"งาช้าง" คือ ฟันตัดแถวบนที่งอกออกมาจากปากของช้าง ช้างแอฟริกันจะมีงายื่นออกมาทุกตัว ในขณะที่ช้างเอเชียจะมีเพียงช้างตัวผู้บางตัวเท่านั้นทีมีงายื่นออกมา ประเทศไทยเรียกช้างตัวผู้ที่มีงายาวว่า "ช้างพลาย" และช้างตัวผู้ที่งาไม่ได้ยื่นออกมา เรียกว่า "ช้างสีดอ" ส่วนช้างตัวเมีย เรียกว่า "ช้างพัง"
งาช้างมีองค์ประกอบคล้ายฟันของมนุษย์ โดยโครงสร้างของงาประกอบด้วย ชั้นในสุดเป็นโพรงประสาทงา (Pulp cavity) ซึ่งมีเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เลือดมาหล่อเลี้ยงและเซลล์ต่าง ๆ โพรงประสาทงาเชื่อมต่อกับกะโหลกบริเวณช่องทางเดินหายใจ (Nasal cavity) โดยโพรงประสาทงายาวประมาณ 1 ใน 3 ของความยาวงา ชั้นต่อมาของงาเป็นเนื้องา (Dentine) ซึ่งเป็นองค์ประกอบใหญ่กว่า 95% ของงา หรือเราอาจเรียกว่าเนื้องา มีลักษณะเป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่สะสมแร่ธาตุ แข็งคล้ายกระดูก และชั้นนอกสุด คือ ส่วนเคลือบงา (Cementum) ที่เป็นเนื้อเยื่อสะสมแร่ธาตุชั้นนอกช่วยยึดงาตึดกับกระดูก
งาช้างสามารถงอกยาวได้เรื่อย ๆ ตลอดชีวิตของช้าง จึงทำให้งาช้างสามารถบอกความอาวุโสได้ หากไม่หักออกไปเสียก่อน แต่ส่วนใหญ่งาช้างป่าจะไม่ค่อยยาว เพราะช้างป่ามักจะคอยลับงาอยู่เสมอ โดยแทงงากับต้นไม้ ริมตลิ่ง ลําห้วย และโป่ง บางครั้งงาจึงหักหรือหลุด ซึ่งทำให้เราพบเห็นช้างงาเดียว ช้างงาบิ่น ได้ตามธรรมชาติ ช้างยังสามารถใช้งาในการขุดหาน้ำ หรือขูดต้นไม้เพื่อกินเปลือกไม้ ใช้เปิดเส้นทางด้วยการงัดกิ่งไม้ออก นอกจากนี้ ช้างยังใช้งาป้องกันตัว และต่อสู้กันระหว่างเพศผู้
ที่มา : humanelephantvoices.org