เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธุ์ 2567 ข่าวดีจากโครงการ "การฟื้นฟูประชากรพญาแร้งในถิ่นอาศัยของประเทศไทย" หลังจาก "ป๊อก" พญาแร้งตัวผู้จากสวนสัตว์โคราช และ "มิ่ง" พญาแร้งตัวเมียจากสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ให้กำเนิดลูกพญาแร้งตัวแรก โดยทั้งสองได้เริ่มมีพฤติกรรมขึ้นผสมพันธุ์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2566 จนในที่สุดมิ่งวางไข่ใบแรกที่เกิดในป่าห้วยขาแข้งได้สำเร็จ และเป็นลูกพญาแร้งตัวแรกในถิ่นอาศัยเดิม
ล่าสุด ภาพจากกล้องวงจรปิดได้จับภาพขณะลูกน้อยได้กะเทาะเปลือกไข่ออกมาลืมตาดูโลกเป็นครั้งแรกแล้ว ณ หน่วยพิทักษ์ป่าซับฟ้าผ่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ถือเป็นความสำเร็จของประเทศไทย ที่มีลูกพญาแร้งตัวแรกในถิ่นอาศัยเดิม หลังสูญพันธุ์ไปจากป่าธรรมชาตินานกว่า 30 ปี นับเป็นอีกหนึ่งก้าวที่สำคัญของโครงการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งฯ ที่มุ่งมั่นและพยายามกันมาอย่างหนัก
สำหรับ "พญาแร้ง" เป็นสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติของผืนป่าไทยกว่า 3 ทศวรรษ จนเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้มีโครงการ "การฟื้นฟูพญาแร้งในถิ่นอาศัยเดิมของประเทศไทย" ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย กรมอุทยานแห่งชาติฯ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มีระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2563-30 ก.ย.2568 โดยได้เคลื่อนย้ายพญาแร้งจากสวนสัตว์โคราชมาเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา