3 พฤษภาคมของทุกปีเป็น "วันเสือดาวสากล"

03 พฤษภาคม 2567

วันเสือดาวสากล ตรงกับวันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปี ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นการตระหนักถึงความสำคัญของเสือดาวต่อระบบนิเวศผืนป่า ซึ่งปัจจุบันเสือดาวมีสถานภาพเป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ไม่ต่างจากสัตว์ชนิดอื่น

เสือดาวมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Panthera pardus ซึ่งเป็นคำเดียวกับชื่อวิทยาศาสตร์ของ “เสือดำ” เพราะทั้งเสือดาวและเสือดำเป็นเสือชนิดเดียวกัน มีขนาดรูปร่างเหมือนกัน ต่างกันเพียงสีผิวกายภายนอกเท่านั้น โดยในประเทศไทยมีรายงานการกระจายของสัตว์ป่าในวงศ์เสือและแมวจำนวน 9 ชนิด ได้แก่ เสือกระต่าย เสือปลา แมวดาว แมวป่าหัวแบน แมวลายหินอ่อน เสือไฟ เสือลายเมฆ เสือดาว และเสือโคร่ง ซึ่งเสือดาวถือเป็นสัตว์ผู้ล่าที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ในป่าประเทศไทยรองจากเสือโคร่ง

3 พฤษภาคมของทุกปีเป็น "วันเสือดาวสากล"

สถานภาพปัจจุบันของเสือดาว-เสือดำ ถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 และจัดให้อยู่ในบัญชีหมายเลข 1 ของไซเตส คือชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่าที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ ห้ามค้าโดยเด็ดขาด รวมทั้งไอยูซีเอ็น (IUCN) จัดให้ อยู่ในสถานะสัตว์ป่าที่มีความเสี่ยงขั้นอันตรายต่อการสูญพันธุ์ (Vulnerable) จากการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่า ภัยพิบัติจากธรรมชาติ และการล่าอย่างหนักจากมนุษย์

3 พฤษภาคมของทุกปีเป็น "วันเสือดาวสากล"

เพื่อเป็นการตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงสัตว์ป่าที่ตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงอันตรายต่อการสูญพันธุ์ ดังนั้นเราทุกคนต้องช่วยกันอนุรักษ์เสือดาวและสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในผืนป่าด้วยการไม่ทำลายแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งอาหาร ซึ่งจะนำไปสู่การคุกคามชีวิตของสัตว์ป่า เพราะทุกชีวิตในผืนป่าล้วนมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ และต่างทำหน้าที่ของตนเองอย่างสุดกำลัง เพื่อรักษาไว้ซึ่งความสมดุล

3 พฤษภาคมของทุกปีเป็น "วันเสือดาวสากล"

ขอบคุณ : สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า Wildlife Conservation Office, Thailand