เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2566 เวลา 03.00 น. นายบุญฤทธิ์ เดโชไชย หัวหน้าฝ่ายศึกษาวิจัยและกิจกรรมพิเศษ นางสาวศิรินันทร์ พูลแก้ว นักวิชาการป่าไม้ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวน ออกตรวจลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol) เวลาประมาณ 06.20 น.
พบนกหว้า ตัวผู้ 1 ตัว ซึ่งเป็นสัตว์ป่าหายากและใกล้สูญพันธุ์ บริเวณท้องที่หมู่ที่ 5 ตำบลเกตรี อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติทะเลบัน เจ้าหน้าที่จึงได้บันทึกภาพและวีดีโอไว้เป็นข้อมูลหลักฐาน ยืนยันได้ถึงความสมบูรณ์ของพื้นที่ป่าไม้
การกระจายพันธุ์และถิ่นอาศัย
พบในป่าของเกาะบอร์เนียว, เกาะสุมาตรา และ คาบสมุทรมลายูในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยพบทางภาคใต้ตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ลงไปตลอดแหลมมลายู เป็นนกประจำถิ่นซึ่งค่อนข้างหายาก ชอบอาศัยอยู่ตามป่าทึบและป่าลึก ในระดับเชิงเขาจนกระทั่งถึงระดับความสูง 900 เมตรจากระดับน้ำทะเล
พฤติกรรม
นกหว้าเป็นนกขี้อาย ปกติชอบอยู่โดดเดี่ยวนอกจากในฤดูผสมพันธุ์ หากินช่วงเช้าและก่อนค่ำ กินเมล็ดพืช ผลไม้ที่หล่นตามพื้นดิน แมลงและตัวหนอน เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ นกหว้าตัวผู้จะทำลานไว้สำหรับรำแพนขนปีกอวดตัวเมีย เรียกว่า “ ลานนกหว้า” ที่ลานนั้นมันจะรักษาความสะอาดอย่างดี เก็บกิ่งไม้ใบไม้ออกหมดตลอดเวลา หลังจากนั้นตัวผู้ก็จะร้องเรียกตัวเมีย เมื่อพบตัวเมีย ตัวผู้จะรำแพนขนปีกเพื่อดึงดูดใจตัวเมียก่อนผสมพันธุ์ เมื่อพ้นฤดูผสมพันธุ์แล้ว ตัวเมียจะแยกออกไปทำรังออกไข่ ตัวเมียจะสร้างรังหยาบๆ ด้วยกิ่งไม้เล็กบนพื้นดินใต้พุ่มไม้ทึบ ปูพื้นรังด้วยใบไม้ วางไข่เพียง 2 ฟองเท่านั้นโดยห่างกัน 2 วัน ไข่มีสีครีมหรือขาว ระยะฟักไข่ 26 วัน ลูกนกแรกเกิดสามารถลืมตาได้ มีขนอุยปกคลุมทั่วตัวและสามารถเดินตามแม่ไปหาอาหารได้ทันที
ที่มา : อุทยานแห่งชาติทะเลบัน - Thaleban National Park