ชวนรู้จัก ปลาค้อถ้ำพระวังแดง "ปลาไม่มีตา" พันธุ์ปลาหายากแห่งเดียวในไทย โดย กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เผยแพร่ข้อมูลของ ถ้ำพระวังแดง เป็นถ้ำหินปูนขนาดใหญ่ ที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ตำบลชมพู อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก มีความยาวประมาณ 13.76 กิโลเมตร ซึ่งถือว่ายาวที่สุดในประเทศไทย
ภายในถ้ำมีห้องโถงขนาดใหญ่มีหินงอกหินย้อย ฝาผนังถ้ำมีลักษณะเป็นคราบน้ำไหลสีแดงสวยงามเหมือนงานประติมากรรม และหินบางส่วนกลายเป็นแท่นคล้ายบัลลังก์ และภายในถ้ำมีลำห้วยอยู่ด้านล่าง
ลำห้วยแห่งนี้ มีสิ่งที่น่าสนใจ คือ "พันธุ์ปลาหายาก" คือ ปลาค้อถ้ำพระวังแดง หรือ ปลาไม่มีตา เนื่องจากอาศัยอยู่ในถ้ำเป็นเวลานานจนมีการปรับสภาพให้เหมาะแก่การดำรงชีวิตภายในถ้ำซึ่งไม่มีแสงเพียงพอ เป็นปลาที่ถูกค้นพบเมื่อ ค.ศ. 2003
ปลาค้อถ้ำพระวังแดง (Schistura spiesi) เป็นปลาถิ่นเดียวที่พบเฉพาะในถ้ำพระวังแดง ในอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง มีลักษณะลำตัวค่อนข้างป้อม ยาวประมาณ 15 เซนติเมตร ลำตัวสีชมพูอมเหลือง ครีบมีสีใสสีเหลืองเรื่อ ๆ ตัวผู้มีส่วนหลังโค้งนูน รูจมูกมีติ่งแหลมคล้ายหนวด ตามีขนาดเล็กมากจนเป็นจุดเล็ก ๆ เนื่องจากไม่ได้ใช้งานเพราะอาศัยอยู่ในถ้ำลึกตั้งแต่ 100 เมตรขึ้นไป โดยอาศัยอยู่เป็นกลุ่มเล็ก ๆ 3–10 ตัว ในฤดูผสมพันธุ์ตัวผู้จะต่อสู้กันเพื่อแย่งตัวเมีย
การเข้าไปเที่ยวชมภายในถ้ำต้องติดต่อเจ้าหน้าที่นำทางที่ อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง (หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ ที่ สล.5 วังแดง) เท่านั้น!! เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายหรือพลัดหลง และในช่วงฤดูฝน ทางอุทยาน ฯ จะทำการปิดถ้ำไม่ให้เข้าชม เพราะอาจมีน้ำไหลบ่ารุนแรง ซึ่งเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
ภาพ : อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง - Thung Salaeng Luang National Park
ที่มา : สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 (พิษณุโลก)