เจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol) ชุดลาดตระเวนชุดที่2 (ทุ่งคาโงก) อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ ลาดตระเวนพบ "อึ่งกรายข้างแถบ" หรืออึ่งกรายตาหนาม, กบตาหนาม, กบอ้าก, พบที่ระดับความสูงประมาณ 600-700 เมตร จากระดับน้ำทะเล
อึ่งกรายข้างแถบเป็นอึ่งกรายที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ความยาวจากหัวถึงก้น 11-15 เซนติเมตร รูปร่างอ้วนใหญ่ หน้าอกมีต่อมเป็นตุ่มนูนสีขาว บริเวณโคนขาหน้าข้างละ 1 ต่อม ดูคล้ายหัวนม ดวงตาสีน้ำตาลแดง หนังตามีลักษณะยื่นคล้ายหนามแบนข้างละ 2-3 ติ่ง หัวและหลังด้านข้างสีเหลือง กลางหลังสีน้ำตาล ผิวหนังนูนเป็นตุ่มและมักต่อเนื่องกันเป็นสันยาวสีดำหรือสีน้ำตาลเข้ม สีข้างมีตุ่มนูนสีดำ ขาสีน้ำตาลเทาเข้ม มีลายพาดสีเทาเข้ม ท้อง ใต้คาง และฝ่าตีนสีน้ำตาลเทาเข้ม ตัวไม่เต็มวัยส่วนหลังสีน้ำตาลแดง มีตุ่มนูนและตุ่มยาวสีขาวขอบดำ ใบหน้าตั้งแต่ข้างจมูกถึงมุมปากเป็นแถบสีเทาเข้ม ขาด้านบนสีเทาเข้มมีจุดสีขาว เพศผู้คางสีดำ และตัวเล็กกว่าตัวเมีย ลักษณะใกล้เคียงกับอึ่งกรายพม่า
พบอาศัยทั้งในพื้นที่ราบและบนภูเขา ตั้งแต่ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น ไปจนถึงป่าดิบเขาระดับสูง อึ่งกรายชนิดนี้ มีพฤติกรรมก้าวร้าว หากถูกรุกล้ำถิ่น จะเริ่มจากการร้องขู่ จากนั้นจึงอ้าปากเตรียมกัด แต่หากถูกรบกวน มันจะพองตัวยืดแขนขา ทำท่าโหย่งตัว ให้ดูตัวใหญ่ขึ้น พร้อมอ้าปากกว้าง แผดเสียงคล้ายเสียงลมยางรั่วลากยาวเป็นจังหวะ
อาหารหลัก ได้แก่ แมลงขนาดใหญ่ และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่น ๆ เช่น ปู หรือ แมงป่อง นอกจากนั้น ยังกินจิ้งเหลน กบขนาดเล็ก และสัตว์ฟันแทะขนาดเล็ก ไม่มีรายงานเรื่องการวางไข่และผสมพันธุ์ แต่น่าจะไข่จมและติดกับวัสดุใต้น้ำ เช่น หินกรวดหรือเศษใบไม้ริมลำธาร
แพร่กระจายในประเทศพม่า จีนตอนใต้ และไทย ซึ่งพบทางภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ไล่ลงมาจนถึง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก และตามแนวป่าตะวันตก ที่จังหวัดกำแพงเพชร อุทัยธานี กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ลงไปถึงภาคใต้ที่จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พังงา และกระบี่
ที่มา : อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ Khaolak-Lamru National Park
ข้อมูล: Amphibians of Thailand