เต่าปูลู "Big-headed Turtle "
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Platysternon megacephalum มีรูปร่างที่แปลกไปจากเต่าชนิดอื่น ๆ กล่าวคือ มีหัวที่โต ปากงุ้มแหลม เล็บที่ทั้ง 4 ข้างแหลมคมมาก มีหางที่ยาวมาก และไม่สามารถหดหัวเข้ากระดองที่เรียวยาวได้ เป็นเต่าที่พบในลำธารน้ำตกบนภูเขาสูงหรือป่าดิบชื้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตอนบนที่ติดกับตอนใต้ของประเทศจีน
เต่าปูลูเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 การล่า การครอบครอง การค้า มีความผิดตามกฎหมาย มีโทษทั้งจำและปรับ
เต่าปูลูเป็นเต่าใกล้สูญพันธุ์ในระดับโลก จากข้อมูล IUCN Red List จัดอยู่ในสถานะ Critrically Endangered ซึ่งมีประชากรลดลงกว่า 90% ในช่วง 90 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากถิ่นที่อยู่อาศัยถูกทำลาย แหล่งน้ำที่สะอาดถูกทำลาย ซึ่งเต่าปูลูจะต้องใช้ถิ่นที่อยู่อาศัยที่จำเพาะ ไม่มีสารเคมีเจือปนในแหล่งน้ำ มีความอุดมสมบูรณ์สูง
ปัจจุบันกิจกรรมของมนุษย์หลายอย่างได้ทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยและล่าเต่าปูลู เช่น การใช้สารเคมีทำการเกษตรและปล่อยลงสู่แหล่งน้ำ การทำฝายกั้นทางน้ำทำให้เกิดการทับถมของตะกอน การพบเห็นเต่าปูลูในพื้นที่ จึงเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ
ในประเทศไทยพบเต่าปูลูเฉพาะในพื้นที่อนุรักษ์บางแห่งเท่านั้น แม้ว่าในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าวังโป่ง - ชนแดน (Wangpong-Chondaen Non - Hunting Area) จะพบเต่าปูลูหลายครั้ง แต่ก็ตื่นเต้นทุกครั้งเมื่อได้พบเห็นเต่าชนิดนี้ตัวเป็นๆ ซึ่งครั้งนี้เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 66 ได้รับรายงานจากการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ SMART Patrol ว่าพบลูกเต่าปูลูที่ระดับความสูง 800 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง จึงได้จับนำมาตรวจสอบ วัดขนาด พบว่าเป็นลูกเต่าปูลูเพศเมีย ขนาดยาว 14 ซม. (ปลายหัว - ปลายหาง) จากนั้นได้นำไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติที่ห่างไกลจากชุมชน
จึงชี้ให้เห็นว่าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าวังโป่ง - ชนแดน เป็นแหล่งทรัพยากร แหล่งที่อยู่อาศัยอย่างปลอดภัยของสัตว์ป่า เป็นแหล่งทำรังวางไข่ขยายพันธุ์ของเต่าปูลู อีกทั้งยังเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของชาวจังหวัดเพชรบูรณ์
เต่าปูลู เป็นเต่าขนาดเล็ก หนักประมาณครึ่งกิโลกรัม กระดองเล็กแบน หัวโตหดเข้ากระดองไม่ได้ ปากคมแข็งแรงคล้ายปากนกแก้ว ขาใหญ่หดเข้ากระดองไม่ได้เช่นกัน ปลายเท้ามีเล็บสามารถปีนขึ้นขอนไม้หรือก้อนหินได้ หางยาวได้มากกว่ากระดอง มีเดือยแหลมอยู่ระหว่างขาและก้นข้างละอัน กระดองสีน้ำตาลเข้ม เมื่ออายุน้อยส่วนหัวมีสีออกส้ม เมื่อโตขึ้นหัวค่อยเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแก่ สามารถปีนต้นไม้สูงได้ดีมาก ตอนกลางวันจะปีนต้นไม้เพื่อผึ่งแดด แต่จะออกหากินในเวลากลางคืนเป็นเต่าที่มีนิสัยดุ ถ้าจับกระดองเต่าอาจยืดคอแว้งกัดเอาได้ ฉะนั้น การจับเต่าชนิดนี้ให้จับที่โคนหางยกขึ้น เต่าปูลูชอบอาศัยอยู่ตามลำธาร ตามภูเขา ชอบน้ำใสเย็นที่ไหลอยู่เสมอ อาหารของเต่าปูลู คือ กุ้ง หอย ปู ปลา กบ เขียด และใส้เดือน
และปัจจุบัน เป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากถูกคุกคามถิ่นที่อยู่อาศัยและถูกจับเป็นสัตว์เลี้ยงและปรุงยาสมุนไพรด้วยเชื่อว่าเป็นยาที่ใช้บำรุงสมรรถนะทางเพศ โดยชาวจีนจะรับซื้อในราคาที่แพง นอกจากนี้แล้วยังมีการให้กัดกันเพื่อเป็นเกมการพนันอีกด้วย
ในประเทศไทย นอกจากที่จังหวัดลำปางแล้ว เต่าปูลูยังพบได้ที่ จังหวัดอุตรดิตถ์ ที่อุทยานแห่งชาติคลองตรอน อำเภอน้ำปาด, จังหวัดพิษณุโลก พบที่อำเภอนครไทย, จังหวัดน่าน พบที่ป่าห้วยหลวง ตำบลเรือง อำเภอเมืองน่าน, อุทยานแห่งชาติขุนน่าน และ อุทยานแห่งชาตินันทบุรี รวมถึงอีกหลายที่ในจังหวัดภาคเหนือ
ในปัจจุบันมีโครงการอนุรักษ์เต่าปูลูอยู่ที่ หมู่บ้านนาตอง ตำบลช่อแฮ จังหวัดแพร่ และ อุทยานแห่งชาติภูสวนทราย อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย
สำหรับการนำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงนั้น เต่าปูลูมักไม่ค่อยรอด เนื่องจากเป็นเต่าที่อาศัยอยู่ในน้ำที่มีสภาพเป็นลำธารน้ำตกเท่านั้น อีกทั้งยังปีนป่ายเก่ง มีอุปนิสัยดุ จะฉกงับทุกอย่าง จึงทำให้เป็นเต่าที่เลี้ยงยากมาก
.
ขอบคุณภาพและเนื้อหาเพิ่มเติม : เขตห้ามล่าสัตว์ป่าวังโป่ง-ชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 (พิษณุโลก)และ wikipedia