การสำรวจในครั้งนี้มีเรื่องที่น่าตื่นเต้นและน่ายินดี โดยพบนกอ้ายงั่วเข้ามาอาศัยหากินในบึงละหาน รวมฝูงมากกว่า 100 ตัว และพบว่ากำลังฟักไข่ เลี้ยงลูกนับได้มากกว่า 20 รังในบริเวณเดียวกันในแต่ละรังมีลูกนก 1-4 ตัว
นกอ้ายงั่วมักอยู่เป็นกลุ่มตามแหล่งน้ำ เช่น บึง อ่างเก็บน้ำ หรือแหล่งน้ำขนาดใหญ่ และอาจอยู่รวมกับนกชนิดอื่น ว่ายน้ำและดำน้ำได้ดีมาก ชอบเกาะตามกิ่งไม้แห้งใกล้กับแหล่งน้ำที่หากินหรือบริเวณแหล่งอาศัยเพื่อผึ่งแดดหรือไซ้ขนหลังจากว่ายน้ำและดำน้ำหาอาหาร
อาหารได้แก่ปลาชนิดต่าง ๆ จับปลาโดยการใช้ปากที่แหลมและยาวแทงทะลุตัวปลา จากนั้นจะชูหัวและลำคอขึ้นเหนือน้ำ โยนปลาขึ้นไปในอากาศพร้อมกับอ้าปากรับ แล้วกลืนเข้าไปทั้งตัว นกอ้ายงั่วผสมพันธุ์ในช่วงฤดูฝนประมาณเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม ทำรังรวมกันเป็นกลุ่มตามต้นไม้สูง รังเป็นแบบง่าย ๆ ใช้กิ่งไม้วางซ้อนกันตามง่ามไม้ขนาดใหญ่ มีไข่ 3-5 ฟอง และผลัดกันฟักไข่
นกอ้ายงั่ว จัดเป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของแหล่งน้ำ เพราะอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีความอุดมสมบูรณ์ของปลาและสัตว์น้ำ พร้อมทั้งมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมปลอดภัย เป็นนกประจำถิ่นในประเทศไทย พบได้บางพื้นที่ มีสถานะใกล้ถูกคุกคามและเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
ที่มา : สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 (นครราชสีมา)
ข้อมูล : เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงละหาน จังหวัดชัยภูมิ
ภาพถ่าย : นายวิษณุรักษ์ ศรีบัณฑิต Wissanurak Sribandit