เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2566 อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี รับแจ้งจากสื่อ Social Media : Facebook จึงร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จังหวัดตรัง ลงพื้นที่สำรวจการแพร่ระบาดของดาวมงกุฎหนาม บริเวณทิศเหนือ ทิศใต้ และฝั่งด้านทิศตะวันตกของกองหินบิด๊ะ (shark point) โดยผลจากการสำรวจพบว่า บริเวณกองหินบิด๊ะ (Shark Point) เป็นพื้นที่ที่อยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี และพบดาวมงกุฎหนามโดยเฉลี่ยประมาณ 1 ตัวในระยะ 5 เมตร หรือพื้นที่สำรวจไม่เกิน 1 เฮกตาร์(10,000 ตารางเมตร) พบดาวมงกุฎหนาม จำนวน 34 ตัว ซึ่งถือว่าระบาดรุนแรงมาก ทั้งนี้อุทยานแห่งชาติฯ จึงได้ดำเนินการควบคุมประชากรดาวมงกุฎหนามให้มีปริมาณลดลงแล้ว
ข้อมูลดาวมงกุฎหนามจากเว็บไซต์กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวถึง ดาวมงกุฎหนามว่าเป็นศัตรูตัวฉกาจของแนวปะการัง ดาวมงกุฎหนาม หรือ ปลาดาวหนาม เป็นปลาดาวที่ได้รับการกล่าวขวัญมากที่สุด เพราะเป็นตัวการที่ทำให้แนวปะการังหลายแห่งในโลกเสียหาย ดาวมงกุฎหนามจะกินปะการังเป็นอาหาร โดยการปล่อยกระเพาะอาหารออกมาคลุมบนปะการัง และปล่อยน้ำย่อยออกมาย่อยเนื้อเยื่อปะการังแล้วดูดซึมเข้าไปเลย ที่ใดที่ดาวมงกุฏหนามกินแล้วจะเห็นชัดว่าปะการังบริเวณนั้นจะขาว เพราะเนื้อเยื่อถูกกินไปหมดจนเหลือแต่โครงสร้างหินปูน เมื่อปะการังตายจะถูกแรงคลื่น ทำให้หักพังได้ง่าย
การเร่งสำรวจและควบคุมประชากรดาวมงกุฎหนาม จึงช่วยรักษาระบบนิเวศทางทะเลและฟื้นฟูแนวปะการังในบริเวณดังกล่าวได้ต่อไป
ที่มา : อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี
: ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ 3 จ.ตรัง
: ส่วนอุทยานแห่งชาติ สํานักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 นครศรีธรรมราช