบทางเดินหายใจ
สำหรับกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจที่พบบ่อย ได้แก่ ไข้หวัด และหลอดลมอักเสบ ซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย โดยเกิดขึ้นได้กับสัตว์เลี้ยงทุกช่วงอายุ แต่ส่วนใหญ่มักจะพบในสัตว์เลี้ยงที่มีอายุน้อยมากกว่าช่วงโตเต็มวัย เนื่องจากภูมิคุ้มกันยังพัฒนาไม่เต็มที่ ส่วนสาเหตุก็เกิดจากการสัมผัสกับสัตว์ที่ป่วยหรือเชื้อโรคที่แฝงอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ และสัตว์ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรค
4. โรคผิวหนัง
โรคผิวหนังของสัตว์เลี้ยงมีด้วยกัน 2 กลุ่มคือ โรคผิวหนังที่เกิดจากปรสิตกับไร และโรคผิวหนังที่เกิดเชื้อรา ซึ่งเป็นกลุ่มที่ควรระวังเป็นเป็นพิเศษ โดยส่วนมากจะเกิดกับสัตว์เลี้ยงที่มีอายุน้อยและสัตว์เลี้ยงที่มีอายุมาก เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ซึ่งบริเวณที่ติดเชื้อราจะมีขนร่วงเป็นวงและมีอาการคันร่วมด้วย โดยมากมักจะพบที่ใบหูด้านใน ง่ามนิ้ว รอบจมูก และรอบดวงตา
5. โรคพยาธิเม็ดเลือด
โรคพยาธิในเม็ดเลือด เกิดจากเชื้อโปรโตซัวและริคเก็ตเซีย โดยมีเห็บเป็นพาหะนำโรค สัตว์เลี้ยงที่ติดเชื้อจะสังเกตอาการได้ยาก และการแสดงอาการก็ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อโรคที่ได้รับเข้าไป ทั้งนี้สามารถป้องกันและลดความเสี่ยงของโรคได้ โดยการกำจัดเห็บออกจากที่พักอาศัย ไม่ให้สัตว์เลี้ยงออกไปคลุกคลีกับสัตว์จรจัด และพาไปตรวจสุขภาพอย่างเสมอ เพื่อเฝ้าระวังโรคและขอคำแนะนำการดูแลที่ถูกวิธี
6. เชื้อบิดทางเดินอาหาร
โรคที่เกิดจากโปรโตชัวที่ชื่อว่า ไกอาเดียว (Giardia) ติดต่อโดยผ่านการสัมผัสอุจจาระ อาหาร หรือแหล่งน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ โดยจะเข้าไปทำลายผนังและรบกวนการทำงานของเอนไซส์ต่าง ๆ และทำให้มีอาการท้องเสีย อุจจาระมีเมือกหรือเลือดปน อาเจียน เป็นต้น สามารถป้องกันได้โดยหมั่นทำความสะอาดของใช้ต่าง ๆ รวมถึงบริเวณที่สัตว์เลี้ยงขับถ่ายเป็นประจำ